ตั้งคณะกรรมการผังรายการอิสระช่อง11 และ “ไอทีวี”

…เปิดทีวีเสรีให้ทุกหมู่เหล่า
โดย กาแฟดำ

 

จะไม่ต้องมีใครดิ้นรนทำทีวีดาวเทียมในประเทศไทยหรือวิ่งหาหนทางประหลาดๆ ทั้งหลายเลยถ้าไม่ถูก ทักษิณ ชินวัตร กลั่นแกล้งปิดทางไม่ให้ทำรายการวิทยุและโทรทัศน์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เพียงเพราะอดีตนายกฯคนนี้ต้องการจะตัดคนที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนทางการเมือง

ทักษิณ ใช้นโยบาย “ถ้าคุณไม่ได้อยู่ข้างผม คุณก็เป็นศัตรูกับผม”

ซึ่งแปลว่าคนทำสื่ออาชีพที่ยืนอยู่ตรงกลาง วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองตามความเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ไป “ซบอก” ทักษิณ ไม่อาจจะทำหน้าที่ของตนเองได้

ความจริง หากจะจัดสรรแบ่งปันเวลาให้ผู้มีความสามารถ และมีประวัติในการทำรายการวิทยุ และทีวีอย่างมืออาชีพกันอย่างเท่าเทียมเสมอภาคแล้ว เวลาและพื้นที่ในทีวีและวิทยุของทางการและเอกชนมีมากพอสำหรับที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการรายงาน วิเคราะห์และถกแถลงประเด็นที่สังคมไทยต้องการด้วยซ้ำไป

ไม่ต้องดิ้นรนข้ามไปลาว ฮ่องกง กัมพูชา หรือแม้แต่อเมริกา เพียงเพื่อจะหาช่องทางดาวเทียมทำสถานีโทรทัศน์ของตนเองแข่งกับช่องต่างๆ ในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมและกดดันของผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างที่เคยเป็น

วันนี้ หากรัฐบาลของ คุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องการจะให้มีบรรยากาศแห่งเสรีภาพของสื่อเพื่อความเท่าเทียมของข่าวสารจริง ก็จะต้องมี “พิมพ์เขียว” หรือ master plan เพื่อการปฏิรูป และเปิดกว้างสื่ออย่างแท้จริง และด้วยมาตรฐานอาชีพด้านสื่อในระดับสากล

ไม่ใช่เล่นเหมือนเด็กขายขนมครก กล้าๆ กลัวๆ ทำเหมือนแค่เพียงจะตอบโต้ทักษิณ เท่านั้น แต่ลืมไปว่าการสร้างสังคมแห่งประชาธิปไตยที่จะสกัดกั้นการหวนคืนมาของระบอบประชานิยมที่หลอกลวงประชาชนนั้น จะต้องมีสื่อที่เสรีในความหมายที่แท้จริง

สมัยก่อน เสรีของสื่อหมายถึงเสรีในการด่าคนที่ไม่ถูกกับทักษิณ

สมัยนี้ เสรีของสื่อจะต้องมีความหมายมากไปกว่าความสามารถในการวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลและคมช.

แต่ยังจะต้องหมายรวมถึงเสรีภาพในการถกแถลงถึงทุกประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความสำคัญต่ออนาคตของการสร้างชาติ

ตั้งแต่เรื่องการศึกษาไปถึงเรื่องดาวเทียม ความรุนแรงที่ภาคใต้ วัฒนธรรมไทยปะทะต่างชาติ โชห่วยกับค้าปลีกยักษ์ต่างประเทศ ความแตกต่างของคำว่า “ความรักชาติ” กับ “ชาตินิยม” และ “ความคลั่งชาติ” ไปจนถึงเรื่องราวที่แอบซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสังคม แต่ไม่กล้านำออกมาเสนอให้ประชาชนได้รู้ความจริง

รายการเด็กดีๆ ที่มีคุณภาพอยู่ไหน? รายการเจาะลึกถึงปัญหาของชาวบ้านโดยเฉพาะที่อยู่ในชนบทห่างไกลอยู่ไหน? รายการเปิดโปงวิธีการโกงกินบ้านเมืองอยู่ไหน? รายการให้ประชาชนคนไทยเข้าใจว่าการทำ “ประชามติ” ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย อยู่ไหน?

ดูเหมือนว่ายิ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อบ้านเมือง สื่อทางการของไทยยิ่งจะหนีห่าง เพราะไม่มีความสามารถที่จะทำให้น่าสนใจเพียงพอ หรือเพราะไม่เคยยอมสร้างคนมีความสามารถทางด้านสื่อ…หรือเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหารสถานีเหล่านี้ทำให้พวกเขาตัดสินใจ “เอาเงินดีกว่าเอาคุณภาพ”

ทางการเมืองมีช่อง 5 ช่อง 9 และช่อง 11 และเคเบิลทีวีมากมาย อีกทั้งสัมปทานที่ให้ไปกับช่อง 3 และช่อง 7 นั้น ก็มีเงื่อนไขที่ระบุชัดเจนว่าจะต้องทำรายการที่รับใช้สังคมในหลายๆ ส่วน และนี่ถ้าจะเอาไอทีวีคืนมาเป็นของรัฐอีกด้วย ก็จะมีช่องทีวีและวิทยุมากมายก่ายกองที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าควรจะให้ ASTV หรือ PTV ออกอากาศหรือไม่และออกอย่างไร…เปิดช่อง 11 หรือไอทีวี นี่แหละให้เป็นทีวีสาธารณะ…แต่อย่าให้ข้าราชการหรือนักการเมืองบริหาร เพราะมันก็จะกลับไปสู่วังวนเดิม

ให้ตั้งคณะกรรมการ Public Broadcasting Service ที่มีบุคลากรที่สังคมยอมรับนับถือในแง่ของสังคมและประเทศชาติ และให้แบ่งเวลาของช่อง 11 กับไอทีวีให้กับกลุ่มคนต่างๆ ที่มีรายการทีวีที่เป็นสารประโยชน์…โดยมีคณะกรรมการผังรายการที่มาจากคนแวดวงต่างๆ ในสังคมไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ สมาคมผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้นำศาสนา…

จะแปลกอะไรที่คณะกรรมการผังรายการใหม่ของช่อง 11 จะให้ สนธิ ลิ้มทองกุล กับ วีระ มุสิกพงศ์ จัดรายการช่อง 11 พร้อมๆ กันทุกคืน ความเห็นแตกต่างจากมุมมองคนละด้านก็จะได้ออกมาถกกันอย่างเปิดเผย

ไม่ต้องยื้อแย่งทำทีวีดาวเทียมกันให้แพง เหนื่อย และเป็นขี้ปากของนักการเมืองอีกต่อไป

ทั้งช่อง 11 และไอทีวี นั้น เมื่อมีคณะกรรมการผังรายการอย่างอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ไม่ต้องกลัว คมช. แล้ว ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ไทยจะมี “ทีวีเสรี” อย่างแท้จริง

ไม่ใช่ช่องเดียวด้วยซ้ำ มีถึงสองช่อง…และด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่สามารถทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ออกทีวีเป็นสิบๆ ร้อยๆ ช่องด้วยซ้ำไป

ขอให้มีความมุ่งมั่นจริงๆ การสร้าง “ทีวีเสรี” ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยแม้แต่น้อย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 00:01:00

แท็ก คำค้นหา