ทิศทางปฎิรูปสื่อรอบสอง

โดย เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม หลังเหตุการณ์ 19 กันยายนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ามาทำการรัฐประหาร สื่อถูกควบคุมการนำเสนอ รวมไปถึงการปิดรายการวิทยุชุมชน โดย คปค.ให้เหตุผลว่าเพื่อความสมานฉันท์ของคนในชาติ และการยุบวิทยุชุมชนก็เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกยุบไปแล้ว เอาเป็นว่าเราจะไม่ถกเถียงกันในเรื่องนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เกือบจะสองสัปดาห์เต็มแล้วนั้น คปค.เองก็เดินหน้าในเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว สรรหานายกรัฐมนตรี และสะสางการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอันเป็นเหตุผลหลักของ คปค.ในการทำรัฐประหารในครั้งนี้

เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ บทบาทของสื่อมวลชนก็ควรจะทำหน้าที่ได้ดังเดิม เพราะสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการทำให้ประชาชน รวมถึงกลุ่มคนผู้มีส่วนตัดสินใจในระดับนโยบายสาธารณะรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน เพื่อการตัดสินใจอนาคตของตนเองและประเทศชาติ อันเป็นหลักการสากลของระบอบประชาธิปไตย

แต่ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ยังเซ็นเซอร์ตัวเอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่การทำงานดังกล่าวจะไม่ก่อประโยชน์กับสังคมไทย และไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ คปค. รัฐบาลชั่วคราวที่จะตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ และคณะยกร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพราะหาก คปค. รัฐบาล และคณะยกร่างรัฐธรรมนูญรับทราบข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่รอบด้านก็นำไปสู่การตัดสินใจ การยกร่างรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา

ปฏิรูปสื่อยกแรก ประชาชนได้อะไร

การปฏิรูปสื่อยกแรกเกิดขึ้นภายหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 นับเป็นความสำเร็จของภาคประชาชนที่สามารถผลักดันแนวคิด “สื่อต้องเป็นของประชาชน” บรรจุไว้รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้

อาจกล่าวได้ว่าแรงผลักดันสำคัญในการปฏิรูปสื่อในยกแรกนั้นมาจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และสื่อมวลชน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ที่ร่วมผลักดันการปฏิรูปสื่อครั้งนั้นกล่าวว่า การปฏิรูปสื่อระหว่างปี 2535-42 ทำให้เกิดองค์ความรู้ทางวิชาการนำไปสู่บญบัญญัติในมาตรา 40 3 เรื่องคือ 1.ต้องเปลี่ยนความคิดจากเดิมที่เคยมองว่าสื่อเป็นของรัฐ เป็นการมองว่าสื่อเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติและต้องนำไปสื่อไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.ต้องมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแล ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น 3.การจัดสรรและกำกับดูแลต้องคำนึงถึงเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องสร้างการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 40 มีกฎหมายลูก 2 ฉบับเกิดขึ้น คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมปี 2543 และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ปี…

หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ภาคประชาชนพากันเบ่งบานกับอิสรเสรีภาพในการเป็นเจ้าของสื่อ จากเดิมที่สื่อวิทยุ-โทรทัศน์เคยอยู่ในมือของภาครัฐและทุน ถึงคราวที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของบ้าง แม้กระทั่งชุมชนไกลปืนเที่ยงบนป่าเขาดงดอยก็ลุกขึ้นมาจัดตั้งวิทยุชุมชนของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนบานขึ้นเป็นดอกเห็ด และมีสารพัดรูปแบบ

อาจกล่าวได้ว่าอานิสงส์ของการปฏิรูปสื่อยกแรกทำให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีสิทธิเป็นเจ้าของสื่อได้ และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเป็นผู้สื่อสารด้วยตัวเอง ก็เข้าใจและตระหนักในสิทธิของตนเองมากขึ้น จากเดิมที่คุ้นเคยกับการรับข้อมูลข่าวสารจากส่วนกลาง วิทยุ-โทรทัศน์นำเสนออะไรมาก็ต้องทนฟัง ทนดู ทั้งๆ ที่บางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และการดำเนินชีวิตของชุมชนเลยก็ตาม เช่น ละครทีวีที่มีเนื้อหาซ้ำไปซ้ำมา เป็นต้น ชุมชนก็ลุกขึ้นมาเป็นผู้สื่อสารเรื่องราวของชุมชนเอง เช่น การจัดรายการเกี่ยวกับปัญหาราคาพืชผลในสถานีวิทยุชุมชนของตัวเอง และหลายสถานีก็มีความมั่นใจในการใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการเติบโตทางความคิดและตระหนักในสิทธิของชุมชนนั้นก็ต้องไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติการให้รัฐธรรมนูญเคลื่อนไหวและมีชีวิตด้วย เพราะแม้ภาคประชาชนจะสามารถต่อสู้จนนำไปสู่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ก็จริง แต่ความเป็นจริงในโลกของทุนนิยมเสรีการแย่งชิงทรัพยากรสื่อก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องได้มาอาจหยุดนิ่งอยู่แค่ตัวหนังสือที่สวยหรูเท่านั้น

เช่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ภาคประชาชนเองก็ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่ เมื่อกลุ่มทุนพยายามแทรกซึม และช่วงชิงเข้ามาเป็นผู้สรรหา กสช. ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะชี้ขาดว่าคลื่นความถี่ควรจะจัดสรรแบ่งให้ใครบ้าง นอกจากนี้บรรดากลุ่มธุรกิจสื่อ ธุรกิจค่ายเพลงก็พากันจัดตั้งมูลนิธิ องค์กรการกุศลกันอย่างเอิกเกริกเพื่อเตรียมสวมสิทธิ์ความเป็น “ภาคประชาชน”

จนถึงการที่รัฐบาลทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยมีการแปรสัญญาณโทรคมนาคมเพื่อเอื้อให้กลุ่มชินคอร์ปฯ การแปรรูป อสมท. และสถานีโทรทัศน์ ITV ที่กลายเป็นทีวีไม่เสรี มีการครอบงำสื่อโดยกลุ่มทุนชินคอร์ปฯ ที่เข้ามาถือหุ้นเกินกว่า 50 % เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชนไม่ได้สิ้นสุดลงแม้ว่าจะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้ว กลับต้องปฏิบัติการต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์ 19 กันยายนก็ไม่ต่างกัน แต่ครั้งนี้ภาคประชาชนอาจต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่ทำมา และจะก้าวเดินไปอย่างไรในสถานการณ์ที่แตกต่าง

ปฏิรูปสื่อยกสอง กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่ระบุถึงสิทธิของประชาชนในการสื่อสาร เป็นเจ้าของสื่อได้ถูกยุบทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และระหว่างนี้ คปค.ก็เตรียมที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยจะมีสมัชชาประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,000 คน เพื่อคัดสรรสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ( สสร.) ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนลงประชามติยอมรับ

การปฏิรูปสื่อยกสองจึงเท่ากับภาคประชาชนจะต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งเพื่อจะให้รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่รองรับสิทธิของภาคประชาชนในการสื่อสาร และเป็นเจ้าของสื่อที่ไม่น้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และอาจแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญชุดที่แล้วไปพร้อมกันด้วย

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในการปฏิรูปยกสองคือ ครั้งนี้ชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศเริ่มมีความตื่นตัวกับสิทธิของตนเองในการสื่อสาร และเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรส่วนรวม มิใช่มีแต่กลุ่มนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่เคยเป็นกำลังหลักในช่วงปฏิรูปสื่อยกแรก

อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่ง ตัวแปรสำคัญคือ ความคิดของ คปค. นั้นคิดอย่างไรกับแนวทางการปฏิรูปสื่อ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครคาดเดาท่าทีของ คปค.ได้ นอกจาก คปค.แล้ว ตัวแปรที่ไม่ควรมองข้าม และอาจจะมีบทบาทในการเข้ามามีเอี่ยวในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างแน่นอน คือกลุ่มทุนใหญ่ที่เริ่มมีลักษณะควบรวมกิจการ และผูกขาดสื่ออยู่ในเวลานี้ กลุ่มเหล่านี้เอง เมื่อรัฐบาลชุดที่แล้วก็พยายามเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลาอยู่แล้ว

ดังนั้นปฏิรูปสื่อยกสองจึงไม่ง่ายนัก เพราะภาคประชาชนจะต้องต่อสู้ทางความคิดทั้งกลุ่มราชการ และกลุ่มทุนที่นับวันจะรวมศูนย์ ผูกขาดมากขึ้นทุกวัน จึงขึ้นอยู่กับว่าภาคประชาชนเองจะมีความเข้มแข็งเพียงไร และยังน่าติดตามว่าในเวทีต่อรองเพื่อให้ได้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบที่ประชาชนต้องการจะมีความเท่าเทียมกันหรือไม่?

แท็ก คำค้นหา