เสรีภาพสื่อคือ เสรีภาพประชาชน

สุทธิชัย หยุ่น สังเกตนะครับว่า ทุกครั้งที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับของประเทศเรียกประชุมใหญ่ แสดงว่าบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง

วันอังคารที่ผ่านมา เห็นภาพของคนระดับนโยบายของหนังสือพิมพ์สื่อวิทยุโทรทัศน์มารวมตัวกันเพื่อประกาศจุดยืน ไม่เห็นด้วยกันการกำจัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการออก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ของรัฐบาล ก็พอจะเห็นความสมัครสมานสามัคคีในวงการสื่อที่พยายามทำหน้าที่เป็น “ปากเสียงของประชาชน”

เพราะเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นของประชาชนทั้งหมด สื่อเป็นเพียงกระจกสะท้อนถึงความมีหรือความไร้เสรีภาพของสังคมเท่านั้น

ดังนั้น การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อตัวเองของสื่อสารมวลชนอย่างที่คนบางคนในรัฐบาลพยายามจะกล่าวหา

ยิ่งรัฐมีอำนาจมาก สังคมก็ยิ่งจะต้องมีดุลถ่วงมาก

ยิ่งรัฐบาลให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับตัวเอง (โดยมิได้หารือและขอความเห็นจากประชาชนก่อน) สื่อก็ยิ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ทำหน้าที่สอดส่องดูแลการใช้อำนาจนั้น เพราะเมื่อให้อำนาจคนของรัฐมากขึ้น โอกาสที่อำนาจจะถูกใช้ไปในทางที่ผิดก็มีมากขึ้น

ผู้มีอำนาจย่อมเข้าข้างคนที่ตนสั่งไปใช้อำนาจเช่นนั้น ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่มีมากขึ้นไปในทางไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม หรือหากคนบริสุทธิ์ถูกรังแก ทำร้ายหรือข่มเหงโดยคนใช้อำนาจ ใครจะเป็นผู้ “ฟ้องประชาชน” หากไม่ใช่สื่อที่มีจุดยืนที่แน่ชัดว่าต้องยืนอยู่ข้างความจริง และเคียงข้างประชาชนผู้ด้อยโอกาสและไม่มีอำนาจต่อรอง?

คำอ้างที่ว่าก่อนหน้านี้ นายกฯ ไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะใช้ปราบปรามผู้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ฟังแล้วเชื่อได้ยาก เพราะท่านเองก็ยอมรับว่ามีกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการปราบปราม ปัญหาอยู่ที่การ “บูรณาการ” การใช้กฎหมายเหล่านั้น

ปัญหาการ “บูรณาการ” การใช้กฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำให้ได้ มิใช่ว่าเมื่อล้มเหลวในการบูรณาการแล้ว ก็มาสรุปเอาเองว่าจะต้องเอาอำนาจทั้งหมดนี้มา “บูรณาการ” ด้านกฎหมาย ด้วยการออก พ.ร.ก ที่ให้อำนาจกับนายกฯ คนเดียวอย่างล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติวันนั้น จึงชี้ให้ประชาชนเห็นว่า “…การออกพระราชกำหนดโดยอ้างสถานการณ์อย่างฉุกละหุก จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะสร้างวิกฤติให้เกิดมากขึ้น จนไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้…”

ย้อนไปดูสิครับว่า ทุกครั้งที่ผู้นำด้านสื่อออกมารวมตัวกันเพราะบ้านเมืองเกิดวิกฤติอย่างนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ต้องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จกับประชาชน

ประวัติศาสตร์ไม่เคยบิดเบือนตัวมันเองครับ

ที่มา คมชัดลึก 23 ก.ค.48

แท็ก คำค้นหา