เถกิง สมทรัพย์
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
วิกฤติการณ์ของการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในเวลานี้มี “สื่อมวลชน” เข้ามามีบทบาทสูงมาก ทั้งในการช่วยให้เกิดการสมานฉันท์และสร้างความแตกแยกมากขึ้น
การเกิดขึ้นของ ASTV ทำให้เป็นแบบอย่างของ PTV ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อย้อนรอยสิ่งที่ ASTV ทำเอาไว้กับรัฐบาลทักษิณ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทของสื่อมวลชนก็เพื่อบริการสาธารณะ เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพของประชาชน แต่เมืองไทยเรากำลังใช้สื่อสาธารณะเป็นอาวุธล้างผลาญทางการเมืองอย่างรุนแรง รัฐบาลและทหารจะต้องคิดทบทวนอย่างรวดเร็วว่าจะถอดชนวนระเบิดลูกนี้อย่างไร ซึ่งจะต้องทำบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ไม่ให้เกิดคำวิจารณ์ว่า คนนั้นทำไมได้ แต่ทำไมคนนี้ทำได้ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนทิศทางของการนำเสนอข่าวสารเสียใหม่ จากเรื่องของความขัดแย้งไปสู่การสร้างสรรค์สังคม เพื่อลดทอนความบาดหมางใจของคนไทยด้วย ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆกำลังสนุกอยู่กับข่าวสารการเมืองและเรื่องบันเทิง ITV น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของรัฐบาลที่จะเข้ากำกับดูแลให้สถานีที่มีศักยภาพแห่งนี้ทำหน้าที่บริการสาธารณะในยามที่ประชาชนถูกหลงลืมเช่นนี้ |
ถ้าในเดือนมีนาคมนี้รัฐต้องเข้ากำกับดูแล ITV ผมมีข้อเสนอดังนี้
1. ปัจจุบัน สื่อส่วนใหญ่นำเสนอข่าวที่บัญชาการมาจากส่วนกลางและนำเสนอข่าวที่ไกลตัวประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เราจึงเห็นศูนย์กลางของข่าวสารอยู่ที่ทำเนียบ คตส. รัฐสภา สนามบินสุวรรณภูมิ และนักการเมือง 2. ประเด็นข่าวเด่นที่นำเสนอไปจะเน้นในเรื่องการเมือง การติดตามคดีทุจริตที่คืบหน้าเร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่ยังไม่มีผลลงโทษคนในรัฐบาลเดิม และมีประเด็นการโต้แย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ 3. ข่าวที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมทั้งสังคมจะเป็นเรื่องระเบิดภาคใต้และโอกาสเกิดการก่อการร้ายในกรุงเทพ ซึ่งนำเสนอทั้งภาพ ทั้งเนื้อหาละเอียดยิบ เห็นเลือด เห็นนำตา เห็นความตายกันอย่างชัดเจนแทบทุกวัน 4. เราไม่เห็นความทุกข์ยากของประชาชนในด้านอื่นๆมากนักในสื่อ ถ้าจะมีก็เพียงรายงานผ่านๆ ไม่เน้น ไม่ให้ความสนใจ ไม่นำไปสอบถามนายกรัฐมนตรีให้เป็นข่าวเพื่อส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาประชาชน 5. สรุปก็คือ สื่อส่วนใหญ่ยังไม่ใช้ศักยภาพของตนในการสะท้อนปัญหาทุกข์ยากของประชาชนให้รัฐบาลได้ทราบ เพราะมุ่งไปในเรื่องทางการเมืองและเรื่องบันเทิงเป็นหลัก 6. รัฐบาลปัจจุบันกำลังเผชิญวิกฤติศรัทธาจากประชาชน ถามว่าเพราะอะไร ตอบง่ายๆว่าเพราะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ทั้งในเรื่องการเมืองที่ขัดแย้งสูง ความรุนแรงทางภาคใต้ และปัญหาการอยู่ดีกินดีของประชาชน รวมทั้งเรื่องการให้กำลังใจและความหวังต่อการสู้ชีวิต 7. ไอทีวี เป็นสื่อที่มีความโดดเดนในเรื่องข่าวสารสาระ ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทนั้นรับชมข่าวสารจากไอทีวีมากเป็นพิเศษ เพราะไอทีวีมีเวลาการนำเสนอข่าวสารมากกว่าช่องอื่นๆในบรรดาฟรีทีวีด้วยกันและนำเสนอได้น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทันสถานการณ์และการนำเสนอประเด็นที่หลากหลาย 8. ไอทีวี ต้องฉีกตัวออกจากการเสนอข่าวสารการเมือง โดยเสนอลดลง เน้นเฉพาะที่เด่นจริงๆ แล้วนำทรัพยากรที่มีศักยภาพของตนเองไปเสนอข่าวสารที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังเผชิญวิกฤตในการดำรงชีวิต 9. ปัญหาของประชาชนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันมีทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น ราคาพืชผลตกต่ำ ลูกๆได้รับการศึกษาไม่ดีพอ การทุจริตคอรัปชั่นในการเมืองท้องถิ่นที่ทำลายการพัฒนาท้องถิ่น ถนนหนทางในต่างจังหวัดที่ขาดคุณภาพ การกดขี่ขูดรีดของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เอาเปรียบชาวบ้าน ฯลฯ ปัญหาต่างๆเหล่านี้คือวิกฤติที่แท้จริงของประเทศและรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่มองข้ามไป 10. ถ้าหากรัฐบาลมองเห็นปัญหาของประชาชนในด้านคุณภาพชีวิตแล้วเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ ความนิยมก็จะสูงขึ้น ไม่ต้องไปคิดอะไรซับซ้อนยุ่งยาก ทุกวันนี้รัฐมนตรีและข้าราชการในระดับบริหารทำงานเช้าชามเย็นชาม ปล่อยให้ประชาชนวังเวง แล้วจะไปถามหาความนิยมชมชอบจากใคร 11. ไอทีวี ควรมุ่งเสนอปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างกระแสให้รัฐบาลหันสนใจทุกข์สุขของประชาชน เราอาจเห็นภาพของการทำงานอย่างคึกคักของบรรดาขิงแก่ทั้งหลายลงพื้นที่หรือสั่งการทำงานทั่วประเทศ 12. ในสมัยโบราณพระราชามีพ่อเมืองเป็นหูเป็นตาต่างพระเนตรพระกรรณ ส่งข่าวแจ้งสถานการณ์ให้ทราบเพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎร ทุกวันนี้รัฐบาลทำงานเหมือนคนตาบอด เหมือนไม่รับรู้ทุกข์สุขของประชาชน เพราะขาดหูขาดตาสอดส่องความเป็นอยู่ของประชาชน ผิดกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่บรรดาสส. นักการเมืองจะคอยตรวจสอบให้ 13. ดังนั้น สื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอทีวี ควรจะมีบทบาทในการเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งที่บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณของพระราชา 14. เมื่อสื่อมวลชนชี้เป้าให้เห็นความทุกข์และปัญหาของประชาชน รัฐบาลก็ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ลุล่วงหรืออย่างน้อยทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้ง นั่นแหละจึงจะได้ใจประชาชน |
การใช้สื่อเพื่อชัยชนะทางการเมือง บางทีก็ไม่ต้องใช้ไปทำลายฝ่ายตรงกันข้าม แต่ใช้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ก็ชนะได้ |