คอลัมน์คิดนอกกรอบ เดินนอกเกม
โดย อภิวัติ
ภาษิตที่ว่า อย่ามองข้ามคนที่แลดูเรียบๆ ธรรมดาๆ กระทั่งมองว่าหน่อมแน้ม ยังใช้ได้ดีอยู่
ไอเดียของประธาน คมช. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่อยากได้ดาวเทียมไทยคมคืนจากเทมาเส็ก ไม่ใช่ความคิดคลั่งชาติ หรือไม่รู้เรื่องรู้ราวธุรกิจนานาชาติแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเปิดตัว “พีทีวี” ของกลุ่มผู้บริหารพรรคไทยรักไทยที่รัฐบาลพยายามหาทางสกัดกั้นด้วยวิธีการทางกฎหมาย ภาพที่ปรากฏสู่สาธารณะจากการนำเสนอข่าว ย่อมมิใช่มีเพียงมิติเดียวอย่างที่เห็น ทั้งสองเรื่องจึงเป็น “ยุทธศาสตร์การเมือง” ด้วยกันทั้งสิ้น ภายใต้ความกังวลหรือข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย กฎหมาย และการลงทุนของต่างชาติ ที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน แนวคิดทั้งหมดนี้ต่างก็ยอมรับว่า สื่อในอากาศนั้นคือ จอมอิทธิพลอย่างแท้จริง ! อัลวิน ทอฟเฟลอร์ นักอนาคตศาสตร์ เขียนเอาไว้ในหนังสือชื่อ “สงครามและสันติภาพในศตวรรษ ที่ 21” ตอนหนึ่งในเรื่องอิทธิพลของสื่อทางอากาศว่า “อิทธิพลของโทรทัศน์และเคเบิลทีวีเริ่มปรากฏชัดในปี 1991 CNN จุดพลุให้จอร์จ บุช กลายเป็นฮีโร่ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่หลังจากนั้นอีกเพียงปีเดียว จอร์จ บุช ผู้พ่อก็แพ้บิล คลินตัน ในการลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดี เพราะสื่อทีวีแสดงให้เห็นว่าบิล คลินตัน ดูหนุ่ม สดใส สนใจเศรษฐกิจภายในประเทศ และดูมีพลังมากกว่าบุชอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่รอส เปโรต์ นักการเมืองหน้าใหม่ ไม่สังกัดพรรค แต่มีหุ้นใน CNN สามารถใช้กล้องทีวีสนองการหาเสียงของเขาได้ถี่ยิบยิ่งกว่าผู้สมัครคนใด จนกลายเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้รับเลือกเป็นที่ 3 คะแนนมากที่สุดในประวัติศาสาตร์สหรัฐ สื่อทีวีมีพลังมากมายมหาศาล พวกเขาสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลจอร์จ บุช ผู้พ่อได้ด้วยการเคลื่อนย้ายกล้องไปจับวิกฤตการณ์หนึ่งเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ จากเรื่องภาษี มาเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น ความรุนแรงเรื่องการเหยียดผิว อาชญากรรม ส่วนที่เป็นจุดเปราะของรัฐบาล นักการเมืองพากันหัวปั่นไปกับการตอบโต้ ขณะเดียวกัน ข้อหาข้อพิพาทต่างๆ ก็ไหลตามมาอยู่ทุกวัน และยากที่จะสร้างภาพให้ดูดีกว่าคู่แข่งที่ยังไม่ได้เริ่มทำอะไร |
แต่กรณีของบุช-คลินตัน นั้นเก่าไปแล้ว การใช้สื่อทางโทรทัศน์และเคเบิลทำให้อำนาจของรัฐถูกลดทอนลง
อำนาจของรัฐสภาและศาล เป็นผลงานของคลื่นลูกที่หนึ่ง อำนาจของคณะรัฐมนตรีและองค์กรข้าราชการขนาดยักษ์ หรือพรรคข้าราชการเป็นผลงานของคลื่นลูกที่สอง สื่อที่เหนือไปกว่าโทรทัศน์คือ เคเบิลทีวี การกระจายเสียงเจาะผู้รับเป้าหมายผ่านดาวเทียม เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอื่นๆ จะเป็นผลิตผลของคลื่นลูกที่สาม ความรู้คือทรัพยากรหลักทางเศรษฐกิจ เครือข่ายสื่อดาวเทียม สื่ออิเล็กทรอนิก คอมพิวเตอร์ อี-เมล กลายมาเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์กำลังถูกลดบทบาทลง และกำลังจะถูกแทนที่ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกที่รวดเร็วกว่า ผู้เป็นเจ้าของความรู้ และเจ้าของช่องทางสื่อสารก็จะกรูกันเข้ามายึดกุมอำนาจทางการเมือง ผู้ที่กำลังเล่นกับสื่อชนิดใหม่เหล่านี้คือเหล่าชนผู้ท้าทายชนชั้นสูงและขุมอำนาจเดิม ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเปลี่ยนรูปโฉม” ไอเดียของประธาน คมช. นั้นมันทำให้ดูเหมือนการปลุกกระแสชาตินิยม ความพยายามที่จะเอาคืนดาวเทียมไทยคม ฟังดูเป็นความคิดเรียบๆ ซื่อๆ และตรงไปตรงมา คือไม่อยากให้ทรัพยากรสำคัญนี้ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ใครจะไปคิดว่า นี่คือยุทธศาสตร์หนึ่งทางการเมืองและการทหาร เช่นเดียวกับที่อดีตนายกฯทักษิณรู้ และสร้างอำนาจอิทธิพลด้วยเครื่องมือเหล่านี้มาตลอด 5 ปี ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้อิทธิพลของเขาก็ยังไม่หมดไปและซึมซับลงไปถึงรากหญ้าจนยากที่ถอดถอน เช่นเดียวกับที่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” รู้อิทธิพลของเขาใน “ผู้จัดการ” และเอเอสทีวี มีส่วนสำคัญอย่างมากในการ “โค่นทักษิณ” สามารถจะรวบรวมผู้คนเป็นกลุ่มก้อนตามไล่บี้ทักษิณ และทำให้รัฐบาลทหารไม่อาจจะละเลยความคิดเห็นของพวกเขาได้เลย จนกระทั่งทุกวันนี้ |
กระแสโจมตี พล.อ.สนธิ เรื่องทวงคืนดาวเทียมจากหลายๆ ฝ่ายนั้นแทบจะมองข้ามจุดนี้ไปเป็นส่วนใหญ่
ทำให้ผู้คนมองว่า คณะ คมช.และรัฐบาลชุดนี้ล้วนอ่อนด้อยประสบการณ์และเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง เฉพาะเรื่องสื่อก็ถูกท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์เคเบิล พีทีวี ของกลุ่มนักการเมืองในพรรคไทยรักไทย ที่จะต้องเบิกโรงให้ได้ภายในวันที่ 1 มีนาคมนี้ สกัดดีไม่ดีก็จะเสียรูปมวยไปเปล่าๆ สมัยป๋าเปรม เราเคยมีประชาธิปไตยครึ่งใบ สมัยบิ๊กบัง เราก็มีเผด็จการแค่ครึ่งใบเหมือนกัน เก๋ไปอีกแบบ! ที่มา : มติชน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10578 หน้า 11 |