โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
ปัญหาของสื่อมวลชนที่ปรากฏชัดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาผิวเผินของคนทะเลาะกัน แต่เป็นปัญหาสำคัญของค่านิยม ความคิด ความเชื่อ และคุณธรรมของสังคม ที่จะมีผลอย่างหนักหนาต่อสังคม ซึ่งทุกคนทุกฝ่าย ควรเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะคนทำสื่อ คนรับสื่อ นักธุรกิจสื่อ นักวิชาการสื่อ ต้องเรียนรู้และให้ความจริงปรากฏชัดขึ้นมาแทนที่ความสับสนที่เป็นอยู่ในวันนี้ ที่สื่อแท้สื่อเทียมเป็นปัญหาสำคัญของการปฏิรูปสังคม และการเมือง
ความจริงแล้ว เวลาจะบอกว่าอะไรแท้ อะไรเทียม ต้องให้ความหมายที่บ่งชี้ลักษณะเสียก่อนว่าแท้มีลักษณะสำคัญอย่างไร เพื่อให้สามารถระบุได้ว่า “เทียม” มีลักษณะอย่างไร ? เป็นความจริงแท้ว่า คนที่ทำสื่อ ไม่มีใคร ต้องการเป็น “สื่อเทียม” แต่ต้องการเป็น “สื่อแท้” กันทั้งนั้น สื่อ (Media) ทุกวันนี้ ใครก็เดินเข้ามาประกอบวิชาชีพนี้ได้ จึงไม่แปลกอะไรเลย ที่ได้เปิดทาง ต้อนรับนักการเมือง นักธุรกิจ ที่ประกาศชัดว่า มีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้า มาเป็น “คนทำสื่อ” เพื่อเสริมสร้างสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน อย่างเช่น กรณีบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ ในนาม พีทีวี หรืออย่างหนังสือพิมพ์ และเวบไซต์ รีพอร์ตเตอร์ ก่อนหน้านี้ คุณลักษณะของสื่อมวลชน (Mass Media) สำคัญอยู่ที่จิตสำนึกสาธารณะของคนทำสื่อ ที่เป็นอุดมการณ์วิชาชีพ แม้ว่าสื่อมวลชนเป็นธุรกิจ แต่คนประกอบธุรกิจสื่อ ต้องมี “จิตวิญญาณวิเศษ” แตกต่างจากการประกอบธุรกิจทั่วๆ ไป ต้องอุทิศจิตวิญญาณให้สื่อที่ตนเองทำ มีความเป็นสาธารณะ และมุ่งวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) เป็นสำคัญเสมอ ด้วยเหตุนี้ คนรวยแล้ว คนอยากรวย ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการประกอบธุรกิจสื่อได้ยาก อย่างเช่น กรณีการซื้อหุ้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี แล้วนำไปสู่ “อวสานจิตวิญญาณแห่งคนเดือนพฤษภาคม” ของสถาบันสื่อแห่งนี้ ต้องเริ่มต้นสร้างจิตวิญญาณสถานีโทรทัศน์แห่งนี้กันใหม่ การเปิดโอกาสให้ประชาชน (People) มีส่วนในการถือหุ้น จึงไม่สามารถบรรลุหลักการสำคัญของ “ความเป็นสื่อแท้” ตามคุณลักษณะของสื่อมวลชน เพราะในที่สุด ก็ย่อมบรรลุได้แต่เพียงการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคน หรือพรรคพวก เพื่อนพ้องน้องพี่ (Group Interest) ตามความหมายของการปกป้องผลประโยชน์ของ “กลุ่มผลประโยชน์” ตามหลักรัฐศาสตร์ (Political Science) เท่านั้นเอง ไม่สามารถก้าวไปถึงความเป็นสาธารณะ (Public) ที่ไม่มีขอบเขตว่ามีกี่คน คือใคร จำนวนเท่าใด ได้เลย ดังนั้น สื่อที่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ครอบคลุม ไม่สะท้อนถึงพันธกิจของสื่อมวลชนข้างต้น แต่ได้ทำหน้าที่เพียงบางประการ ผ่านทางสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเฉพาะเรื่อง จึงได้รับการเรียกขานว่า เป็นการสื่อสารในรูปแบบและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสารนั้นๆ เช่น |
เรียกกิจกรรมการเสริมสร้างความเข้าใจ หรือภาพลักษณ์อันดีของบุคคลหรือองค์กร ว่า “การประชาสัมพันธ์” (Public Relation) หรือการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อขายให้ได้ ว่าเป็น “การโฆษณา” (Advertising) หรือเรียกการปลูกฝังความคิดความเชื่อว่าเป็น “การโฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda)
สื่อ (Media) ซึ่งเป็น “เครื่องมือ” ของการสื่อสารตามวัตถุประสงค์ข้างต้น จึงเรียกได้ว่า เป็น “สื่อเฉพาะกิจ” (Specialized Media) เท่านั้น ไม่สามารถก้าวข้ามไปเป็น “สื่อมวลชน” (Mass Media) ตามความหมายที่มีความลึกซึ้งทั้งทางวิชาการ และวิชาชีพได้เลย ที่ผ่านมา ความรู้ความเข้าใจเรื่องของสื่อในสังคมไทย มิได้หยั่งรากลึกลงไปมากนัก แม้ว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับสื่อในบ้านเมืองเรามานานราวๆ ปี แต่ความรู้ความเข้าใจกับสังคมในวงกว้างนั้นมีไม่มากนัก หลายๆ ครั้ง เราจะพบว่า การมองสื่อจะมองในลักษณะ “แบบเหมารวมสื่อ” (Media Stereotype) คิดเอาเองตามที่ว่าต่อๆ กันมา หรือฟังเขาว่ามาอีกที การเรียนเกี่ยวกับสื่อแม้ว่าได้รับความนิยมจากนักศึกษาเข้าเรียนกันเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีพลังมากพอ ที่จะกระจายความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อ ในลักษณะถ่ายทอด “จิตวิญญาณสื่อ” ไปยังสาธารณชนได้เลย ยอมรับกันว่า ทุกวันนี้ ปัญหาของสื่อแท้ คือ ปัญหาของคนทำสื่อที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะอย่างแท้จริงที่ยังมีอยู่ และอยู่อย่างไร้เกียรติยศและศักดิ์ศรี ปัญหาของสื่อเทียมที่ปรากฏขึ้นในวันนี้ คือปัญหาใหม่ที่มีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อหลอกลวงสังคม หรือแม้แต่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางธุรกิจและการเมือง เราไม่สามารถเรียกคนทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดๆ ได้ว่า “สื่อมวลชน” เพราะฉะนั้น ปัญหาของกลุ่มคนที่เดินเข้าสู่วิชาชีพสื่อ มิได้อยู่ตรงที่ว่า จะถูกเรียกว่าเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียม เพราะความแท้ ความเทียม อยู่ตรงที่จิตสำนึกที่แท้จริงของคนทำสื่อนั้นๆ มากกว่า วิชาชีพสื่อเป็นวิชาชีพที่เป็นพวกเดียวกันกับนักการเมืองไม่ได้ เพราะสื่อแท้มีพันธสัญญาความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมต้องตรวจสอบนักการเมือง จึงเป็นภาพขัดแย้ง (Paradox) อย่างมาก สำหรับนักการเมืองที่มาเป็นคนทำสื่อ แต่สังคมจะให้อภัยคุณถ้าคุณเข้ามาในวิชาชีพนี้แล้ว เลิกข้องแวะโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับพรรคการเมือง ที่สำคัญ ปัญหาของสื่อแท้ และสื่อเทียม แท้ที่จริงแล้ว เป็นปัญหาสำคัญในการปฏิรูปสังคม และการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย โอกาสสำเร็จได้ยาก ถ้าหากยังมีสื่อเทียมอยู่ในบ้านเมือง ขอเตือนว่า วิชาชีพสื่อสารมวลชน มีอาถรรพ์ในตัวของมันเอง คนทำสื่อที่จะอยู่ได้ต้องมีจิตวิญญาณสื่อเท่านั้น มิเช่นนั้น สังคมจะลงโทษให้เห็นในเร็ววัน |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 08:00:00 |