โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ(TITV)ได้เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเป็นนัดสุดท้าย ทำให้บรรยากาศในช่วงเปิดให้แสดงความคิดเห็นจากฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนกับฝ่ายธุรกิจโทรทัศน์เห็นต่างกันค่อนข้างมาก
แม้จะมองเห็นความหลากหลาย แต่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากเพราะประชาชนทั้งสองฝ่าย(ภาคเอ็นจีโอกับภาคธุรกิจ)กำลังตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจาก”จิ้งหรีด” ถูกปั่นหัวให้ทะเลาะกัน ท้าทายแสดงพลังเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่ยูเอชเอฟที่ออกอากาศ TITV เพียงช่องเดียว จากการตั้งโจทย์ทำนองให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง”ทีวีเสรีกับทีวีสาธารณะ”ที่น่าจะเป็นประเด็นเล็กมากๆ ในระบบวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐและผูกขาดโดยอำนาจทุนใหญ่ไม่กี่ตระกูล ความเข้มข้นของการรับฟังความคิดเห็นถึงขนาดตัวแทนกลุ่มพัฒนาเอกชนบางคนประกาศทวงถามถึงความชอบธรรมจากการหลั่งเลือดและชีวิตในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จะต้องให้ TITV เป็น”ทีวีสาธารณะ”สถานเดียว ในขณะที่นักจัดรายการธุรกิจโทรทัศน์บางคนกลับ”สุดโต่ง”มองอนาคต TITV ว่าควรจะเป็น”ทีวีภาคธุรกิจ”เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันอย่างเดียวที่หมายถึงผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก โดยละเลยความพยายามในการปรับเปลี่ยน TITV ให้กลับไปสู่เจตนารมณ์เดิมของการเป็น”ทีวีเสรี” แต่แทบไม่มีใครทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ที่เคยแถลงต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ในส่วนของนโยบายการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารว่า “จะส่งเสริมเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อจัดระบบสื่อภาครัฐ สื่อภาคเอกชนและสื่อชุมชนให้เป็น”สื่อสาธารณะ”อย่างแท้จริง” แม้ว่านโยบายรัฐบาลไม่ได้ระบุชัดๆ ว่าจะปฏิรูปสื่อทั้งระบบ เขียนว่า”จัดระบบสื่อ….ให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง” ย่อมมีความหมายไม่แตกต่างกัน แต่ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามนโยบายยังไม่ต่างจากการเดินของ”เต่า”ที่ยังไม่มีใครมั่นใจว่าจะไปถึงจุดหมายได้ทันเวลาตามที่แถลงหรือไม่ ผมยังยืนยันถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการ”ปฏิรูปสื่อทั้งระบบ” เพื่อทำให้เกิด”พื้นที่สาธารณะ”อีกมากมายในช่องฟรีทีวีเดิมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อใหม่ๆ เช่น ทีวีดาวเทียม บรอดแบนด์ทีวี เคเบิลทีวี ฯลฯ ซึ่งจะทำให้”พื้นที่สาธารณะ”ไม่ได้จำกัดช่องเดียวใน TITV ทำไม”ประชาชน”ที่น่าจะหมายรวมถึงทั้งภาคองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคธุรกิจ จะต้องมาทะเลาะเบาะแว้งแก่งแย่งคลื่นความถี่ยูเอชเอฟ 1 คลื่นเพื่อเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง”ทีวีสาธารณะ”หรือ”ทีวีอิสระ” ทั้งๆ ที่ยังมีคลื่นความถี่ยูเอชเอฟเหลืออยู่อีก 3 คลื่นความถี่(ไม่ใช่ 1 คลื่นความถี่อย่างที่เข้าใจเดิม) เพราะรูปแบบ”ทีวีสาธารณะ” กับ”ทีวีอิสระ”ล้วนแต่มี”ข้อดี”แตกต่างกัน แม้ยังมี”จุดอ่อน”ทั้งคู่ที่ควรได้รับการปรับแต่งแก้ไขในขั้นตอนปฏิบัติ |
ข้อเสนอ”ทีวีสาธารณะ”ของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยค่อนข้าง “อุดมคติ” แบบการเกิดขึ้นขององค์กรแพร่ภาพสาธารณะของอังกฤษ BBC ที่มีวิวัฒนาการยาวนานกว่าจะสำเร็จ แต่สภาพแวดล้อมของสังคมไทยยากต่อการขับเคลื่อนในระยะยาวให้ “ไอทีวีสาธารณะ” ยังอยู่ในช่องกระแสหลักหรือ Mainstream ที่มีเรทติ้งคนดูใกล้เคียง เดิมแข่งขันกับฟรีทีวีช่องธุรกิจได้ (อ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของอาจารย์สมเกียรติได้ที่ www.info.tdri.or.th/reports/unpublished/unpublished.htm)
แม้ว่าอาจารย์สมเกียรติจะมั่นใจในแหล่งเงินหล่อเลี้ยง “ทีวีสาธารณะ” จากการกำหนด “ภาษีประเภทใหม่” ที่ไม่ได้ไปรบกวนงบประมาณรัฐอีกประมาณปีละ1,000 ล้านบาทเพื่อไม่ต้องไปอาศัยรายได้จากโฆษณาเพื่อเป็นอิสระจากทุนและอำนาจรัฐ แต่เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในการสร้าง”ช่องทีวี”ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีจิตวิญญาณสาธารณะ ทำไปทำมา “ทีวีสาธารณะ” ของอาจารย์สมเกียรติจะกลายเป็นช่อง 11/2 ที่มีความน่าเบื่อมากกว่าด้วยซ้ำ สุดท้ายจะกลายเป็น”ทีวีทางเลือก”( alternative television) ให้ “พื้นที่สาธารณะ” สำหรับกลุ่มด้อยสิทธิในสังคมที่ไม่มีพลังในการตรวจสอบอำนาจรัฐและทำหน้าที่กระบอกเสียงสาธารณะ ดังเช่นความสำเร็จของไอทีวีในช่วง 3 ปีแรก ส่วนข้อเสนอ “สถานีโทรทัศน์รูปแบบอิสระฉบับประเทศไทย” ของคุณเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยที่จะให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ กำหนดสัดส่วนภาคธุรกิจ 51% และภาคประชาชน 49% ในระบบเอกชนเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกับภาคประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะร่วมกันบริหาร New ITV ที่มีสัดส่วนผังรายการข่าวและสาระอย่างน้อย 70% โดยให้มีการขายโฆษณาเพื่อเลี้ยงตัวเองและแข่งขันทางธุรกิจได้ โดยการกำกับดูแลภายใต้คณะกรรมการ 4 ชุดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางตรง ข้อเสนอ “ทีวีอิสระฉบับประเทศไทย” มีจุดอ่อนคือ “บริษัทพันทาง” แบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง ยากยิ่งกว่าเงื่อนไขเดิมของการประมูลคลื่นไอทีวีเดิมที่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายละไม่เกิน 10% แต่ข้อเสนอใหม่ภาคธุรกิจรายละไม่เกิน 5% รวมกันไม่เกิน 51% เทียบเคียงแล้วเหมือนกันจะต้องประกอบด้วยบริษัท 10 ราย ส่วนภาคประชาชน 49% จะกลายเป็น “นอมินี” ของทุนใหม่อย่างแน่นอน แล้วข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและอยู่บนโลกความเป็นจริงคืออะไร ผมขอลำดับง่ายๆ ประมาณ 10 ข้อเพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นว่าทำไม”ทีวีสาธารณะ”กับ”ทีวีอิสระ”เกิดขึ้นได้พร้อมกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ blog ของผม www.oknation.net/blog/adisak) 1.คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ควรจะเริ่มจากสรุปข้อเสนอว่าประเทศไทยควรจะมีทั้ง”ทีวีสาธารณะ”และ”ทีวีอิสระ”เพื่อให้เกิดพลังถ่วงดุลกับสื่อกระแสหลักในปัจจุบันได้ |
2.”ทีวีสาธารณะ”กับ”ทีวีอิสระ”ควรจะหลุดพ้นจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนใหญ่ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ 1 หรือ 2 ฉบับคือพ.ร.บ.แพร่ภาพโทรทัศน์สาธารณะและโทรทัศน์ เพื่อให้โครงสร้างการบริหารเชิงนโยบายยึดโยงกับคณะกรรมการอิสระที่มาจากการสรรหาของรัฐสภาและภาคประชาชน
3.”ทีวีสาธารณะ”ควรจะมีแหล่งเงินดำเนินงานจาก”ภาษีพิเศษ”และ”กองทุนพัฒนาสื่อสาธารณะ”ที่มีเงินอุดหนุนจากแหล่งต่างๆ ประจำปีเพื่อให้ปลอดจากอำนาจรัฐที่ผ่านมาทางการจัดสรร “งบประมาณ” 4.”ทีวีอิสระ”ควรจะแยกเจ้าของ”ทุนและอุปกรณ์ทรัพย์สิน”ให้อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ขององค์กรมหาชนใหม่ Thailand Independent Television Authority( TITA) ที่ได้รับการโอนส่งมอบทรัพย์สินของ TITV ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรียึดสัมปทานมา วิธีนี้จะทำให้ “ทุนใหญ่ภาคเอกชน” ไม่สามารถเข้ามากำหนดนโยบายใหญ่ของ”ทีวีอิสระ”ได้ องค์กรมหาชนTITA ควรถือกรรมสิทธิ์ในฮาร์ดแวร์การออกอากาศทั้งหมดและคลื่นความถี่โทรทัศน์เป็นรูปแบบเดียวกับ “ทีวีเอกชน” ของอังกฤษที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ITA ( Independent Television Authority) ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเช่นเดียวกับ BBC แต่มองเอกชนใน”แง่บวก”กำหนดบทบาทเฉพาะ”การผลิตรายการ”ด้วยระบบสัมปทานระยะยาว 8-10 ปี ITA ของอังกฤษเกิดขึ้นหลัง BBC บนความเชื่อว่า”เอกชนย่อมมีพันธกิจเพื่อสังคม”ได้เช่นกัน โครงสร้างการบริหารขององค์กรมหาชน TITA จะประกอบด้วยคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น บริหารทั่วไป, การพัฒนาคุณภาพรายการและผังรายการ , พัฒนาข่าว, พัฒนาเทคโนโลยี และคณะกรรมการภาคประชาชนและผู้ชม โดยให้ผูกโยงกับรัฐสภาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกำกับดูแลและยังเป็นเกราะป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจฝ่ายบริหาร 5.โครงสร้างพื้นฐานของอุปกรณ์เครื่องส่งและเครือข่าย TITV มีความพร้อมสูงในการออกอากาศเพิ่มอีก 1 ช่อง ด้วยเงินลงทุนด้านฮาร์ดแวร์เครื่องส่งอีกประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จากเครือข่ายเดิมของ TITV ที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท เท่ากับว่า”ช่องทีวีใหม่”ใช้เงินลงทุนต่ำลงมากและดำเนินการให้ออกอากาศได้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน 6. ควรตั้งคำถามเริ่มต้นว่า “ผังรายการ 24 ชั่วโมง” ของทีวีสาธารณะกับทีวีอิสระควรจะเป็นอย่างไร เพื่อสนองเจตนารมณ์เพื่อสาธารณะทั้งสองรูปแบบและเกื้อหนุนบทบาทระหว่างทีวี 2 ช่องที่มีพันธกิจกับสังคมเช่นเดียวกัน 7.ผังรายการของ”ทีวีอิสระ”ควรจะเปิดกว้างให้”ผู้ผลิตรายการ”นำเสนอเข้ามาตามการกำหนดผังรายการ แต่ให้กำหนด”ค่าตอบแทนเช่าเวลา”ในระบบคงที่สำหรับรายการข่าวและสาระ ส่วนผังรายการส่วนของบันเทิงที่ไม่ควรมีเกินกว่า 15% หรือประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน ให้กำหนดค่าตอบแทนด้วยวิธีประมูล รวมแล้วน่าจะทำให้ TITA มีรายได้จากค่าตอบแทนเช่าเวลาปีละไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท 8.โครงสร้างการบริหารแบบนี้จะแยกระหว่างกรรมสิทธิ์ในฮาร์ดแวร์และคลื่นความถี่ให้อยู่ภายใต้องค์กรมหาชน TITA ส่วนการผลิตรายการให้อยู่ในรูปแบบ”สัมปทาน”ระยะยาวอย่างน้อย 5-8 ปีเพื่อหารายได้จากโฆษณาชดเชยจะช่วยแก้ปัญหาในวงการโทรทัศน์ที่ผู้ผลิตรายการทุกรายเป็นเบี้ยล่างเจ้าของสถานีโทรทัศน์ 9.รูปแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาสถานภาพพนักงาน TITV ปัจจุบัน 1,070 คนได้ เชื่อว่ากว่า 50%สามารถโอนย้ายเข้าไปทำหน้าที่ด้านเทคนิคและการออกอากาศให้กับ TITA ได้ ส่วนพนักงานฝ่ายข่าวและพนักงานยังสามารถรวมตัวจัดตั้ง”บริษัท”เพื่อเข้ามายื่นข้อเสนอ”ผลิตรายการ”ตามผังรายการใหม่ที่จะเปิดให้แข่งขันจากภายนอกด้วย 10.ควรจะพิจารณาให้”ช่อง 11″ ทำหน้าที่ “ทีวีสาธารณะ” ตามเจตนารมณ์เดิมเพื่อทำให้ “ทีวีสาธารณะ” เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยเร็วกว่าการตั้งไข่กับ TITV ที่ยังมีอุปสรรคอีกมากหากเลือกเป็นทีวีสาธารณะอย่างเดียว ขอถามคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ของอาจารย์ดรุณี หิรัญรักษ์ว่า ทำไมต้องขีดวงให้”ประชาชน”อยู่ในสภาพไม่ต่างจาก “จิ้งหรีด” ถูกปั่นในถ้วย เพื่อเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแบบ Zero-sun-game ระหว่าง”ทีวีสาธารณะ”กับ”ทีวีอิสระ” ทั้งๆ ที่ทั้งสองรูปแบบสมควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้แล้ว ทุกฝ่ายจะ Win-Win ในระยะยาว |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2550 |