ราคาของ “พีทีวี” ประเมินค่าเท่าไหร่?

by kittinunn กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ยอมรับว่าท่ามกลางกระแสสังคม จับตามองการเปิดตัวฟรีทีวีผ่านดาวเทียมช่องใหม่ สำหรับเราเองแล้วในใจไม่อยากเขียนเรื่องนี้ เพราะดูเหมือนจะเป็นการให้ราคากันมากเกินไป (ถือเป็นการโฆษณาให้กับฝ่ายตรงข้าม) อีกทั้งไม่อยากให้รัฐบาลและ คมช.พยายามปิดกั้น แต่ให้เน้นการจับตามอง โดยมุ่งไปที่เนื้อหาและการจัดรายการของผู้ดำเนินรายการแต่ละราย

ซึ่งหากมีการดำเนินรายการส่อไปในทางความรุนแรง ก็สามารถใช้การลงโทษทางสังคม ควบคู่ไปกับอำนาจรัฐเช็คบิลในทันที วิธีการนี้ได้ผลกว่า อย่างเช่น “สมัคร สุนทรเวช” ที่จัดรายการหมิ่นประมาทต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กระทั่งเกิดกระแสต่อต้านจนสุดท้ายถูก “ท็อปบู๊ตลูกป๋า” ถีบลงจากหน้าจอได้อย่างง่ายดาย ไม่ถูกสังคมเคลือบแคลงสงสัยอีกต่างหาก

แม้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จะออกมาตักเตือนแล้วก็ตาม ในที่สุดสถานีโทรทัศน์ “พีทีวี” ของบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ที่มีนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยเป็นเจ้าของ ยืนยันว่าจะแพร่ภาพออกอากาศในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น. ซึ่งวันพรุ่งนี้จะเปิดให้ประชาชนสมัครสมาชิก เปิดจองหุ้น รวมทั้งเปิดสั่งจองจานดาวเทียม

การแถลงข่าวเปิดตัวพีทีวีเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ ย่านลาดพร้าว 94 เป็นไปด้วยความคึกคัก มีการเปิดตัวทีมข่าวและช่างภาพ พร้อมทั้งประชาชนฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทย นำดอกไม้มาให้กำลังใจ ซึ่งในงานมีการตั้งโต๊ะแจกใบจองหุ้นพีทีวีแก่ผู้เข้าร่วมงานและผู้สนใจ ในราคาหุ้นละ 100 บาท จำนวน 500,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

โดยแกนนำคนสำคัญของพีทีวีได้แก่ วีระ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ จักรภพ เพ็ญแข และณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวยืนยันถึงจุดยืนว่า เจตนาในการก่อตั้งสถานีเพื่อเป็นทางเลือกของประชาชน ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยปฏิเสธถึงการได้รับทุนสนับสนุนจากอดีตนายกฯ ทักษิณ พร้อมทั้งยังยืนกรานว่า หากเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและสั่งงดแพร่ภาพ ก็พร้อมที่จะตั้งทีมกฎหมายสู้คดี

ถึงกระนั้น ทั้งรัฐบาลและ คมช. ก็ยังแสดงความวิตกกังวลกับการเปิดตัวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องใหม่นี้ โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์” ย้ำอยู่เสมอว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้ตรวจสอบการแพร่ภาพ โดยหากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดี และหากพีทีวียังฝ่าฝืนออกอากาศอยู่ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเจ้าพนักงานก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

แม้จะมีฝ่ายพีทีวีออกมาโจมตีถึงการเลือกปฏิบัติ โดยกล่าวหาว่าสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีกระทำผิดกฎหมาย แต่กลับปล่อยให้ออกอากาศได้ทั้งที่ใช้ดาวเทียมดวงเดียวกัน ตรงนี้ก็ได้รับการชี้แจงว่า ในปัจจุบันที่เอเอสทีวีสามารถออกอากาศได้ เพราะคำสั่งศาลปกครองคุ้มครองอยู่ และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยไม่มีการถอนแจ้งความ

หลายฝ่ายจับตามองถึงสงครามสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้น และดูเหมือนว่าขณะนี้ทั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และพีทีวี จะนำสื่อทีวีเป็นเครื่องต่อรอง หรือเป็นไปเพื่อรับใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด นำไปสู่ความขัดแย้งของแต่ละฝ่ายซึ่งมีมากขึ้นตามมา

ปัญหาโทรทัศน์ดาวเทียม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน แต่ไม่มีการจัดระเบียบให้ถูกต้อง ซึ่งกฏหมายด้านกิจการกระจายเสียงยังมีช่องว่างอีกมาก เช่น คลื่นความถี่นอกประเทศ การผลิตรายการโทรทัศน์ในลักษณะ Content Provider โดนส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังอีกประเทศหนึ่ง ที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเจตนาในการออกอากาศผิดกฎหมายหรือไม่

บล็อกเกอร์หลายคนวิพากษ์วิจารณ์พีทีวีกันมามากพอสมควรแล้ว ในวันนี้จะวิเคราะห์รูปแบบรายการของพีทีวี ซึ่งจุดยืนในการทำหน้าที่สื่อ กับจุดขายของแต่ละสถานีแน่นอนว่าย่อมไม่เหมือนกัน ถึงกระนั้นเราก็ยังพบความแตกต่างที่เป็นจุดอ่อนของพีทีวีอยู่ดี ถ้าจะให้แข่งขันกับเอเอสทีวี หรือเนชั่นชันนัลในช่วงแรกๆ นี้ก็คงจะห่างชั้นกันพอสมควร

ซึ่งเป็นปกติของการทำทีวี ที่เมื่อเริ่มต้นมักจะมาจากจุดเล็กๆ ไปก่อน จึงค่อยขยับขยาย ในระหว่างนั้นเราอาจจะได้พบกับความขลุกขลักในการผลิตรายการบ้าง เนื่องจากฝ่ายผลิตรายการล้วนแล้วแต่หน้าใหม่ทั้งสิ้น เมื่อถึงจุดขยับขยายเมื่อนั้นเราอาจจะได้เห็นกลยุทธ์ของช่อง เพื่อสู้รบปรบมือกับสถานีข่าวที่มีอยู่หลายแห่ง

เนื้อหารายการของพีทีวีเท่าที่ทราบ ส่วนใหญ่เป็นรายการคุยข่าว ปะปนกับวิเคราะห์การเมือง โดยกลุ่มผู้บริหารสถานีเป็นพิธีกร นอกจากนี้ยังมีอดีตรักษาการ ผอ.รสพ.ในสมัยที่นายภูมิธรรม เวชยชัยเป็น รมต.คมนาคมอย่าง “ก่อแก้ว พิกุลทอง”รวมถึงอดีตทนายความส่วนตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ อย่าง “ธนา เบ็ญจาธิกุล” ต่างก็ร่วมเป็นพิธีกรในรายการของพีทีวีด้วยโดยรายการเท่าที่ได้รับการเปิดเผยมีดังต่อนี้

ในช่วง 6.00-8.00 น. รายการสถานีประชาชน โดยจตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ 8.00-10.00 น. รายการถนนสายประชาธิปไตย โดยวีระ มุสิกพงษ์ และก่อแก้ว พิกุลทอง 10.00-11.00 น. รายการหอกระจ่ายข่าว โดยอุสมาน ลูกหยี 15.00-16.00 น. รายการคลินิกหมอความ โดยธนา เบ็ญจาธิกุล

19.00-20.00 น. รายการโลกกว้างไกล เมืองไทยก้าวทัน โดยจักรภพ เพ็ญแข ต่อด้วย รายการอะไรก็การเมือง โดยวีระ มุสิกพงษ์ รายการตรงไปตรงมา โดยจตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลัง 23.00 น.จะรายการทั่วไป รีรันเทปรายการของจตุพร ณัฐวุฒิ และวีระที่เคยออกอากาศไปแล้ว

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-10.00 น. รายการหอกระจายข่าวสุดสัปดาห์ 15.00-18.00 น. ถ่ายทอดสด – รายการเพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวี เพื่อประชาชน โดยวีระ มุสิกพงษ์, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจักรภพ เพ็ญแข

ดูผังรายการแล้วอธิบายได้สั้นๆ ในฐานะที่บริโภคสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะสถานีข่าว การจัดรายการของพีทีวี ล้วนแล้วแต่จะเน้นไปกับรายการในห้องส่งมากจนเกินไป ขาดซึ่งความแตกต่างในรูปแบบการนำเสนอของแต่ละรายการ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าตามหลักการแล้ว การผลิตรายการในห้องส่งโดยไม่เน้นที่องค์ประกอบมากนัก เช่น ฉากหลัง หรือผู้ดำเนินรายการ มักมีต้นทุนการผลิตต่ำอยู่แล้ว พบเห็นได้บ่อย เช่น ช่องเอเอสทีวี 5 สุวรรณภูมิ ที่ทั้งสถานีมีอยู่ไม่กี่ฉาก และส่วนมากจะเป็นรายการคุยกันในห้องส่ง แต่หากมีการเพิ่มองค์ประกอบเข้าไป ต้นทุนจะสูงขึ้นไปอีก เช่น ฉากหลัง แขกรับเชิญ การถ่ายทำนอกสถานที่ การถ่ายทำภาพข่าวเพื่อนำมาประกอบเป็นอินเซิร์ซ

กับผู้ดำเนินรายการซึ่งส่วนมากเป็นผู้บริหารสถานี แกนนำพรรคไทยรักไทย ฝ่ายที่ใกล้ชิดและให้การสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ถ้าไม่พูดถึงที่มาที่ไปของแต่ละคน รายการเด่นส่วนใหญ่จับทางเดาได้ว่า จะต้องมีแต่รายการคุยข่าว วิเคราะห์การเมืองล้วนๆ หลายรายการกินเวลานาน สูงสุดตั้ง 2-3 ชั่วโมง พอๆ กับการจัดรายการวิทยุชุมชน ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มองหน้าจอแต่ก็ฟังไปพลางๆ ได้ เพราะพิธีกรเอาแต่พูด

(เห็นแบบนี้แล้วทำวิทยุไม่ง่ายกว่าหรือ ไม่ต้องลำบากออกกล้องด้วย หรือกลัวไม่ได้หน้าหว่า…?)

อีกทั้งด้วยผู้ดำเนินการแต่ละคนล้วนมีฝีปากกล้า โดยเฉพาะนายจตุพรที่ออกอาการไม่กลัวตาย บางครั้งก็อย่าได้แปลกใจ ที่หากสมมติว่าวันใดวันหนึ่ง พิธีกรพูดจาอะไรออกไป หรือการดำเนินรายการเริ่มมีการล้ำเส้นมากเกินไป มักจะถูกทางการดำเนินการ ทั้งจับกุมหรืองดออกอากาศ แล้วสุดท้ายก็มักจะอ้างว่าถูกริดรอน และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ

อย่าลืมว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์เฉพาะบุคคล และทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีขอบเขตแทบทั้งสิ้น

ถ้าจะถามว่ารายการพีทีวีบริโภคได้ไหม ตรงนี้ในเมื่อรายการยังไม่ได้ออกอากาศ ก็ไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ แต่ถ้าจะดูถึงผู้ดำเนินรายการ ในเมื่อจักรภพ เพ็ญแข ทำหน้าที่ได้พอสมควรในรายการ Fact No Fiction ทางนิวส์ 24 ช่องทรูวิชั่นส์ 07 (ยูบีซีนิวส์ 07 เดิม) กับการวิเคราะห์สถานการณ์รอบด้านในต่างประเทศ รายการโลกกว้างไกล เมืองไทยก้าวทัน ในช่วงเวลาไพร์ทไทม์ถือว่าน่าสนใจ

แต่กับรายการอื่นฟังหูไว้หูได้จะเป็นดี

เคยเห็นลีลาการจัดรายการ “คุยข่าวมันส์” ของจตุพรและณัฐวุฒิ ทางทีเอทีวี ยูบีซี 09 ในช่วงปีที่ผ่านมา หรือรายการในช่องเอ็มวีวันที่มี “สมัคร สุนทรเวช” หรือจะเป็น “ชูพงศ์ ถี่ถ้วน” คอยปลุกระดมอยู่บนหน้าจอด้วยน้ำเสียงสูงต่ำและดุดัน ใช้วาจาแดกดัน เชื่อว่าชนชั้นกลาง หรือผู้บริโภคข่าวสารรับไม่ได้แน่นอน ถ้าหากนึกจะจัดรายการในสไตล์เช่นนี้

เพราะคนเรามักจะดูเหตุผลเป็นส่วนประกอบ การใส่อารมณ์ในเนื้อหาของรายการมากเกินไป ถ้าไม่ใช่รายการเบาสมองย่อมไม่เป็นผลดีแน่นอน หากผู้ชมไม่ใช่คนที่มีแนวความคิดไปในทางเดียวกับผู้ดำเนินรายการ

ถึงกระนั้นเอเอสทีวีกับเนชั่นแชนนัล ไม่ต้องกลัวหรือหวาดวิตกกับพีทีวีมากนัก เพราะยังไงแนวทางการผลิตรายการคนละอย่างกัน และเชื่อว่าคนที่ชมรายการของทั้งสองช่องดังกล่าว ยอมรับกับการนำเสนอรายการของสถานี ขอเพียงแค่ทำหน้าที่อย่างคงเส้นคงวา และนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอ

เราเชื่อว่าผู้ชมทางบ้านจะเป็นคนตัดสินได้เอง ว่าพีทีวีสมควรได้รับความเชื่อถือจากคนดูหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่สถานีโทรทัศน์ระบายอารมณ์ ของคนที่มีอาการ “อกหัก” และ “น้ำ(ลาย)ท่วมปาก” เท่านั้นเอง !!!

26 กุมภาพันธ์ 2550

แท็ก คำค้นหา