ทีวีสาธารณะ…เสียงโวยของคนเก่า…ทาสที่ปล่อยไม่ไป?

(…คำว่าไอทีวีต้องถูกฝังกลบ…ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เพราะนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ทำเรื่อง “ปฏิรูปสื่อ” ให้ครบถ้วนกระบวนความหรือที่เรียกว่าไม่ครบวงจร จึงทำให้เกิดความอลหม่านในความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลงทีไอทีวีเป็น “ทีวีสาธารณะ” ที่เป็นมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น

พอเอ่ยคำว่า “ไม่มีโฆษณา” ภาพของช่อง 11 ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านก็พลันปรากฏขึ้นมาทันที

และพอประกาศว่าทีวีสาธารณะช่องนี้จะไม่มีรายได้จากโฆษณา คนทำรายการทั้งหลายในทีไอทีวี ก็เกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน

จะมีภาพออกมาจากบวกก็คงจะเป็นของผู้บริโภคข่าวที่คิดว่าอย่างไรเสีย คุณภาพของทีวีเมืองไทย ก็คงจะเลวไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ถ้าหากจะเอาภาษีของเราไปทำทีวีที่เป็นอิสระและมีสาระสักหนึ่งช่อง เราก็น่าจะเห็นพ้องด้วยได้

การบิดเบือนก็ได้เกิดขึ้นทันที เพราะคนที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ผูกติดกับไอทีวีและทีไอทีวีนั้น พยายามจะออกมาปกป้องฐานะเดิมของตัวเองกันอย่างน่าเกลียด

ในช่วงข่าวภาคเที่ยงของทีไอทีวีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พิธีกรถามนำผู้จัดการรายการชื่อดังคนหนึ่งว่า

“ถ้าทีไอทีวีโฆษณาไม่ได้ คุณยังจะทำรายการนี้ต่อในช่องนี้หรือเปล่า? พนักงานของคุณมิตกงานกันหมดหรือ?”

ผู้ผลิตนรายการชื่อดังคนนั้นตอบฉับพลันว่า “เมืองไทยไม่ได้รวยเหมือนอังกฤษหรือญี่ปุ่น ฉะนั้น การทำทีวีสาธารณะโดยเอาภาษีประชาชนมาทำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผมมีพนักงาน 50 คน…ถ้ารายการผมโฆษณาไม่ได้ พวกเขาก็ตกงานกันหมดเท่านั้นแหละ”

พิธีกรคนเดิมถามต่อว่า “แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไป?”

ผู้ผลิตรายการคนนั้นตอบว่า “ผมอาจจะต้องไปเที่ยวไล่ถ่ายแย้ข้างถนนมาออกรายการก็ได้…เพราะไม่มีเงินพอที่จะทำรายการดีๆ เพราะสถานีเขาจะมีเงินจ้างพวกผมทำรายการได้หรือเปล่าก็ไม่รู้”

นี่คือตัวอย่างของการบิดเบือนหลักการของทีวีสาธารณะ หรือ public service broadcasting station ที่ได้เป็นประเด็นระดมความเห็นกันมาหลายเดือน โดยเฉพาะหลังจากเกิดกรณีรัฐบาลยึดสัมปทานคลื่นความถี่ไอทีวี กลับคืนมาเพราะบริษัทเอกชนแห่งนั้นทำผิดสัญญา

นี่คือตัวอย่างของการ “ร้องแรกแหกกระเชอ” ของคนข่าวและผู้ผลิตรายการของทีไอทีวี ที่ไร้ความสำนึกเกี่ยวกับการทำทีวีเพื่อประโยชน์สาธารณะ…และเคยชินแต่เพียงกับการเป็นทาสของการทำทีวีที่ต้องเอาอกเอาใจอำนาจรัฐ และแรงกดดันของธุรกิจเท่านั้น

แน่นอนว่าการที่นายกฯ คนนี้ไม่ทำการปฏิรูปสื่อให้ครบวงจรเสียเลยทีเดียว อย่างที่หลายฝ่ายได้เสนอและเรียกร้องมาตลอดนั้น คือจุดอ่อนอันสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อ กับการประกาศให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ

เพราะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วจะทำอะไรกับช่อง 11 และช่อง 9 จะเป็นทีวีเอกชนหรือทีวีกึ่งรัฐ? อีกทั้งทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะได้รับการ “ปฏิรูป” เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายรวมที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงอย่างไร? วิทยุและโทรทัศน์ชุมชนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อการให้ความรู้และความบันเทิงกับชาวบ้านอย่างแท้จริง?

คำถามทั้งหมดนี้ไม่มีคำถามจากรัฐบาลชุดนี้…และเมื่อมติคณะรัฐมนตรีออกมาเพียงแค่ให้ทีไอทีวี กลายเป็นทีวีสาธารณะแต่เพียงเรื่องเดียว ก็ฟังเหมือนเพียงแค่เป็นการ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” สำหรับรัฐบาลเท่านั้น…แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงของวงการนี้แต่อย่างไร

จะอย่างไรก็ตาม คนทำงานทีไอทีวีก็ไม่ควรจะออกมาสร้างข้อเรียกร้องเป็นวาระที่สองอีกแล้วเพราะสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการทำอย่างไรจึงจะใช้คลื่นความถี่ UHF อันเป็นสมบัติสาธารณะนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาจึงไม่ใช่ว่าคนทำงานที่ทีไอทีวีวันนี้เห็นว่าสถานีแห่งนี้ ควรจะเป็นทีวีสาธารณะหรือทีวีเสรีเอกชน…มีหรือไม่มีโฆษณา…

ยิ่งมีคนระดับผู้อำนวยการข่าวของทีไอทีวี ออกมาบอกว่าการจะทำให้เป็นบีบีซีนั้นเป็น “เหมือนเรื่องจินตนาการ” เพราะเมืองไทยจะทำอย่างอังกฤษไม่ได้ก็ยิ่งน่ารังเกียจเพราะถ้ายังจำได้ เพียงแค่สองสามเดือนก่อนตอนที่เกิด “วิกฤติจอจะมืดหรือไม่?” ที่ไอทีวีนั้น คนกลุ่มเดียวกันนี่แหละที่ประกาศอย่างฉาดฉานว่า

ขอให้จออย่ามืด มติจะออกมาให้ไอทีวีเป็นอย่างไรก็พร้อมจะน้อมรับ…(และมีเสียงแสดงความอยากเป็น “บีบีซีเมืองไทย”) กันอย่างเซ็งแซ่ ไปทั่ว มิใช่หรือ?

เมื่อคลื่นความถี่โทรทัศน์เป็นของสาธารณะ ก็ต้องใช้มันเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่เพราะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะต้องหางานใหม่ทำ หรือเพราะผู้ผลิตใดขาดรายได้จากโฆษณา

ใช่ ประเด็นที่จะต้องถกกันอย่างจริงจังก็คือว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ทีวีสาธารณะแห่งแรกนี้เป็นอิสระและได้มาตรฐานของมืออาชีพจริงๆ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 27 เมษายน พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา