อินเตอร์เน็ต ทีวี

โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน

 

เคยเขียนถึงสถานีวิดีโอ พอดแคสต์ ในฐานะสื่อทางเลือกใหม่ แต่ไม่มีตัวอย่างของคนไทยทำอ้างอิงเลย ตอนนี้เจอมาแล้วอย่างน้อยๆ หนึ่งราย คือ duocore.tv ใครสนใจเรื่องนี้ และสนใจติดตามข่าวสารด้านไอทีก็ลองเข้าไปเปิดชมดู หรือใช้โปรแกรมรับพอดแคสต์สมัครรับเอาไว้ก็ได้ สื่อทางเลือกแบบนี้ละครับที่เป็นตัวแย่งชิงเวลาซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดตายตัวของคนไปจากสื่อหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ ตลอดจน สิ่งพิมพ์

เมืองไทยเราเพิ่งจะเริ่ม ส่วนในต่างประเทศนั้นเริ่มมาได้สักปีสองปีและก็โตเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มกันมือสมัครเล่นซึ่งจำนวนไม่น้อยทำได้ดีกว่ามืออาชีพที่ออกอากาศทางทีวีไปทั่วประเทศหรือทั่วโลกเสียอีก ระยะหลังๆ มานี้มันก็เริ่มถูกมองจากกลุ่มมืออาชีพว่าเป็นทิศทางที่น่าลงทุน แต่มันก้าวพ้นขึ้นมาจากคำเรียกขานว่า วิดีโอ พอดแคสต์แล้ว

ล่าสุดก็คือการลงขันกันของมืออาชีพหลายคน เช่น อดีตผู้บริหารเอ็มทีวี, อดีตผู้บริหารเอโอแอล และบริษัทลงทุนบางแห่ง เป็นต้น เป็นเงิน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 280 ล้านบาท ไม่ถือว่ามากนักเมื่อไปเทียบกับการลงทุนด้านสื่อทีวี แต่ก็ไม่น้อยเช่นกัน บริษัทที่คนกลุ่มนี้มาร่วมกันผลักดันคือ “เน็กซท์ นิว เน็ตเวิร์กส” เพื่อทำสถานีวิดีโอ พอดแคสต์ หรือ เรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นมาอีกหน่อยก็คืออินเตอร์เน็ต ทีวี ด้วยการบันทึกรายการให้อยู่ในรูปของวิดีโอ แล้วผู้ชมสามารถชมผ่านเว็บไซต์ หรือ เลือกรับพอดแคสต์ไปดูตามเวลาที่สะดวก

เปิดตัวขึ้นมาทีเดียว 5 สถานีหรือ 5 ช่องรายการด้วยกัน ประกอบด้วย fastlanedaily.com นำเสนอข่าวรนายวันสำหรับคนรักนรถ, threadbanger.com เป็นรายการเกี่ยวกับการตัดเสื้อผ้าและเย็บปักถักร้อย ตอนละห้านาที สัปดาห์ละหนึ่งตอน อีกรายการหน่งคือ channelfrederator.com เป็นรายการแอนิเมชั่นเก่าของอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของเอ็มทีวีที่มาร่วมขบวนด้วย กับ VODCars.com ที่เป็นเรื่องสำหรับคนรักรถ สุดท้ายคือ pulpsecret.com เสนอข่าวสารและความเคลื่อนไหวในแวดงวงหนังสือการ์ตูน

เนื้อหาสาระของสถานีทั้งห้านี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากทีวีโดยทั่วไป ทำขึ้นมาเจาะตลาดใหม่ โดยกลุ่มที่ทำหวังว่ามันน่าจะเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนได้ดี และตอบโจทย์ก็ผู้ลงโฆาณาได้ ทุกวันนี้คนดูวิดีโอจากอินเตอร์เน็ตกันมากมหาศาลด้วยข้อพิสูจน์จากเว็บยูทิวบ์ แต่เม็ดเงินโฆษณาที่เข้าไปนั้นน้อยนิดมาก ส่วนหนึ่งเพราะยูทิวบ์นั้นหากเทียบเป็นสถานีก็เป็นสถานีแบบยำใหญ่ มีคนแห่แหนเข้าไปจนแยกไม่ออก ขณะที่ เน็กซท์ นิว เน็ตเวิร์กส เลือกแยกรายการออกมาเป็นคนละสถานีเพื่อเข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มที่แน่ชัด มันสามารถตอบคนที่จะมาลงโฆษณาได้ชัดเจนไปเลยว่าใครคือคนดู

ขณะเดียวกันรายการในแต่ละตอนของสถานีพอดแคสต์ทั้ง 5 สถานีนี้ ทำออกมาในแบบมืออาชีพชัดเจน ไม่ใช่ทำกันเล่นเหมือนที่เห็นได้ทั่วไปบนยูทิวบ์หรือสถานีพอดแคสต์อื่นๆ หากจะดูความแตกต่างอาจจะดูเทียบกับ Duocore.tv ก็ได้ ซึ่งก็แน่นอนละครับ ระหว่างคนที่ลงเงินเป็นร้อยล้านบาท และมีประสบการณ์โชกโชนมาก่อนในการผลิตสื่อทีวี กับเด็กรุ่นใหม่ซึ่งแทบไม่ได้ใช้เงินทุนเลย ขาดความรู้และประสบการณ์ด้านการผลิตรายการ มีแต่ความตั้งใจและพื้นความรู้ทางด้านไอที อย่างไรก็เทียบกันไม่ได้ แต่ Duocore.tv ก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรนัก

และหวังว่าต่อไปจะมีสารพัดอินเตอร์เน็ต ทีวี ของไทยเกิดขึ้นมาให้เราเลือกชมได้โดยไม่ต้องไปสนใจทีวีตัวจริงทั้งหลายที่ไม่มีวันจะกลายเป็นสื่อเสรีที่ยืนอยู่ข้างประชาชนและผู้เสียเปรียบได้จริงจัง

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10593 หน้า 6

 

แท็ก คำค้นหา