โดย ปรมะ สตะเวทิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือพิมพ์มติชน
ทีวีในประเทศประชาธิปไตยนั้น ถือหลักเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ ทีวีจึงเป็นเสรี ที่ว่าเสรีนั้นหมายความว่าเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจรัฐ สถานีโทรทัศน์ดำเนินกิจการโดยวิจารณญาณของตนเองโดยเสรี มีการแข่งขันกันโดยเสรี
ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทีวีเป็นเสรี มีการดำเนินกิจการใน 2 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง คือ แบบธุรกิจ แสวงหากำไร เป็นทีวีของเอกชน รูปแบบที่สอง คือ แบบไม่เป็นธุรกิจ ไม่แสวงหากำไร เป็นทีวีสาธารณะ ในประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะแรกนับตั้งแต่มีทีวี เมื่อ ค.ศ.1939 จึงเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการทีวีในรูปของธุรกิจ โดยมีเอกชนเป็นเจ้าของ มีการโฆษณาสินค้า เพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของทีวี มีเครือข่ายทีวี (Network) ของเอกชนดำเนินการอยู่ 3 เครือข่าย คือ ABC(American Broadcastion company) CBS (columbia Broadcastion System) และ NBC (National Broadcasting Company) เครือข่ายทีวีเอกชนทั้ง 3 ได้ทำการออกอากาศรายการต่างๆ ทั้งข่าวสาร, กีฬา และความบันเทิง จนถึงปลายศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มเกิดความรู้สึกกันโดยทั่วไปว่า เครือข่ายทั้ง 3 เสนอรายการที่เป็นบันเทิงมากเกินไป จนกระทั่งเนื้อหาด้านความรู้ ศิลปะ และรายการสำหรับเด็กๆ มีอยู่น้อยเต็มที จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่าย PBS เพิ่มขึ้น (Public Broadcasting Service) เป็นทีวีสาธารณะ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความรู้ ศิลปะ และรายการเด็กที่มีจำนวนจำกัดในทีวีของเอกชน PBS ดำเนินกิจการโดยอาศัยเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของ PBS แต่อย่างใด ในประเทศอังกฤษเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ ทีวีในอังกฤษเริ่มต้นจากทีวีสาธารณะก่อนซึ่งดำเนินการโดยบรรษัทการกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (British Broadcasting Corporation) หรือ BBC ตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 การดำเนินกิจการของ BBC ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีเครื่องรับ (licensing fees) ของเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์เป็นสำคัญ รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ได้ควบคุมการดำเนินงานของ BBC BBC บริหารโดยคณะกรรมการที่เรียกว่า Board of Governors ซึ่งแต่งตั้งโดยพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษ โทรทัศน์ BBC มี 2 สถานี คือ BBC ONE และ BBC TWO สถานี BBC ONE เสนอรายการสาระบันเทิง สำหรับคนทั่วไป เช่น รายการเด็ก ข่าว กีฬา และภาพยนตร์ สถานี BBC TWO เสนอรายการสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เช่น รายการของมหาวิทยาลัยเปิด รายการกีฬาที่เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม รายการเพลงคลาสสิค และรายการเพื่อการเกษตร |
เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ชมเปลี่ยนรุ่นไป ประชาชนเกิดความรู้สึกว่ารายการของ BBC จำเจ น่าเบื่อหน่าย และมีรสนิยมสูงเกินไป ประชาชนต้องการการนำเสนอรายการในลักษณะอื่นบ้าง มีความหลากหลายและไม่ยึดติดกับศิลปะ วัฒนธรรม และรสนิยมสูงเกินไป
รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งการโทรทัศน์เสรี (Independent Television Authority) หรือ ITA ขึ้น เมื่อปี ค.ศ.1954 เปิดโอกาสให้มีโทรทัศน์ธุรกิจดำเนินกิจการโดยเอกชน แสวงหากำไร มีการโฆษณาสินค้า เพื่อเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากทีวีสาธารณะ BBC ปัจจุบันทีวีธุรกิจของเอกชนมี 3 สถานี คือ สถานี ITV สถานี Channel 4 และสถานี Five ทีวีของสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ จึงเป็นการผสมระหว่างทีวีเอกชนซึ่งเป็นทีวีธุรกิจกับทีวีสาธารณะ คนดูจึงมีเสรีภาพในการเลือกว่าจะดูรายการประเภทใด จะดูทีวีเอกชนหรือดูทีวีสาธารณะ ทั้งทีวีเอกชนและทีวีสาธารณะต่างยึดหลักเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นหลัก นั่นคือดำเนินกิจการโดยเสรีปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจ และอิทธิพลต่างๆ ทั้งรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ หันกลับมาดูทีวีเมืองไทย หากเราจะจัดรูปแบบของทีวีเมืองไทย ก็คงจัดได้ 2 รูปแบบเช่นเดียวกับทีวีของอังกฤษและทีวีของสหรัฐอเมริกา รูปแบบแรก คือ ทีวีธุรกิจ แสวงหากำไร มีโฆษณาสินค้า ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 (ซึ่งดำเนินการโดยเอกชน) และช่อง 5 ช่อง 9 (ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ) รูปแบบที่สอง คือ ทีวีสาธารณะ ได้แก่ ช่อง 11 (ซึ่งดำเนินการโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล) เมื่อเกิดปัญหา ITV ซึ่งเปลี่ยนเป็น TITV ภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ และกำลังหาทางออกว่าจะไปทางไหนกันดีระหว่างการเป็นทีวีเสรี (น่าจะหมายถึงทีวีธุรกิจที่ดำเนินการโดยเอกชนและแสวงหากำไร) กับการเป็นทีวีสาธารณะ โดยมีการตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล หากดูจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน (ไม่นับ TITV) เราก็มีสถานีทีวีธุรกิจอยู่ 4 สถานี (ช่อง 3, 5, 7 และ 9) และมีสถานีทีวีสาธารณะอยู่ 1 สถานี (ช่อง 11) ก็เป็นหน้าที่ของคนดูที่จะตัดสินใจว่าจะให้ TITV หรือ ITV เดิม เป็นสถานีรูปแบบใด ระหว่างการเป็นทีวีธุรกิจของเอกชน กับการเป็นทีวีสาธารณะ เพราะทีวีทั้ง 2 รูปแบบก็มีทั้งจุดดีและจุดด้อย ดังตัวอย่างของทีวีในอังกฤษ และอเมริกาที่กล่าวมาข้างต้น ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10624 หน้า 6 |