โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อสมท. มิใช่มีเพียงช่อง ๙ !
คนส่วนมากยังเข้าใจว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ คือ อสมท. แต่ความจริง อสมท. คือหน่วยงานที่มีโทรทัศน์มากกว่า ๑๐ ช่อง คือ ช่อง ๙ (อสมท.) ช่อง ๓ (อสมท.) และช่องยูบีซี อีกมากกว่า ๑๐ ช่อง นอกจากนี้ ยังมีวิทยุอีกมากกว่า ๖๐ สถานี ทั้งระบบเอฟเอ็ม (FM) และเอเอ็ม (AM)
ถ้าจะพูดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อสมท. คือ องค์กรที่แต่เดิมเป็นองค์กรของรัฐ ของหลวง ของประชาชน จึงได้รับจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์มากมาย โดย อสมท.ได้บริหารคลื่นความถี่ ทำสถานีโทรทัศน์วิทยุเองบ้าง ทำรายการเองบ้าง ให้คนอื่นมารับเหมา เป็นสัมปทานไปบ้าง อย่างเช่น ให้เอกชนรับสัมปทานไปทำ ช่อง ๓ (อสมท.) ยูบีซี และวิทยุอีกหลายสถานี
อสมท. มีรายได้จากอะไรบ้าง?
รายได้ของ อสมท. มากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นรายได้จากค่าสัมปทาน ค่าใช้คลื่นของรัฐ ค่าเช่าเวลา หรือชาวบ้านเรียกว่า “ค่าต๋ง” ที่เหลือจึงเป็นรายได้จากการประกอบกิจการการจริงๆ ที่เป็นฝีมือ น้ำพักน้ำแรง บนลำแข้งของคน อสมท. อสมท. เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นบริษัทเอกชน ? อสมท. ชื่อเดิมว่า “องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นหน่วยงานของรัฐ เรียกว่า รัฐวิสาหกิจ เป็นนิติบุคคล พนักงานผู้ปฏิบัติงานก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต่อมาในยุคทักษิณ คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ตามนโยบายหรือการรู้เห็นเป็นใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ และได้ยกเลิกองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ที่เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ ได้ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ เป็นบริษัทที่ขายหุ้นให้คนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ เรียกชื่อใหม่ว่า “บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)” นำหุ้น ไปขายให้กับประชาชนคนไทย และสิงคโปร์ และพนักงาน อสมท. รวมกันทั้งหมดประมาณ ๒๓% หุ้นส่วนที่รัฐบาลไทยถือเหลืออยู่เพียง ๗๗% สรุป คือ ปัจจุบันหน่วยงานนี้ เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีเอกชนคนไทยและต่างชาติถือหุ้น ร่วมลงทุน ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย |
บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เอารายได้ค่าสัมปทานของรัฐ มาแบ่งเป็นเงินปันผล และโบนัสของพนักงาน ด้วยหรือ?
เดิม เงินค่าสัมปทานของเอกชนในการใช้คลื่นโทรทัศน์วิทยุของสาธารณะ เช่น ช่อง ๓ (อสมท.) ยูบีซี และวิทยุหลายสถานี ต้องจ่ายเงินให้รัฐบาล (กระทรวงการคลัง) โดยจ่ายผ่านไปที่ อสมท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นรัฐวิสาหกิจ แล้ว อสมท. ก็ต้องจ่ายทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง แต่เมื่อองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แปลงตัวเองเป็นบริษัทมหาชน คือเป็นเอกชน ก็ได้นำรายได้จากสัมปทานทั้งหลายทั้งหมดมาเป็นรายได้ของบริษัท แล้วนำกำไรมาแบ่งปันเป็นโบนัสให้พนักงานส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นกำไรจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งเท่ากับว่า เอาค่าสัมปทานมาเฉลี่ยจ่ายให้เอกชนผู้ถือหุ้นในรูปแบบเงินปันผลไปด้วย ถึง ๒๓% รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ก็ได้รับเพียง ๗๗% ของค่าสัมปทานที่เคยและที่ควรจะได้รับ และเมื่อ อสมท. เป็นบริษัทมหาชน เป็นเอกชนแล้ว ก็ยังไม่ได้จ่ายค่าสัมปทานการใช้คลื่นและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ ให้แก่รัฐ เหมือนเอกชนรายอื่นๆ เช่น ไอทีวี ช่อง ๓ ช่อง ๗ และยูบีซี บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จะอ้างว่า ไม่จ่ายค่าสัมปทาน (ค่าใช้คลื่นวิทยุโทรทัศน์) แต่จ่ายกำไรให้แทน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะกำไรถูกแบ่งไปให้เอกชนในประเทศและต่างชาติ ๒๓% ซึ่งเท่ากับเอาค่าสัมปทานของช่อง ๙ ไปแบ่งให้เอกชนด้วย ถ้ามีการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของการมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.๒๕๔๓ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ยังจะได้คลื่นโทรทัศน์และวิทยุเหมือนเดิม จำนวนเท่าเดิม คือ มีโทรทัศน์มากกว่า ๑๐ ช่อง วิทยุมากกว่า ๖๐ ช่อง เหมือนเดิมไหม ? เจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ คือ การกระจายการถือครองคลื่นไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่ใด และจัดประเภทของสื่อว่าคลื่นใดเป็นประเภทสาระ ประเภทใดบันเทิง ประเภทใดไปหาเงินทางธุรกิจ ประเภทใดห้ามโฆษณาหาเงิน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สังคมได้รับผลประโยชน์ ได้รับความรู้ ข่าวสาร เป็นการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชน ในอนาคต เมื่อมีคณะกรรมการ กสช. ดำเนินการจัดสรรคลื่นใหม่ตามกฎหมาย บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) คงจะไม่ได้คลื่นโทรทัศน์และวิทยุมากขนาดนี้ คณะกรรมการ กสช. อาจให้โทรทัศน์อย่างมาก ๑ คลื่น วิทยุ ๑ คลื่น คงไม่ให้ล้นเกินเพื่อไปหาค่าต๋ง ค่าสัมปทาน และยังอาจกำหนดให้คลื่นนี้เป็นเหมือนบีบีซีของอังกฤษ (BBC) หรือพีบีเอสของสหรัฐอเมริกา (PBS) คือ ห้ามมีโฆษณา และให้เป็นสถานีข่าวและสาระเท่านั้น ก็ได้ |
ถ้าอย่างนั้น แน่นอนว่า หุ้นบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จะต้องมีราคาตกลงแน่ๆ และเรื่องนี้โทษใครไม่ได้ นอกจากต้องโทษการบริหารภายใต้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ที่ใช้วิธีเสมือนว่า หลอกให้ประชาชนไปซื้อหุ้น เพราะต้องการขายหุ้นเอาเงินมาใช้ก่อน ผู้ถือหุ้นจึงเป็นเสมือนตัวประกันที่ถูกจับตัวไว้ข่มขู่ คณะกรรมการ กสช.
มิหนำซ้ำ เงินค่าหุ้นที่ขายได้ ก็ไม่ได้ใช้ตั้งสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษถ่ายทอดไปทั่วโลกอย่างที่เคยคุยไว้ แต่ได้มีการซื้อที่ดิน ๕๐ กว่าไร่ บริเวณถนนรัชดา ติดกับที่ดินคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ใช้เงินไปมากกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนรายใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไปเอาคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ มาจากไหน ? และไปเอาใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ มาจากไหน ? บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) คงอ้างว่า ได้โอนคลื่นความถี่ฯ และใบอนุญาตประกอบการ มาจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๔๓ ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อไม่ให้มีการจัดสรรคลื่นใหม่ ออกใบอนุญาตใหม่ หรือโอนคลื่น โอนใบอนุญาตกันเอง ก่อนจะมีคณะกรรมการ กสช. เข้ามาจัดสรร จึงระบุไว้ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี กสช. ห้ามมิให้มีการดำเนินการใดๆ ข้างต้น และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐผู้เป็นเจ้าของคลื่นและสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทำสัญญาใดๆ ผูกมัดในระยะเวลามากกว่า ๑ ปี |
การนำคลื่นความถี่โทรทัศน์วิทยุและใบอนุญาตฯ ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ซึ่งเป็นนิติบุคคลหนึ่ง ไปยกให้บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเอกชนคนไทยและสิงคโปร์ถือหุ้น จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย!
แม้จะอ้างว่า พ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้อำนาจการโอนไว้ ก็ไม่น่าจะใช่เสียทั้งหมด เพราะ พ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ ที่บังคับใช้ในขณะนั้นหาได้ไม่ การจะโอนคน โอนพนักงาน โอนข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่มีกฎหมายอื่นบัญญัติห้ามไว้ก็น่าจะได้ แต่การโอนคลื่นความถี่และใบอนุญาตที่มีกฎหมายระบุชัดเจนย่อมจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ เป็นสมบัติสาธารณะที่ได้จัดสรรไว้ให้กับหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์เพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ จะนำไปโอนให้บริษัทเอกชนที่ชื่อ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เพื่อแสวงหากำไร ย่อมไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายมหาชน ดังเช่นกรณีของการขายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ ควรดำเนินการอย่างไร? ในเมื่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขสิ่งไม่ถูกต้องในระบอบทักษิณ หรือสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำผิดพลาดเสียหายเอาไว้ รัฐบาลชุดนี้ก็น่าจะดำเนินการ ดังนี้ ๑) เร่งแปรสภาพบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กลับมาเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วยตัวเอง หรือ จะรอให้มีผู้บริโภคฟ้องร้อง นำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง เพื่อให้มีคำพิพากษาตัดสินก็ได้ ๒) คืนเงินค่าหุ้นแก่ประชาชนที่หลงซื้อหุ้นเพราะเข้าใจผิด แต่ไม่ควรคืนเงินแก่ผู้บริหารซึ่งวางแผนกระทำผิด ได้แก่ ผู้บริหาร อสมท. และนิติบุคคลบางแห่งที่เป็นตัวแทนเชิด (Nominee) เข้าซื้อหุ้น อสมท. ๓) เอาผิดทางอาญากับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในฐานะเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รู้เห็นกับการดำเนินการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว เมื่อ “รัฐบาลอธรรม” บังอาจแปลงสัมปทานของรัฐ แปลงผลประโยชน์ของแผ่นดินไปเป็นผลประโยชน์ของเอกชน “รัฐบาลคุณธรรม” ก็ควรจะต้องเร่งทวงคืนผลประโยชน์ของแผ่นดินกลับมาสู่ประชาชนส่วนรวมโดยเร็ว |