“สื่อสาธารณะ”เป็นเช่นไรในประเทศอื่น

หนังสือพิมพ์มติชน

 

การปรับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้เป็นสื่อสาธารณะอาจจะกำลังเป็นที่ถกเถียงในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็ได้ใช้บริการทีวีและวิทยุในฐานะสื่อสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียด้วย

ระหว่างรอยลโฉมทีวีสาธารณะแห่งแรกของไทย เรามีรูปแบบสื่อสาธารณะของประเทศอื่นๆ ดังที่งานวิจัยเรื่อง “สื่อสาธารณะ” ที่ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ค้นคว้าไว้มาให้พิจารณา

เริ่มกันที่สถานีโทรทัศน์บีบีซี (BBC) ของอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสื่อสาธารณะที่มีพัฒนาการยาวนานที่สุด โดยบีบีซีจัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการนำเสนอรายการและบริการที่ให้ข้อมูล การศึกษาและให้ความบันเทิง แต่เดิมการกระจายเสียงดำเนินการโดยบริษัทเอกชน แต่เกิดปัญหาด้านการแทรกแซงความถี่ รัฐบาลอังกฤษก่อตั้ง BBC ด้วยกฎบัตรในพระบรมราชโองการผ่านทางรัฐสภาในปี ค.ศ.1927 กำกับดูแลโดยให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะกรรมการบริการจำนวน 12 คน ที่มาจากสาขาอาชีพที่ต่างกัน ขึ้นทูลเกล้าฯสมเด็จพระราชินีของอังกฤษ เพื่อให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหาร มีอายุการทำงาน 5 ปี

BBC มีช่องรายการที่นำเสนอรายการโทรทัศน์ทุกประเภททั้งสาระและบันเทิง โดยรายการส่วนใหญ่สถานีผลิตเอง สัดส่วนความนิยมตามสถิติมีไม่ถึง 50 การทำงานของ BBC อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการมาตรฐานการกระจายเสียง ซึ่งสามารถตรวจสอบเนื้อหารายการในแง่ต่างๆ และต้องทำรายงานประจำปีเพื่อเสนอรัฐสภา เงินสนับสนุนการดำเนินงานเกือบทั้งหมดมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการรับชม

ต่อด้วย BBC ของสหรัฐ ตั้งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนอเมริกันด้วยรายการคุณภาพ ให้บริการด้านการศึกษาซึ่งให้ข้อมูล สร้างแรงบันดาลใจและความเบิกบานใจ โดย CPB (Corporation for Public Broadcasting) ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ PBS ขึ้นในปี ค.ศ.1969 ด้วยการสนับสนุนของสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์สาธารณะทั่วประเทศมากกว่า 1,000 แห่ง มีรูปแบบการบริหารงานแบบองค์กรเอกชนโดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของมลรัฐต่างๆ และเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบงานด้านต่างๆ

รายการของทางสถานีจะรับซื้อจากผู้ผลิตทั้งแบบประจำและผู้ผลิตอิสระ 71% ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ได้ชมรายการของสถานีโดยใช้เวลามากกว่า 7.5 ชั่วโมงต่อเดือน การตรวจสอบการทำงานใช้วิธีให้สำนักงานผู้ตรวจการ เป็นผู้กำกับดูแลการทำงานของ CPB ในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน เนื้อหารายการ การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ รายรับสถานีมาจากการขายรายการ การสมัครสมาชิก เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และการดำเนินธุรกิจ

สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอรายการที่มีคุณภาพและความถูกต้อง รวมทั้งข้อมูลและข่าวสารที่เป็นกลาง เพื่อยกระดับวัฒนธรรม ความผาสุกและสร้างเสริมประชาธิปไตย โดย SCAP (Supreme Commander for Allied Powers) ได้ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่รัฐใช้ควบคุมสื่อและออกกฎหมายกระจายเสียงในปี ค.ศ.1950 กำหนดให้การกระจายเสียงเป็น Dual System โดยเปลี่ยนโครงสร้าง NHK เป็นบรรษัทสาธารณะ บริหารงานโดย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์และความรู้จากสาขาอาชีพต่างๆ ที่มาจาก 8 ภูมิภาคของประเทศ มีอายุการทำงาน 3 ปี มีกรรมาธิการที่ปรึกษาเกี่ยวกับผู้ชม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ เป็นผู้ตรวจสอบกลไกการทำงาน

NHK ผลิตรายการด้วยตัวเอง ผลวิจัยกล่าวว่าผู้ชมใช้เวลาชม NHK ประมาณ 1 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน รายรับของสถานีมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมรับชมเกือบ 100%

ปิดท้ายด้วย CBC ของแคนาดา ซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1936 ในฐานะบรรษัทของกษัตริย์ (Crown Corporation) เพื่อลดอิทธิพลของวิทยุกระจายเสียงของสหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์ของสถานีมีไว้เพื่อให้บริการโทรทัศน์และวิทยุที่หลากหลาย โดยมุ่งให้ข้อมูล ความรู้และความบันเทิง กำกับดูแลโดย รัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 12 คน ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี

เนื้อหารายการเป็นเรื่องทั่วไปที่อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมถึงดนตรีและวัฒนธรรม โดยจะผลิตรายการเองเป็นส่วนใหญ่ ผู้รับชมรับฟังยังมีไม่ถึง 50% ทั้งนี้ CBC มีความรับผิดชอบต่อชาวแคนาดาทุกคน โดยต้องนำเสนอรายการประจำปีผ่านรัฐสภาและมี The Office of the Ombudsman เพื่อรับข้อร้องเรียนต่างๆ โดยขึ้นตรงกับประธานาธิบดี รายรับเกินครึ่งมาจากรัฐสภา นอกนั้นเป็นรายรับจากโฆษณาและอื่นๆ

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าสื่อสาธารณะในปัจจุบันมีทีท่าจะโน้มเอียงไปทางเชิงพาณิชย์มากขึ้น คือมีการหารายได้จากการโฆษณา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่ากลายเป็นสื่อสาธารณะกลายพันธุ์เข้าไปทุกที

ส่วนสื่อสาธารณะในบ้านเราจะเป็นอย่างไร (หรือจะมีขึ้นจริงหรือไม่) เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันต่อไป

ที่มา : มติชน วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10639 หน้า 24

แท็ก คำค้นหา