หลายคนอาจรู้จักเรื่องเล่านานมาแล้ว กาลครั้งหนึ่ง…เพียงแค่ข้ามเขาพระวิหาร อาจแบ่งพรมแดนไทย-กัมพูชา แต่แท้จริงมิอาจจำแนกความแตกต่างระหว่างชนเผ่าพันธุ์ไทย-แขมร์
ทั้งในแง่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ รวมทั้งรสนิยมความบันเทิง เมื่อเร็วๆ นี้ สัจภูมิ ละออ มีโอกาสไปเก็บบางแง่มุมมาฝาก
ระหว่างห้วงเวลาที่ได้เข้าไปเดินละเลียดภาพชีวิตที่ช้าแต่งดงามในกรุงพนมเปญเพียงไม่กี่ราตรี ได้ปรายตามองบนแผงหนังสือข้างถนน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในพ.ศ.นี้ ปีที่สื่อไทยแข่งกันนำเข้านิตยสารหัวนอกเข้ามาขายคนอ่านไทย
ทว่าที่นี่ ในกัมพูชา ยังได้เห็นความรุ่มรวยบนปกนิตยสาร ซึ่งยังคงใช้ภาษาประจำชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ละชื่ออวดสีสันเตะตา ข้อความแต่ละข้อความก็เตะใจ เป็นต้นว่า ‘แกว พิเสิย ประกาศเลิกกับสามี’
นี่นับเป็นข่าวบันเทิงอย่างจริงแท้ กวาดตาต่อไปอีกนิด ปรากฏข้อความใกล้ๆ กันว่า ‘ ส็อม ปูลีดา ท้องโต’ นี่เป็นพาดหัวใหญ่ของนิตยสาร อ็องโกธม หรือ นครธม อันเป็นนิตยสารบันเทิง ชิดติดกันก็มีนิตยสาร สมัยถเมิย หรือ สมัยใหม่ เป็นหนังสือดาราอีกเช่นกัน พาดหัวไม้ว่า ‘เสียม สเริยนุจ มองหาอนาคต’ ทำไมหนอ เป็นดาราต้องมองหาอนาคต นับเป็นข้อความยั่วให้หยิบพลิกดู
ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกแล้วว่าโลกยุคใหม่ การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เราจะสื่อสารกันได้ย่อมต้องอาศัย ‘เครื่องมือ’ เป็นตัว ‘สื่อสาร’ ออกไปยังผู้รับ เครื่องมือที่เป็นเครื่องสื่อสารนั้น ในประเทศกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็มีเหมือนๆ กับประเทศไทยเรา แต่ในความเหมือนนั้นก็มีความต่าง มีอะไร และเป็นอย่างไรบ้าง ค่อยๆ ดูกันไปทีละประเภทของสื่อก็แล้วกัน สื่อสำหรับชาวบ้านที่เข้าถึงเกือบทุกครัวเรือนก็คือโทรทัศน์ ชาวกัมพูชาได้ชมรายการโทรทัศน์ต่างๆ คือ tv3, tv5, tv11, tv9, ktv และ ctn แต่ละช่องมีความโดดเด่นในการนำเสนอต่างๆ กันไป ทีวีกัมพูชา…เน้นบันเทิง เป็นต้นว่า tv3 ช่องนี้เน้นไปทางด้านคอนเสิร์ต เป็นความสนุกสนานที่ส่วนหนึ่ง ทางช่อง 3 ของไทยมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการผลิตรายการอยู่ด้วย เป็นช่องที่ได้รับความนิยมจากชาวกัมพูชาทุกหัวระแหง อาจเพราะเป็นเลือดศิลปิน หรือชอบในการร้องรำทำเพลงมาแต่บรรพกาลก็ได้ ไม่เชื่อก็ลองผ่านไปดูระเบียงของนครวัดก็ได้ นอกจากนางอัปสรร่ายรำท่างามๆ แล้ว ยังมีเครื่องดนตรีต่างๆ จำหลักเอาไว้อวดสายตาชาวโลก tv5 ช่องนี้เสนอ กีฬา เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทหมัดๆ มวยๆ แว่วว่ามีแรงสนับสนุนจากฝ่ายไทย นั่นคือ ช่อง 7 สี และกันตนาเข้าไปร่วมผลิตรายการด้วย วันเสาร์ อาทิตย์ ไม่ว่าจะไปตรอกซอกซอยไหน มักจะเห็นชาวกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พวกเขาจะจอดรถรายเรียงกันไว้อย่างพร้อมจิตพร้อมใจ มาร่วมเชียร์มวยกันอย่างสนุกสนาน เสียงดังลั่นซอยเลยทีเดียว แรกๆ คิดว่าเป็นรายการจากไทยส่งเข้าไป แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่าเป็นนักมวยเขมรชกกันอย่างออกรส ไม่รู้เหมือนกันว่า มีการติดปลายนวมกันมากน้อยเพียงใด หันช่องไปทาง tv9 ช่องนี้เน้นไปที่ คาราโอเกะ ประเภท ‘บอง สลัน โอน’ ส่วนใหญ่เป็นเพลงลูกทุ่งกัมพูชาเอง มีตั้งแต่เก่าๆ ผลงานเพลงของ เซ็น สีสมุทร นักร้องลูกทุ่งยอดนิยมของชาวกัมพูชา แม้จะเสียชีวิตไปตั้งแต่สมัย พอลพต ปกครองประเทศหลังปี พ.ศ.2518 แต่ด้วยมนต์น้ำเสียงอันอ่อนหวาน ไม่ว่าจะเป็น จำปาบัดด็อมบอง, เทพธิดาในฝัน หรือ ใบไม้จากกิ่ง ยังครองใจแฟนๆ อยู่เสมอ |
สำหรับนักร้องลูกทุ่งสมัยใหม่ของชาวกัมพูชาก็หาน้อยไม่ ท่วงทำนองเพลงมีไม่น้อยที่เผลอนึกว่าเป็นเพลงลูกทุ่งไทย นี่นับเป็นความคล้ายคลึง และบางทีก็พูดได้ว่าเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างชาวกัมพูชากับไทย
มีทีวีแล้วก็มีคาราโอเกะ คาราโอเกะของกัมพูชาแสนน่ารัก การแต่งตัวของนักร้อง นักแสดง ส่วนใหญ่ไม่หมิ่นเหม่ต่อการยั่วยุกามารมณ์ อาจจะเป็นเพราะว่า เรื่องนี้นายกของกัมพูชาท่านสั่งห้ามไว้อย่างเด็ดขาดนั่นก็เป็นได้ ฟังเสียงเพลงไป ดูคาราโอเกะไป เผลอๆ นึกว่าฟังเพลงไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง เสียงเพลง ฉาก ก็คล้ายๆ กัน บิดไปช่อง tv11 ช่องนี้เน้นไปที่ฉายภาพยนตร์ และคอนเสิร์ตเป็นหลัก เปลี่ยนไปช่อง ctn ช่องนี้แพร่ภาพออกไปทั่วโลก มีรายการต่างๆ ของชาวกัมพูชามากมาย แน่นอนว่าชาวกัมพูชาที่ไปอยู่ในประเทศต่างๆ ได้อาศัยช่องนี้ระลึกความเป็นชาวกัมพูชา และใช้เป็นยาแก้โรคคิดถึงบ้าน และอีกช่องหนึ่ง ktv ช่องนี้ไม่ธรรมดา เพราะผู้บริหารคือ ลูกสาวของสมเด็จฮุนเซน เสนอรายการต่างๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นข่าว และความบันเทิง เมื่อเสนอสารพัดสารพันบันเทิงอย่างนี้ มีหรือชาวกัมพูชาจะไม่สนใจ รายการทีวีช่องต่างๆ ที่กล่าวมา แต่ละช่องมีจุดเด่น หรือเรียกภาษาการตลาดว่า ‘จุดขาย’ ของตนเอง เมื่อก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ ถึงขนาดเผาสถานทูตไทยนั้น ทีวีช่องกัมพูชาที่เสนอละครจากไทย มักได้รับความนิยมมากๆ แม้จะมีละครจากแผ่นดินอื่นๆ เข้ามาแย่งคนดู แต่ไม่อาจฝ่าด่านละครไทยไปได้ ยังน่าเสียดายที่หลังเหตุการณ์ร้ายๆ ละครจอแก้วที่ฉายทางทีวีไทย ยังไม่อาจเข้าไปโผล่ในทีวีกัมพูชาได้ เรื่องนี้เมื่อสอบถามกับชาวกัมพูชาจึงทราบว่า ทางการของกัมพูชาไม่ได้ห้าม แต่ไม่มีใครกล้านำเข้าไปฉาย อาจจะยังเกรงๆ กันอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อใจรักที่จะดู ชาวกัมพูชาที่ติดเคเบิลทีวี หรือคนที่ซื้อช่องสัญญาณที่รับช่องสัญญาณจากไทยได้ก็ยังดูละครไทยกันอยู่ สำหรับคนที่อยากดูแต่ไม่มีช่องสัญญาณก็หาทางออกด้วยการซื้อซีดีบันทึกละครไทย-ก็หาทางออกกันไป |
หนังสือพิมพ์กัมพูชา.. สื่อราคาถูก
มองไปที่หนังสือพิมพ์ ยอดสูงสุดปัจจุบันคือ รัสมีกัมพูชา หนังสือพิมพ์เล่มนี้ถ้ามองมาทางบ้านเรา ก็พอเทียบได้กับ ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์หัวสีที่ครองใจชาวกัมพูชามานานปี การเสนอข่าวมีสีสัน สะท้อนภาพสังคมชาวกัมพูชาในแต่ละวัน เนื้อหาข่าวสารมีทั้งเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม การศึกษา เรียกได้ว่ามีทุกเรื่องทุกรสก็ว่าได้ หนังสือพิมพ์กัมพูชาใหม่ หนังสือพิมพ์เล่มนี้ เน้นเสนอข่าวการเมืองเป็นสำคัญ ถ้าอยากดูหน้าตานักการเมืองกัมพูชาต้องดูจากเล่มนี้ ขณะเดียวกันถ้ามีการเลือกตั้ง ถ้าอยากรู้ใครกำลังได้ ใครกำลังจะเดี้ยงก็ต้องพึ่งหนังสือพิมพ์นี้เหมือนกัน ถ้าจะมองสไตล์การเสนอข่าวก็อาจเทียบได้กับหนังสือพิมพ์รายวัน มติชน หนังสือพิมพ์ เกาะสันติภาพ เป็นหนังสือพิมพ์หัวสีเหมือนกัน เสนอข่าวครบทุกรส ด้านกีฬาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร มีทั้งกีฬาในประเทศและนอกประเทศ ในแง่ความนิยม แม้จะน้อยกว่ารัสมีกัมพูชา แต่ก็ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง มนสิการแขมร์ เล่มนี้เป็นที่ทราบกันว่าเป็นฐานสำคัญของ สม รังสี ตามธรรมดาของหนังสือพิมพ์ เมื่อเกาะเกี่ยวอยู่กับการเมือง ความนิยมของมหาชนย่อมลดลง ไม่ต้องดูอื่นไกล ขนาดอดีตนายกของไทยที่มีหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง แม้จะสร้างวาสนาบารมีมายาวนาน เขียนคอลัมน์คนติดงอมแงมก่อนจะเล่นการเมือง แต่เมื่อประกาศตัวลงเล่นการเมืองเต็มตัว ยอดหนังสือพิมพ์ก็ลดลงทันที ส็อมเลงแขมร์ หรือเสียงแขมร์ เล่มนี้เป็นของพรรคฟุนซินเปค และยังมี อุดมคติแขมร์ และอื่นๆ อีก ซึ่งส่วนใหญ่ยอดขายไม่สูง การสื่อสารกับผู้คนจึงไม่กว้างขวางนัก หนังสือพิมพ์ของกัมพูชาที่สื่อสารกับชาวต่างชาติเล่มหนึ่งคือ The cambodia daily เป็นหนังสือพิมพ์ 2 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ และภาษากัมพูชา เสนอข่าวสั้นๆ รวบรัดทั้งข่าวในประเทศและต่างประเทศ เป็นแทบลอยด์ 20 หน้า ราคา 1,200 เรียล |
นิตยสาร เปราะเจียเปรย… สุดฮิตไปกัมพูชา
หันไปดู นิตยสาร กันบ้าง นิตยสารยอดนิยมยังเป็น เปราะเจียเปรย แปลเป็นภาษาไทยก็คือ ประชานิยม เล่มนี้ครองอันดับ 1 มายาวนาน พลิกดูเนื้อหาในเล่ม แม้โทนเนื้อหาจะออกไปทางบันเทิงเริงรมย์ แต่ก็มีสกู๊ปเด็ดๆ เรื่องราวตามกระแสนิยมทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ การศึกษา บทกวี เรื่องเสน่หา เรื่อยไปจนถึงดูดวง ครบทุกรสข่าวจริงๆ ดาราดังๆ ในกัมพูชามักปรากฏบทสัมภาษณ์ให้อ่านอยู่เนืองๆ อย่างดารายอดนิยมเพชร บรมี นางเอกเรื่องงูเก็งก็อง ที่แสดงคู่กับ วินัย ไกรบุตร เธอเคยมีบทสัมภาษณ์ในนิตยสารเล่มนี้เช่นกัน สำหรับคนที่ชอบเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอภินิหารต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการสักยันต์ หนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอเช่นกัน แต่เป็นการเสนอสลับสับเปลี่ยนกันไป ไม่ใช่เสนอคราวเดียวกัน นิตยสาร อังโกธม ฮิตรองลงมาจากเปราะเจียเปรยก็จริง แต่เรื่องสีสันนั้น เล่มนี้เฉียบขาดนัก ดาราคนไหนเลิกกับแฟน ดาราคนใดท้องโต อ่านกันได้ มีภาพ 4 สีแพรวพราว ถ้านึกภาพไม่ออกว่า หน้าตานิตยสารนี้เป็นอย่างไร ก็ลองนึกถึงนิตยสารทีวีพูล หรือไม่ก็ดาราภาพยนตร์อะไรทำนองนั้น นิตยสารอีกเล่มที่วางแผงทั่วตลาด สมัยถเมิย หรือ สมัยใหม่ ถนนราคา 3,000 เรียล เทียบกับเงินไทยก็ 30 บาทขาดตัว เล่มนี้เสนอทั้งดารานักร้อง ดารานักแสดงที่เด่นและดังไม่แพ้ อังโกธม เรื่องราวดาราที่นำเสนอเป็นต้นว่า ‘ เมียะ สกโสภา กลัวผี หลังจากถ่ายเรื่องผี’ พร้อมบทสัมภาษณ์ ตอนหนึ่งว่า..นางเมียะ สกโสภา บอกว่า เมื่อก่อนเธอไม่กลัวผีหรอก แต่หลังจากแสดงหนังผี ไม่รู้อย่างไรรู้สึกกลัวผี ‘ ในหน้าให้สัมภาษณ์มีภาพน่ารักๆ ประกอบ โรงหนังกัมพูชา…เหงาเงียบ หันเข้าไปหาโรงหนังกันบ้าง โรงหนังในกัมพูชามีไม่มากนัก ที่เสียมเรียบปิดตัวไปอย่างเงียบๆ ส่วนในพนมเปญมีไม่กี่โรง แม้ค่าตั๋วจะราคาเพียง 7,000 เรียล หรือ 70 บาทเท่านั้น ก็ไม่อาจเรียกมหาชนเข้าชมอย่างคึกคักได้ ” ปกติแล้วไม่ค่อยมีคนเข้ามา เพราะว่าซีดี วีซีดี เข้าไประบาด ทำให้คนไม่เข้ามาดูหนังโรง หนังที่เข้ามาฉายมีทั้งหนังเขมร ไทย ฝรั่ง ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาดูหนังจะเป็นคนมาจากต่างจังหวัด คนในเมืองไม่ค่อยดู ชาวไทยที่เข้าไปทำงานในกัมพูชายืนยัน” พลางย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า ” เมื่อหนังเรื่อง งูเก็งก็อง เข้ามา คนชอบมาก เข้ามาดูกันแทบไม่มีเก้าอี้นั่ง” หนังเรื่อง ‘งูเก็งก็อง’ นั้น เป็นหนังที่ วินัย ไกรบุตร ฝ่ายไทยแสดงคู่กับดารากัมพูชา เพชร บรมี หนังเรื่องนี้นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของวงการภาพยนตร์กัมพูชา สำหรับละคร อด กากี ชาวกัมพูชาแสดงทรรศนะว่า ” ผมว่าวัฒนธรรมของชาวกัมพูชามีภูมิคุ้มกันอยู่ นั่นคือภูมิคุ้มกันจากรัฐบาลที่จะสกัดกั้นสิ่งที่หลั่งไหลเข้ามา และอีกอย่างหนึ่งก็คือภูมิคุ้มกันในจิตใจของผู้คน ถ้าไปดูหนังเขมร อาจจะเห็นว่าไม่ทันสมัย อาจเหมือนหนังไทยเมื่อ 30 ปีก่อนโน้น เพราะการลงทุนไม่มาก ทางด้านเทคนิคไม่ดี เมื่อก่อนชาวกัมพูชานิยมหนังไทยมาก แต่ก็มีแรงดึงดูดใจ จริงๆ ก็ไม่มีใครปิดกั้นอะไรเขาได้ เมื่อหนังไทยไม่ออกทางทีวี ก็ไปปรากฏอยู่ในเคเบิลทีวีแล้ว” เครื่องมือสื่อสารที่ชาวกัมพูชาใช้ นอกจากโทรศัพท์บ้านแล้ว โทรศัพท์มือถือก็เป็นที่นิยมกันในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายของในตลาด คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม้กระทั่งคนงานรับจ้างทั่วไปก็มีใช้ มองภาพรวมแล้วก็เหมือนๆ กับคนไทย จะผิดกันบ้างก็ตรง เสียงที่พูดใส่เข้าไปต่างกันเท่านั้นเอง เครือข่ายสัญญาณมี 3 ระบบคือ came tel came chin และ mobitel ค่าบริการต่อนาที ในเมืองประมาณ 8.1 เซนต์ ต่างจังหวัดประมาณ 12 เซนต์ เที่ยงคืนถึงเช้าประมาณ 3 เซนต์ อด กากี มองประเด็นนี้ว่า “เรื่องมือถือนี้ จริงอยู่ว่าชาวกัมพูชาใช้กันมาก เมื่อเห็นคนรวยมีคนจนก็อยากมี แต่ผมว่าต้องเข้าใจพื้นฐานของชาวกัมพูชาอย่างหนึ่งว่า เราเพิ่งจะได้รับเสรีภาพ เปิดรับเสรีภาพอย่างเต็มที่ อย่างที่ผมพูดว่าชาวกัมพูชากำลังสำลักเสรีภาพนั่นแหละ ประเด็นหนึ่งเราต้องไม่ลืมคือว่า ชาวกัมพูชามีสวัสดิการ ได้รับการแบ่งสรรปันส่วนจากรัฐบาล ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินออมเหมือนกับคนไทย” การใช้สื่อไม่ว่าจะเพื่อความสะดวกสบาย หรือเพื่อความบันเทิง ถ้ามองว่าจำเป็นก็จำเป็น แต่ถ้ามองว่าสิ้นเปลืองก็สิ้นเปลือง ขึ้นอยู่กับว่าคนมองใช้แว่นตาชนิดใดและมองจากจุดยืนตำแหน่งใด ในยุค ‘โลกาภิวัตน์ สะท้านโลก’ พลโลกนานาภาษา นานาวัฒนธรรม ไม่รู้สึกแปลกใจอีกต่อไปว่า ทำไมเครื่องมือสื่อสารของกัมพูชาจึงมีทุกอย่างเหมือนไทย หากแต่ข้อจำกัดบางประการ ในด้านการเมือง การปกครอง และวิธีการจัดการต่อระบบคิด ระบบย่อยทางวัฒนธรรมต่างหาก ที่ทำให้สื่อในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งใช้เส้นพรมแดนเดียวกันออกมา มีรูปลักษณ์ ท่วงทำนองและลีลา ต่างกัน ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 19 ต.ค. 48 |