ทีวีสาธารณะ…กระบวนการ พิจารณาก็ต้องสาธารณะ

โดย สุทธิชัย หยุ่น
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ บอกว่า คณะกรรมการพิเศษที่นายกฯ แต่งตั้งให้ดูแลเรื่องไอทีวีจะใช้เวลา 1 เดือนเพื่อพิจารณาถึง “ภาพใหญ่” ของอนาคตคลื่นนี้ ซึ่งแปลว่า จะมีคำตอบว่าด้วยแนวทางระยะยาวต่อไป

คำถามก็คือว่าคณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาบนพื้นฐานของอะไร? โจทย์ของภารกิจคืออะไร?

ดูจากวิธีการจัดการปัญหาของไอทีวีที่ค่อนข้างจะวกไปวนมาของรัฐบาลชุดนี้ ผมไม่แน่ใจว่า นายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีแนวทางชัดเจนเรื่อง “สื่อเพื่อสาธารณะ” หรือ public broadcasting service (PBS) ที่ชัดแจ้งอย่างไรเลย

ดูจากวิธี “ลิงแก้แห” ของรัฐบาลในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น (เดี๋ยวจะให้ อสมท ทำ, เดี๋ยวจะให้กรมประชาสัมพันธ์รับไป) ก็ทำให้ประหวั่นพรั่นพรึงว่าเรื่องนี้อาจจะจบลงด้วยการมี “ช่อง 11/2” ขึ้นมาเท่านั้นเอง

กลายเป็นว่า “ทีวีเสรี” ถูกยึดไปเป็นของรัฐอีกช่องหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นโศกนาฏกรรมรอบใหม่ของวงการสื่อของประเทศไทยอีกรอบหนึ่ง

หากจะให้คลื่นความถี่ไอทีวีกลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กระบวนการพิจารณาเรื่องนี้จะต้องทำอย่างโปร่งใส เปิดเผย และเป็นสาธารณะ

คำว่าเป็นสาธารณะนั้นแปลว่าจะต้องไม่ใช่เป็นการสรุปของคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานและคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำที่อาจจะเป็นห่วงเป็นใยเรื่องกฎระเบียบและ “ความเป็นเจ้าของของรัฐ” มากกว่าที่จะมองเห็นความสำคัญของการมี

“สื่อสาธารณะ”

เพราะ “สื่อสาธารณะ” จะต้องอยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลและอิทธิพลของการเมืองและข้าราชการประจำด้วย

ให้รัฐมนตรีและข้าราชการประจำมาพิจารณาว่าควรจะมีสื่อที่พวกเขาควบคุมไม่ได้และไม่ควรจะควบคุมนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะผิดฝาผิดตัวอย่างแน่นอน

การพิจารณาเรื่องนี้จึงสมควรจะต้องเป็นเรื่องของสาธารณะอย่างแท้จริง…นั่นคือจะต้องให้องค์กรประชาชน สื่อมืออาชีพทุกสาขา นักวิชาการอิสระ ตัวแทนผู้ปกครอง องค์กรวัฒนธรรมและนิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนในการตัดสิน

เพราะคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะซึ่งหมายถึงเป็นของพวกเราทุกคน…จึงไม่ใช่เรื่องที่คนของรัฐบาลเท่านั้นที่จะมากำหนดรูปแบบแต่เพียงกลุ่มเดียว

พวกเขามาแล้วก็ไป แต่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่กลับไม่มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินว่าควรจะใช้คลื่นความถี่นั้นเพื่อประโยชน์ของพวกเราเองอย่างไร

ที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เพียงแค่พิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับไอทีวี…แต่ประเด็นใหญ่ขณะนี้คือการปฏิรูปสื่อทีวีและวิทยุทั้งหมด…

ควรจะให้ช่อง 11 เป็นทีวีสาธารณะของรัฐอย่างไร?

ควรจะให้ไอทีวีเป็นทีวีเสรีของเอกชนอย่างไร?

ควรจะให้ทีวีช่องที่ทำรายได้จากบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ต้องอุดหนุนด้านงบประมาณให้กับทีวีสาธารณะอย่างไร?

ควรมีรูปแบบและโครงสร้างการบริหารทีวีและวิทยุเพื่อความเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลและกลุ่มทุนอย่างไร?

ทั้งหมดนี้ต้องทำพร้อมกันและทำเป็นกระบวนการระดับชาติ มิใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ผ้าเอาหน้ารอดเป็นเรื่องๆ ไป โดยมือขวาไม่รู้ว่ามือซ้ายทำอะไรอยู่

ที่เห็นอยู่นี้บอกได้แต่เพียงว่ายิ่งแก้ยิ่งยุ่ง…เพราะจิตวิญญาณสาธารณะไม่มีปรากฏให้เห็นในหมู่ผู้มีอำนาจ

จอทีวีมืดลงยังไม่ร้ายเท่าสายตาผู้รับผิดชอบมืดมัว

ที่มา : คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา