ตลอดระยะเวลาเกือบ 65 ปีที่ผ่านมา “วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย” ไม่เพียงเป็นตัวเลือกสำคัญของคนไทยที่ต้องการเสพข่าวสารที่เชื่อถือได้และเป็นกลาง เมื่อถึงคราวที่ต้องปิดฉากอำลาในไม่กี่เดือนข้างหน้า ความรู้สึกใจหาย-เสียดายผุดขึ้นในหัวใจคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในยามที่เสรีภาพ-ประชาธิปไตยในประเทศกำลังถดถอย ความรู้สึกโหยหา..สื่อที่อิสระและเป็นกลางดังเช่นบีบีซีจึงเพิ่มขึ้นทวีคูณ
นายไนเจิล แชปแมน ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก แถลงยืนยันเมื่อค่ำวันที่ 25 ต.ค.ว่า จะยุบการให้บริการวิทยุภาษาต่างๆ ของบีบีซี 10 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาในยุโรปตะวันออก ได้แก่ ฮังการี ,เช็ก ,โครเอเชีย ,กรีซ ,โปแลนด์ ,สโลวัก ,สโลเวเนีย บัลแกเรีย และคาซัค โดยทั้งหมดจะหยุดออกอากาศอย่างช้าภายในวันที่ 31 มี.ค.2549
เหตุผลที่นายแชปแมนใช้ประกอบการปิดบริการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ก็คือ มีผู้ฟังไม่มาก ประกอบกับมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในด้านอื่น ซึ่งน่าจะหมายถึงการเตรียมเปิดโทรทัศน์ดาวเทียมภาษาอารบิก ที่จะเป็นรายการโทรทัศน์ภาษาต่างประเทศภาษาแรกของบีบีซี และยังเป็นสถานีโทรทัศน์ที่รัฐอุดหนุนและกระจายเสียงในต่างประเทศเป็นสถานีแรกของโลก ที่คาดว่าจะแพร่ภาพได้ภายในปี 2550 นั่นเอง
การปรับตัวของบีบีซีครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการปรับปรุงปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี แต่ยังสร้างความเสียดายและใจหายให้กับแฟนๆ บีบีซีชาวไทย ที่ได้มีโอกาสฟังการกระจายเสียงมานานเกือบ 65 ปีอีกด้วย ในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก บีบีซีภาคภาษาไทยคงไม่ใช่แค่สื่อวิทยุคุณภาพ-มืออาชีพ และเป็นกลาง แต่บีบีซีภาคภาษาไทยยังสร้างคุณูปการแก่ประชาชนและประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย เป็นสื่อวิทยุที่คนไทยทุกระดับไม่ว่าจะระดับผู้นำหรือระดับรากหญ้าต่างติดตามรับฟัง ทั้งยังเป็นเวทีที่คนไทยหลายคนได้มีโอกาสไปฝึกฝีมือจนเป็นคนสื่อคุณภาพไปแล้วหลายคน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนชื่อดัง ซึ่งเคยทำงานกับบีบีซีภาคภาษาไทยตั้งแต่ประมาณปี 2500 สมัยเป็นนักเรียนอังกฤษ เล่าให้ฟังว่า บีบีซีภาคภาษาไทยมีการปิดมาหลายครั้ง เช่น ปี 2503 ก็มีการปิด แต่พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในปีนั้น ก็ได้มีการเปิดวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยอีกครั้ง เพื่อรายงานข่าวการเสด็จฯ เยือน หลังจากนั้นก็ยังมีการปิดอีกบ้างบางครั้ง |
อ.สุลักษณ์ บอกว่า สถานการณ์บ้านเราขณะนี้ ที่สื่อไม่มีเสรีภาพพอ หากไม่มีบีบีซีจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
“บีบีซีมันเริ่มจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่เมืองไทยเราถูกเผด็จการปกครองอยู่ ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ บีบีซีก็ออกอากาศมา ก็เป็นเสียงที่อย่างน้อยเราไม่สามารถฟังได้จากกระแสอื่น …และแม้ภายหลังเมื่อสมัยรัฐบาลหอย บ้านเมืองถูกอะไรพินาศไป ไม่มีเสียงเสรี บีบีซีก็ช่วยได้มาก ผมว่าจุดยืนเช่นเดียวกันเวลานี้เขาก็เห็นว่ารัฐบาลเวลานี้ก็เป็นรัฐบาลคล้ายๆ รัฐบาลหอยเหมือนกัน เพราะปิดหนังสือพิมพ์ ปิดข่าวต่างๆ มีเพียงกระแสเดียว กระแสที่ด่าคนอื่นไปเชียร์คุณทักษิณ เช่น คุณสมัคร คุณดุสิต ด่าใครก็ได้ แต่ไม่ใช่ด่าทักษิณ กระแสอื่นถ้าใครไปแตะทักษิณ พังหมด เพราะฉะนั้นผมว่า ช่วงนี้ถ้าบีบีซีอยู่ จะช่วยได้มาก เพราะว่ามันเป็นเสียงแห่งความเป็นประชาธิปไตย เสียงแห่งความเป็นเสรีภาพ การแสวงหาสัจจะ แม้จะไม่เต็มที่ ก็เป็นเสียงที่ดีกว่าที่อื่นมาก โดยเฉพาะเวลานี้ในเมืองไทย เสียงนี้ก็จะไม่มีเลย น่าเสียดายถ้าปิดในช่วงนี้ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เรามีอิสระเสรีมากกว่านี้ทั้งทางวิทยุ-โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ จะปิดไป เราก็ไม่เสียดายเท่าไหร่ แต่ตอนนี้น่าเสียดายมาก ” ด้าน วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะอดีตผู้ประกาศและผู้ผลิตรายการบีบีซีภาคภาษาไทย ก็รู้สึกเสียดายเช่นกัน เพราะวิทยุบีบีซีเปรียบเสมือนเสาหลักของวิทยุกระจายเสียงของโลก การปิดวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยในช่วงที่ประชาธิปไตยในประเทศกำลังถดถอย จึงถือว่าเป็นจังหวะที่ไม่ค่อยดีนัก “เสียดายที่บีบีซีภาคภาษาไทยจะต้องปิดตัวเองลงไป ผมคิดว่าที่ผ่านมาบีบีซีภาคภาษาไทยเป็นวิทยุที่เป็นแบบอย่างที่ดีของวงการวิทยุ เรียกได้ว่า เป็นวิทยุที่มีความเป็นมืออาชีพสูงมาก มีความเป็นกลาง และที่ผ่านมาทำประโยชน์สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยมามาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย คือมีลักษณะที่เป็นเผด็จการหรือถูกปิดกั้นข่าวสารข้อมูล วิทยุบีบีซีภาคบริการโลก และวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ก็ทำหน้าที่ให้ข่าวสารข้อมูล วิเคราะห์และนำเสนอสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ตรงนี้จะยุติบทบาทลงไป …ผมเข้าใจว่า เขาคิดว่าสังคมไทยเติบโตขึ้นเยอะ มีความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ที่น่าเสียดายนิดหน่อยคือ ขณะนี้ความเป็นประชาธิปไตยบ้านเรามันถดถอยลง และจังหวะในการปิดบีบีซีภาคภาษาไทย เป็นจังหวะที่เรียกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก มาปิดในช่วงจังหวะนี้ ซึ่งสื่อ ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือหนังสือพิมพ์รู้สึกว่าถูกแทรกแซง และถูกปิดกั้นเสรีภาพมากกว่าเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา” ขณะที่ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม. ซึ่งเป็น 1 ในคนไทยหลายร้อยคนที่ร่วมลงชื่อในจดหมายคัดค้านการปิดวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยที่ส่งถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ก็ยืนยันเช่นกันว่า สถานการณ์ในไทยขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะปิดวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย |
“ไม่เห็นด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สื่อในประเทศไทยเองยังไม่มีความเป็นอิสระมีการแทรกแซง ยังถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจ ผมจึงเห็นว่า ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิทยุบีบีซีซึ่งพยายามที่จะเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่บิดเบือน ยิ่งขณะนี้สถานการณ์ทางภาคใต้ของประเทศไทยค่อนข้างจะรุนแรงและล่อแหลมมาก เลยเห็นว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะยุบรายการบีบีซีภาคภาษาไทย …ผมจะเสียใจมากนะ ถ้าบีบีซีต้องปิดลงจริง”
อ.จอนบอกด้วยว่า หากวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยต้องปิดตัวลงจริงๆ เราคนไทยคงต้องช่วยกันหาวิธีที่จะสร้างสถานีวิทยุแบบบีบีซีขึ้นมาทดแทนให้ได้ ด้าน รศ.อรทัย ศรีสันติสุข แห่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่รู้สึกเสียใจและเสียดายมากหากวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยจะต้องปิดตัวลงจริงๆ เพราะที่ผ่านมาบีบีซีกับธรรมศาสตร์ถือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันมาก ร่วมกันทำหน้าที่ทั้งในยามวิกฤตและยามปกติ “บีบีซีกับธรรมศาสตร์ถือได้ว่าเป็นพันธมิตรกันเลย อย่างช่วงที่เป็นภาวะวิกฤตทางข่าวสารบางช่วง พฤษาทมิฬ ธรรมศาสตร์กับบีบีซีก็ได้จับมือกันที่จะเสนอข่าวสารผ่านช่องทางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ช่องทางด้านอื่นถูกปิดหมด และในบางช่วงเป็นระยะเวลาพิเศษ เช่น ตอนที่มีการเลือกตั้งในช่วงที่คนกำลังสนใจมากๆ เพราะเราถูกปิดกั้นกันมาช่วงหนึ่ง ทางบีบีซีกับธรรมศาสตร์ก็เคยเรียกได้ว่า จัดรายการร่วมกัน เรียกว่า ทำสัญญาณข้ามทวีปเลย ที่จะรายงานข่าวการเลือกตั้งร่วมกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งอยู่ธรรมศาสตร์ ฝ่ายหนึ่งอยู่บีบีซี ซึ่งเราก็ถือว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ส่วนในยามปกติ เราถือว่า บีบีซีเหมือนกับเป็นโรงเรียน หรือสถานฝึกงานเชิงวิชาชีพ ที่จะให้ทางด้านของนักศึกษาได้ใช้เป็นที่ฝึกปรือด้านวิชาชีพ …ก็รู้สึกเสียใจและเสียดายมาก ไม่ทราบว่า เราจะสามารถทำอะไรกันได้แค่ไหน อย่างไร ในการที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรกันทางด้านนั้น” อ.อรทัยบอกว่า เร็วๆ นี้จะจัดสัมมนาทางวิชาการว่า 64 ปีที่ผ่านมา บีบีซีให้คุณค่าแก่สังคมไทยอย่างไรบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนที่รู้สึกเสียดายบีบีซีภาคภาษาไทยได้มาสะท้อนความรู้สึก และจะดีใจมาก หากความรู้สึกต่างๆ ที่มีการถ่ายทอดออกมาจะได้ยินไปถึงผู้บริหารบีบีซี ใครเลยจะเชื่อว่า 30 ปีที่แล้ว มีเด็กต่างจังหวัดอยู่คนหนึ่งได้เริ่มฟังวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าขณะนั้นจะยังเป็นการฟังจากวิทยุคลื่นสั้น ไม่ได้ผ่านวิทยุระบบเอเอ็มหรือเอฟเอ็มเหมือนสมัยนี้ บุคคลคนนั้นก็คือ มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย |
“(ฟัง)ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพราะขณะนั้นผมอยู่บ้านนอก เป็นเด็กบ้านนอกจาก จ.แพร่ แต่ไปเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ ตอนปิดเทอมก็กลับมาบ้าน มีวิทยุคลื่นสั้นอยู่เครื่องหนึ่ง ซึ่งได้จากญาติเขาเอาไปแลกกับวิทยุเอเอ็มที่บ้าน ก็หมุนไปเรื่อยเปื่อย ก็ฟังไปตั้งแต่อายุสัก 10 ขวบ เดิมทีก็ฟังเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย โดยสถานีวิทยุของ พคท. ภาคภาษาไทย แล้วก็ไปฟังวิทยุภาคภาษาไทยของประเทศต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม สำหรับคนตาบอดอย่างผม การได้ฟังทัศนะที่แตกต่างของกระบอกเสียงของแต่ละค่ายความคิด มันทำให้เรามีความคิดวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งต่างจากเด็กทั่วไปที่เขามีโอกาสอ่านหนังสือในขณะนั้น แต่เขาไม่มีโอกาสได้ฟังความแตกต่างนี้ บีบีซีก็เป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมมีความรู้สึกว่า การฟังแล้วนำมาคิดวิเคราะห์เป็นอย่างไร ก็ฟังมาตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา”
คุณมณเฑียรย้ำว่า สถานการณ์บ้านเราขณะนี้ ลำพังคนไทยปกติไม่ได้พิการทางสายตาก็เข้าถึงข้อมูลที่เป็นกลางได้ยากอยู่แล้ว หากไม่มีบีบีซีภาคภาษาไทยอีก คนพิการทางสายตาก็ไม่ต่างจากการถูกปิดหูปิดตาซ้ำสอง “คนไทยควรจะได้มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างเป็นกลาง และมีการวิเคราะห์โดยใช้เหตุใช้ผลโดยมีจรรยาบรรณของสื่อมวลชนเป็นตัวยืนยัน คนไทยก็ควรจะต้องมีโอกาสเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์แล้ว จำเป็นจะต้องทำตามเจตนารมณ์ของอำนาจรัฐเสมอไป ไม่ว่าจะโดยอ้างอะไรก็แล้วแต่ คือถ้าตัด(บีบีซี)ออกไปแล้ว คนไทยจำนวนมากเลย โดยเฉพาะอย่างพวกผมเนี่ย ซึ่งผมเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ได้ค่อนข้างลำบากนะ อย่างผมก็ยังดี ยังสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ยังสามารถเข้าถึงสื่ออิเล็คทรอนิคส์ได้ แต่ถ้าเป็นคนตาบอดที่สูงวัยหน่อย ที่ไม่สามารถจะใช้คอมพิวเตอร์หรือเข้าไม่ถึงเนี่ย โอกาสที่เขาจะเข้าถึงสื่อที่เป็นกลางเป็นข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ โดยใช้วิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อกลาง ก็ยากอยู่แล้ว และถ้าไม่มีบีบีซี คนเหล่านี้ก็เหมือนถูกปิดหูปิดตาซ้ำสอง และยังจะมีชาวบ้านอีก ชาวบ้านทุกวันนี้ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางยากอยู่แล้ว” หากที่สุดแล้ว วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยต้องปิดตัวลงจริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลง คุณมณเฑียร ก็ฝากว่า คนไทยคงต้องช่วยกันผลักดันให้มี “สื่อสาธารณะ” เกิดขึ้นในเมืองไทยให้ได้ เพราะที่ผ่านมา อำนาจรัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้มีสื่อที่เป็นของสาธารณะอย่างแท้จริง สื่อส่วนใหญ่ยังต้องรับใช้หรือทำตามคำสั่ง-ทำตามเจตนารมณ์ของอำนาจรัฐทุกยุคทุกสมัย สื่อที่เป็นฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะอยู่ได้ไม่นาน จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะแม้จะมี กทช. และ กสช. ตนก็ยังเชื่อว่า อำนาจรัฐจะยังผูกขาดเนื้อหาสาระของสื่ออยู่พอสมควรทีเดียว! ที่มา อมรรัตน์ ล้อถิรธร ผู้จัดการออนไลน์ 27 พ.ย.48 |