โดย กาแฟดำ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ถ้านายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่จับจังหวะนี้ประกาศ “ปฏิรูปสื่อ” อย่างกว้างขวางและชัดเจนเพื่อให้เกิด “สื่อสาธารณะของประชาชน” อย่างแท้จริง ก็ต้องถือว่าขาดวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำในยามที่บ้านเมืองต้องการความเป็นผู้นำที่เข้าใจความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างจริงจัง
แม้จะพลาดท่าเสียจังหวะกับการแก้ปัญหา “ไอทีวี” และสะดุดเงื่อนปม เพราะ “ไม่ทันเกม” แต่นายกฯคนนี้ก็ยังพอจะมี “ต้นทุนสังคม” พอที่จะประกาศตนเป็นแกนนำในการปฏิรูปสื่อเพื่อสังคมอย่างจริงใจและจริงจังได้ และต้องเป็นการปฏิรูปทั้งภาพรวม มิใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง…เช่นมิใช่เพียงแค่หาทางออกให้กับไอทีวีที่กลายเป็น “ทีไอทีวี” เท่านั้น…หากแต่จะต้องกินความไปถึงฟรีทีวี โดยเฉพาะช่อง 11 และคลื่นความถี่ไอทีวี เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และทีวีกับวิทยุท้องถิ่นทั้งหลายทั้งปวง ต้องไม่ลืมว่าไอทีวี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น…ที่เป็นข่าวร้อนแรงก็เพราะไปโยงใยกับทักษิณ ชินวัตร เทมาเส็กของสิงคโปร์ และสะท้อนถึงปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์การเมือง และธุรกิจ และความพยายามจะใช้อำนาจการเมืองเพื่อแทรกแซงเสรีภาพของข่าวสารอย่างโจ๋งครึ่มเท่านั้นเอง แต่ความจริงภาพรวมสื่อทีวี และวิทยุในประเทศนั้นมีปัญหาจะต้องแก้ไขกันที่พื้นฐานอย่างมาก…โดยที่จะต้องมีเป้าหมายตรงกันประการเดียวนั่นคือการทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์จากสื่อทีวี และวิทยุ บนพื้นฐานของเสรีภาพของการไหลเทของข่าวสารที่ไม่ถูกนักการเมืองหรือธุรกิจเข้ามาบิดเบือน แทรกแซง และหาประโยชน์อย่างที่เป็นมาตลอดในประเทศนี้ นายกฯสุรยุทธ์ จะต้องประกาศตัวเองเป็นหัวหน้าคณะพิจารณาการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กระทบผลประโยชน์คนบางกลุ่มในระยะสั้นนั้นจำเป็นต้องมาจากความเป็นผู้นำที่มี “ความมุ่งมั่นทางการเมือง” หรือ political will ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของตนเอง ผมไม่แน่ใจว่าหากปล่อยให้เรื่องสื่อคาราคาซังหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ไปจนถึงหลังเลือกตั้งครั้งหน้าโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสื่อเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับสาธารณชนจะทำได้หรือไม่ เพราะกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ล้วนมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับสื่อทั้งสิ้น |
การอ้างว่าต้องรอให้มีการแต่งตั้ง กสช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ เสียก่อนแล้วจึงจะพิจารณาการปฏิรูปสื่อของรัฐทั้งหลายทั้งปวงนั้นเห็นจะเป็นข้ออ้างเพียงเพื่อซื้อเวลา และไม่ยอมตัดสินใจเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมืองเท่านั้น
เพราะรัฐบาลชุดนี้มีความพิเศษแตกต่างไปจากรัฐบาลอื่นตรงที่ว่าเข้ามาในยามวิกฤติ และมีภารกิจแก้ไขความเลวร้ายของรัฐบาลก่อนที่นำไปสู่การปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน…และในความเห็นของผม การที่คนกุมอำนาจการเมือง และอิทธิพลการเงินเข้าไปยึดสื่อมาเป็นเครื่องมือเพื่อมาอุ้มชูตัวเองนั้นคือสาเหตุสำคัญของความเน่าเฟะที่ทำให้ประเทศชาติย่างเข้าสู่วิกฤติจนเกิดกรณีการรัฐประหาร ดังนั้น รัฐบาลสุรยุทธ์ จึงต้องถือเป็นภารกิจหรือ mission หลักในการต้องปฏิรูปสื่อให้สอดคล้องต้องกันกับความต้องการของประชาชน ให้คลื่นความถี่วิทยุ และโทรทัศน์เป็นเครื่องมือการสื่อสารของประชาชน มิใช่เป็นอาวุธร้ายที่นักการเมืองหรือกลุ่มทุนใดๆ จะนำไปใช้ทิ่มแทงสาธารณชนเพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกของตนเท่านั้น หากมีการประกาศนโยบายการเปิดเสรีของสื่อไทยอย่างจะแจ้ง ข่าวคราวที่จะปรากฏในต่างประเทศก็จะออกมาในทางบวกว่านายกฯสุรยุทธ์ พร้อมจะ liberalize media ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดกว้างสื่อให้เกิดภาพตรงกันข้ามกับการพยายามใช้อำนาจการเมืองสมัยทักษิณ ชินวัตรในการเข้าไปครอบงำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย หากนายกฯสุรยุทธ์ ประกาศตั้งตัวเองเป็นประธานคณะทำงานพิเศษในการปฏิรูปสื่อ และแต่งตั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีประวัติการทำงานสะอาด มุ่งมั่น คิดกว้างไกล มองปัญหาเรื่องเสรีภาพของสื่ออย่างทะลุปรุโปร่ง ก็จะเป็นข่าวด้านบวกอันสำคัญยิ่งสำหรับภาพลักษณ์ของรัฐบาล “ขิงแก่” ที่ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งกว่า 4 เดือน มีแต่ข่าวทางลบและประสบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งข้างในและข้างนอกมาตลอด หากนายกฯสุรยุทธ์ ประกาศแนวทางการ liberalize media ให้คนไทยและทั้งโลกได้รับทราบ ก็จะเป็นการสวนกับภาพทางลบของรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน อย่างชัดเจน ผลงานของคุณสุรยุทธ์ ด้านการเมืองทำอะไรไม่ได้มากเพราะมี สนช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ปฏิรูปการเมือง ผลงานด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่กระจ่างชัด ผลงานด้านแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เป็นไปทางบวก การปฏิรูปสื่ออย่างจริงจังและจริงใจและรวดเร็วทันกาลนี่แหละจะเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมที่จะได้ฝากไว้กับคนไทยทั้งประเทศได้ เพียงหวังว่านายกฯ คนนี้จะมี political will อย่างที่ผู้คนคาดหวังเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ได้ยินชื่อท่านผู้นี้ว่าจะมาเป็นนายกฯ งานนี้สำคัญเกินกว่าที่จะมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คนนั้นคนนี้ทำ…และมีผลกว้างไกลต่อประเทศชาติเกินกว่าที่จะตั้งนักวิชาการไป “ศึกษา” และเสนอความเห็นมาให้นายกฯเก็บใส่ลิ้นชักอย่างที่เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า หากผิดไปจากที่คาดหวัง คนไทยก็ต้องมานั่งสงสารและสมเพชตัวเองอีกครั้งหนึ่ง |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 07:32:00 |