ภัทมัย อินทจักร
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อันส่งผลให้มาตรา 40 ที่คุ้มกะลาหัววิทยุชนชุมชนทั้งแท้และเทียม สิ้นสุดลงชั่วคราว โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 วิทยุชุมชนทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและแม่ฮ่องสอน ก็ได้รับหนังสือวิทยุในราชการทหารด่วนที่สุด ที่ กห 0483.64/1069 ให้ระงับการออกอากาศ และต้องให้ความร่วมมือและถือปฏิบัติตามข้อสั่งการของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 อย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และหนังสือที่ กห.0483/ศปชส.01 ลงวันที่ 24 กันยายน 2549 ให้วิทยุชุมชนทุกแห่งในภาคเหนือระงับการออกอากาศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และให้จัดส่งข้อมูลของสถานีในด้านต่างๆ ให้กับกองทัพภาคที่ 3 โดยด่วน เพื่อจะนำไปพิจารณาอนุญาตให้เปิดออกอากาศในภายหลัง โดยอ้างว่าวิทยุชุมชนบางแห่งแสดงความคิดเห็นต่อต้านคณะปฏิรูปการปกครองฯ จนสร้างความแตกแยกและไม่สร้างสรรค์ อีกทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดในภาคเหนือ ยังสำทับว่า วิทยุชุมชนมีปัญหามากมาย ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และยังมีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลัง อย่างน้อยคนละ 1 สถานี ต่ออำเภอ (ผู้จัดการออนไลน์, 27 กันยายน 2549)
ทั้งนี้ ในส่วนของสามจังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ก็ได้มีการประชุมหารือในนามของสมาพันธ์วิทยุชุมชนภาคเหนือตอนบน เมื่อ 23 กันยายน 2549 เพื่ออุทธรณ์ต่อกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 33 ในการที่จะขอเปิดดำเนินการต่อไป โดยสัญญาว่าจะไม่กระทำการในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพ แถมยังจะล่ารายชื่อวิทยุชุมชนที่ดื้อแพ่ง ไม่ยอมปิด เสนอต่อทหารให้จัดการต่อไป (ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีสิทธิ์จะไปเรียกร้อง หรือ เสนอให้จัดการกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้) ประกอบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนในภาคกลางและภาคตะวันออก ในนามของ สภาวิทยุประชาชน และสมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุชุมชน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อ คปค. ว่าขอทราบนโยบายและขอการสนับสนุนให้เปิดบริการวิทยุชุมชนตามปกติ โดยอ้างว่า คปค.ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงอยากให้วิทยุชุมชนดำเนินการได้ตามปกติ (mcot.net, 25 กันยายน 2549)
น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวที่จะขอเปิดดำเนินการวิทยุชุมชนต่อไป ของกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุชุมชนดังกล่าว เป็นกลุ่มวิทยุชุมชนเชิงธุรกิจเป็นหลัก คือ เป็นวิทยุชุมชนที่มีโฆษณา และแสวงหากำไรเชิงธุรกิจ ไม่ได้เป็นวิทยุชุมชนที่เป็นตัวจริงเสียงจริง โดยเราจะเห็นได้ว่าทางสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และเครือข่ายวิทยุของภาคประชาชน ที่เป็นสื่อวิทยุของชาวบ้านจริงๆ ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้สามารถกลับมาออกอากาศตามปกติ เนื่องเพราะส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือกับทางทหารเป็นอย่างดี และไม่สนใจว่าจะไม่สามารถทำมาหากินได้ จึงขออยู่เฉยๆ รอดูสถานการณ์ไปก่อน ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มวิทยุชุมชนแอบแฝง ที่ต้องหาทางดิ้นรนขอเปิดดำเนินการ เพราะขาดรายได้ และถูกทุบหม้อข้าวที่ใช้หากินกันมาหลายปี ในความเป็นจริงที่รับฟังจากคนรอบข้างได้พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำสั่งยุติการดำเนินการของวิทยุชุมชนเป็นการชั่วคราวไปก่อน เนื่องจากทุกวันนี้มีแต่คลื่นขยะธุรกิจเต็มหน้าปัดวิทยุ ทั้งยังส่งสัญญาณรบกวนคลื่นวิทยุหลัก รบกวนกันเอง และใช้คลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงและทับซ้อนกัน ประกอบกับการใช้กำลังส่งที่สูงมากตั้งแต่หลายร้อยจนไปถึงหลายพันวัตต์ ทั้งที่ตามกติกาเขาให้วิทยุชุมชนใช้กำลังส่งเพียงแค่ 30 วัตต์เท่านั้น ปรากฏการณ์ทะเลคลื่นวิทยุดังกล่าว โดยฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ จึงรบกวนกันเองและสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ฟังจำนวนมาก ที่ยังคงชื่นชอบสื่อกระแสหลักหรือคลื่นวิทยุคลื่นหลักที่มีมาแต่เดิมต่อไป โดยไม่สนใจคลื่นทางเลือกอย่างวิทยุชุมชน (เชิงธุรกิจ) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นดอกเห็ด ดังนั้นพวกเขาจึงกล่าวว่า ช่วงนี้ฟังวิทยุแล้วรู้สึกโล่งหูขึ้นเยอะ ไม่มีคลื่นเล็กคลื่นน้อยที่มารบกวนโสตประสาทอีกต่อไป (แต่ก็อดน้อยใจแทนวิทยุชุมชนตัวจริงไม่ได้ ที่ไม่มีใครเสียดายว่าวิทยุชุมชนถูกสั่งปิดไปแล้ว) |
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางทหารได้อนุญาตให้วิทยุชุมชนกลับมาเปิดออกอากาศได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยยังคงมีสถานีบางแห่งที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ และยังคงย้ำว่าไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และต้องให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดการแถลงข่าวของ คปค.
ในทางกลับกัน คลื่นวิทยุชุมชนตัวจริง ที่เป็นสื่อทางเลือก เพื่อเสรีภาพในการสื่อสารตามมาตรา 39 และ40 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ก็กลับถดถอยและอ่อนล้าพลังในการต่อสู้เพื่อชุมชนลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากขาดการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในเรื่องบุคลกร การบริหารการจัดการ และการผลิตรายการที่ดี ประกอบกับเรื่องที่สำคัญยิ่งก็คือเรื่องของทุนหรืองบประมาณในการดำเนินงาน จากการสังเกตการณ์ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า วิทยุชุมชนหลายแห่งได้แตกความคิดออกเป็นสองแนวทางใหญ่ โดยแนวทางแรกยังคงต้องการคงความเป็นสื่อของชุมชนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นตามอุดมการณ์ดั้งเดิม แต่อีกแนวทางหนึ่งกลับมองว่าปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินการออกอากาศนั้นเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง จึงจำเป็นต้องหารายได้จากแหล่งทุนภายนอกเข้ามาบ้าง เช่น การหาโฆษณาเข้ามาเพื่อเป็นทุนหล่อเลี้ยงสถานี ลำพังแต่ทุนบริจาคและการทำงานแบบอาสาสมัครก็คงไม่ไหว ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และอาจต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ถ้าไม่มีรายได้เข้ามาบ้าง ก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้ แต่หลังจากนั้นก็ค้นพบว่า การจะหารายได้จากการโฆษณานั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากหาสปอนเซอร์ไม่เป็นหรือสปอนเซอร์หรือเจ้าของสินค้าไม่สนใจที่จะลงโฆษณาในวิทยุชุมชน เนื่องจากคลื่นวิทยุของชาวบ้านนั้นใช้กำลังส่งต่ำ ฟังชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ใครที่ไหนจะมาลงโฆษณา และที่สำคัญคือ วิทยุชุมชนเชิงธุรกิจได้แย่งชิงลูกค้าไปหมดแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่า วิทยุชุมชนแนวทางที่สองได้เดินตามรอยสื่อวิทยุกระแสหลัก โดยลืมนึกไปว่าสื่อชุมชนที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเหมือนคนอื่น ควรจะเป็นรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนที่แท้จริงมากกว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงอยากสะท้อนว่า รัฐได้มอบอำนาจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการสื่อสารมาให้กับชาวบ้านแล้ว (โดยเฉพาะในเรื่องของคลื่นความถี่ ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม) แต่ยังขาดการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งและองค์ความรู้ในเรื่อง การดำเนินการ การบริหารจัดการ การผลิตรายการ และงานทางด้านเทคนิคอย่างจริงจัง จึงส่งผลให้การดำเนินงานทางด้านวิทยุชุมชนของไทย ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีแต่ปัญหามากมาย อันเป็นช่องทางให้นักธุรกิจและนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ต่างก็เข้ามากอบโกยและแสวงหาผลประโยชน์จากสื่อชุมชนของชาวบ้านสื่อนี้ และที่กล่าวกันว่า ตัวเลขของจำนวนสถานีวิทยุชุมชนในปัจจุบันอาจมีมากถึงสามถึงสี่พันสถานีฯ แต่ถ้าจะนับว่าเป็นวิทยุชุมชนตัวจริงเสียงจริงแล้ว คงมีแค่หลักร้อย ที่เหลืออยู่ก็เป็นแค่วิทยุธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เข้ามาอาศัยชื่อวิทยุชุมชนหากินกันไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ขึ้นมาจัดระเบียบต่อไป |
ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่มีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ถ้าหากผู้มีอำนาจต้องการสานต่อเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ก็ขอให้สานต่อมาตรานี้ต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนวิทยุชุมชนตัวจริงก็ต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเองและสรุปบทเรียนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแกนนำวิทยุชุมชนท่านหนึ่งที่บอกว่า ที่ผ่านมาได้มีนักศึกษา นักวิชาการถอดองค์ความรู้จากวิทยุชุมชนไปเยอะมาก แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ส่งคืนความรู้นั้นกลับมาที่คนทำวิทยุชุมชน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิทยุชุมชนจึงควรที่จะสรุปองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารสถานี การจัดการที่ดี การดูแลเครื่องส่งที่ดี จากการปฏิบัติงานจริงของคนทำงานวิทยุชุมชน และร่วมกันสกัดและรวบรวมออกมาเป็นคู่มือวิทยุชุมชนไทย เพื่อเป็นคู่มือในการพัฒนาคน พัฒนาศักยภาพของวิทยุชุมชนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และเป็นสื่อของชุมชนโดยชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง (วิเชียร คุตวัส : มติชน หน้า32, 26 มิ.ย.49)
หากว่าวิทยุชุมชนได้สกัดองค์ความรู้และถอดบทเรียนต่างๆ ออกมาแล้ว เชื่อเลยว่า ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติกี่ครั้งหรืออยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินแบบใด “สิทธิในการสื่อสารของชุมชน” ก็จะคงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น “วิทยุชุมชน” สื่อของผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ก็จะคงอยู่ตลอดไป และมีการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน |