คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ขณะที่คณะผู้จัดตั้งพีทีวี ทีวีผ่านดาวเทียมช่องใหม่ซึ่งล้วนเป็นคนหน้าเดิมของพรรคไทยรักไทย ยืนยันเดินหน้าเผยแพร่รายการออกอากาศให้ได้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้
กรรมการพรรคประชากรไทยก็ออกมาฟ้องนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่อนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ถ่ายทอดรายการยามเฝ้าแผ่นดินของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ว่า ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ข้างอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้จัดทำพีทีวี ฐานเผยแพร่รายการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำเนินการกับโทรทัศน์เอเอสทีวีของเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาแล้ว ต่อมาผู้ดำเนินการเอเอสทีวีร้องต่อศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เผยแพร่ต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้จัดตั้งพีทีวีดำเนินรอยตามบ้าง ไม่สนใจว่ากรมประชาสัมพันธ์จะแจ้งความดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น ปัญหาข้อกฎหมายจากการเผยแพร่รายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังติดตามว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร แต่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือเนื้อหาสาระของรายการ ระหว่างเอเอสทีวีกับพีทีวี จะส่งผลสะเทือนทางการเมืองต่อไปแค่ไหน แต่ละวันต่อจากนี้ไป เราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้รับข่าวสาร ซึ่งตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามข่าว จะมีวิธีคิดและปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพีทีวี แม้ประกาศไปทั่วบ้านทั่วเมืองว่า งานนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยก็ตาม ผมอยากรู้ว่ามีใครบ้างที่เชื่อ ในเมื่อความเป็นจริง แต่ละคนล้วนสวมเสื้อไทยรักไทยมาก่อนทั้งสิ้น ในทางการเมืองงานนี้จึงเป็นการดิ้นรนต่อสู้ เมื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวในเวทีพรรคการเมือง เนื่องติดขัดที่ประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 15 และ 27 เลยหาทางแสดงออกในเวทีสื่อสารมวลชน แต่เมื่อออกตัวด้วยการปิดบังหรือปฏิเสธความจริง พูดอย่างทำอย่าง ไม่ต่างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียแล้วเช่นนี้ ศรัทธาก็ไม่เกิด เพราะบั่นทอนความเชื่อถือในตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น การเปิดรายการทีวี มองในแง่สิทธิพื้นฐานการสื่อสาร การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ตราบใดที่ไม่ได้ปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ไม่ละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคม ย่อมเป็นสิทธิ |
ถึงแม้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีโอกาสชี้แจงในทันที แต่เมื่อบุคคลนั้นๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งการทำหน้าที่มีผลต่อสังคมส่วนรวม หรือเป็นบุคคลสาธารณะเช่นนักการเมือง ต้องยอมรับการติดตามตรวจสอบ
ขณะเดียวกันมิใช่ว่าท่านเหล่านี้จะหมดสิทธิเรียกร้องโอกาสการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเอง ผู้จัดรายการต้องเปิดโอกาสให้ในทันที เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่ทำเช่นนั้นต้องยอมรับการตกเป็นจำเลยในข้อหาฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ก็ตาม มองในด้านผู้บริโภค การมีรายการทีวีมากมายจึงเป็นทางเลือกที่จะรับ หรือไม่รับช่องไหน รายการใด โดยผู้รับจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า จะเชื่อถือข่าวสารข้อมูล และความคิดเห็นของฝ่ายใดมากกว่า ผู้รับสาร เป็นคนตัดสิน ว่างั้นเถอะ ฉะนั้น ในมุมมองของผม ไม่ว่าช่องไหน รายการอะไรที่มีสาระ ยามเฝ้าแผ่นดิน ข่าวข้นคนข่าว ฯลฯ ให้เผยแพร่ออกมาเถอะครับ นอกจากจะเป็นโอกาสให้ผู้รับมีข่าวสารหลากหลายให้เลือกแล้ว ในส่วนของสื่อมวลชนนอกจากทำให้เกิดการแข่งขัน ยังเป็นการตรวจสอบ ควบคุมระหว่างสื่อด้วยกันเอง ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะผลิตรายการที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อผู้รับได้ดีกว่ากัน และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ทำรายการเพื่อประโยชน์ของใคร ของตนเอง ของสถานี ของเจ้าของเงิน หรือประโยชน์สาธารณะ ใครคือสื่อแท้ ใครคือสื่อเทียม ใครรับทรัพย์ใครมาทำ เปิดเเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้มากกว่ากัน การแสดงออกที่ปรากฏจึงไม่อาจปิดบังจิตเจตนาที่แฝงลึกอยู่ในใจได้เลยว่า แท้จริงแล้วทำเพื่อใคร ยิ่งไม่สามารถตอบได้ว่า ทุนดำเนินการมาจากไหน จำนวนเท่าไร ผู้คนยิ่งสงสัย ย่อมส่งผลต่อความเชื่อถือและการอยู่รอดต่อไปอย่างแน่นอน เมื่อทำโดยมีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจ ข้อมูล ข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป ถึงจะมีคุณภาพเพียงไรก็ตาม ย่อมถูกสงสัยในความเป็นกลางตลอดเวลา บทเรียนในประวัติศาสตร์มีให้เห็นมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเบี่ยงเบน บิดเบือนไปจากปรัชญาพื้นฐานของความเป็นสื่อเพื่อมวลชนที่แท้จริง แต่เป็นสื่อเพื่อคนส่วนน้อย รับใช้นายเงินยิ่งกว่าส่วนรวมแล้ว ล้วนมีอันเป็นไปในที่สุดทั้งสิ้น ที่มา : มติชน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10579 หน้า 2 |