สัมภาษณ์พิเศษ
โดย อริน เจียจันทร์พงษ์ และภมรศรี ไพบูลย์รวมศิลป์ “สื่อมีอำนาจการเมือง เศรษฐกิจอยู่แล้วในตัวมันเอง นอกจากจะทำกำไรได้ ยังมีอำนาจข่าวสารข้อมูล และวัฒนธรรมที่ธุรกิจอื่นไม่มี การได้มาจึงถือว่าดับเบิลทั้งอำนาจการเมือง และเศรษฐกิจ”
“รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัชกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสาหลักวงการนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นเหตุผลของการพยายามเข้ามาครอบครองสื่อ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือแกรมมี่ ซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) 32% รวมทั้งบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) แม้ขณะนี้ในส่วนมติชนจะยอมถอยเหลือแค่ 20% แล้วก็ตาม แต่สังคมยังคงไว้ใจไม่ได้
ทั้งนี้อาจารย์ชี้ให้เห็นด้วยว่า 40 ปีที่ผ่านมา แม้จะปรับกลไกเพื่อประกันให้สื่อเป็นเวทีสาธารณะในการแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอด แต่ ณ ปัจจุบัน ระบบสื่อมาถึงจุดที่กลายเป็นทุนนิยมเต็มขั้น ตรรกะของทุนกับตรรกะประชาธิปไตยเป็นคนละชุด ซึ่งมันพร้อมพังกำแพงที่สร้างขึ้น
“มติชน” ได้ถ่ายทอดการวิพากษ์ระบบสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน จากนักวิชาการคนนี้
**เดิมสื่อถูกอำนาจการเมืองครอบงำเนื้อหา อย่างการถูกข่มขู่คุกคามหรือสั่งปิดอย่างโจ่งแจ้ง แต่ปัจจุบันเป็นอำนาจเศรษฐกิจเข้ามายึดครอง ซึ่งแนบเนียนกว่า เห็นเช่นนั้นหรือไม่
เห็นด้วยว่าแนบเนียนกว่า เพราะการควบคุมโดยการเมืองสมัยก่อนตรงไปตรงมาคือ มีทหารมาปิด มีการใช้โซ่ล่ามแท่นพิมพ์ แต่เมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยและรู้ทันอำนาจแบบเดิม มีมาตรการป้องกันอยู่บ้างจากรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 39 และ 41 คล้ายกับประสบการณ์ 40 ปีที่ผ่านมา สอนเราว่า เขามาทางไหนก็ออกกลไกแก้ทางนั้น
แต่หลังจากนี้ต้องตั้งหลักใหม่แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้ป้องกันการเข้ามาทางเศรษฐกิจ ไม่มีการคุ้มครองการเทกโอเวอร์ หากมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องมีมาตรการคุ้มครองในส่วนนี้
**ข้อสังเกตนายทุนมักใกล้ชิดกับนักการเมืองแล้วต้องการเข้ามาเป็นเจ้าของสื่ออำนาจเศรษฐกิจและการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอในการครอบงำสื่อ ยกตัวอย่าง ฟิลิปปินส์ สมัยประธานาธิบดีเอสตราด้า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีคนนี้มียุทธศาสตร์ในการซื้อสื่อ มีการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อมิให้วิจารณ์การทำงานตนเอง โดยให้นักธุรกิจที่ใกล้ชิดตัวเองชื่อ มาร์ค ไฮเมเนซ ไปซื้อหนังสือพิมพ์มะนิลาไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฟิลิปปินส์ เจ้าของคนเดิมก็ได้เตือนกองบรรณาธิการให้เพลาๆ การวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ในที่สุด เมื่อประธานาธิบดีส่งมาร์ค ไฮเมเนซ ไปซื้อกิจการ หัวหน้ากองบรรณาธิการขณะนั้นไปรับทุนระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ก็บินกลับมาทันที และปรึกษากันทั้งกองบรรณาธิการประมาณ 300 คน ว่าต้องสู้ แต่นายทุนเดิมยอมขาย ในที่สุดกองบรรณาธิการจึงประชุมนัดวันอำลาผู้อ่านและออกฉบับสุดท้าย มีการเสนอข่าวบอกว่า วันนี้จัดงานฉลองการลาออก จากนั้นก็แยกย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ถือเป็นการตบหน้าผู้ที่เข้ามาใหม่ และนายทุนใหม่ก็ต้องตั้งหลักอยู่ 5-6 เดือน
**กรณีแกรมมี่เข้าซื้อหุ้น มติชน และโพสต์ มีเบื้องหลังหรือไม่
เทียบเคียงได้กับกรณีฟิลิปปินส์ โดยดูจากสังคมตั้งข้อสงสัยอย่างกว้างขวางว่า แกรมมี่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งนี้ การรุกครั้งนี้ถือว่าเป็นการรุกเข้ามาอย่างแรงมาก หลังจากบางกอกโพสต์มีการปลด บ.ก.ข่าวบางคน ไม่นานนักก็มีการเทกโอเวอร์ตามมาติดๆ คือกดดันให้หัวหน้าข่าวออกไม่พอ กลับเข้าไปคุมมากกว่านี้ ที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการรุกเข้ามาคุมไม่ให้เสรีภาพกับสื่อ เพราะเข้ามาถือหุ้นใหญ่
กรณีมติชน จีเอ็มเอ็มบอกต้องการหุ้น 75% แม้ตอนหลังเหลือ 20% ก็ไว้ใจไม่ได้ คล้ายไอทีวี ตอนแรก 30% และค่อยๆ เพิ่มมาถึง 70% จนสามารถจัดการให้ห้องข่าวทำงานตามที่ผู้บริหารชุดใหม่ต้องการ พร้อมลดเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน และมีขบวนการทำให้บุคลิก เนื้อหาสาระของสื่อเปลี่ยนไป แต่แน่นอน ระยะแรกคงทำไม่ได้ซะทีเดียว ก็ต้องใช้ขบวนการขั้นสองคือ การผ่าตัดห้องข่าว ทั้งหมดนี้ถามว่า ทำไมจึงต้องการสื่อกันนัก ก็ตอบได้ว่า สื่อมีอำนาจการเมือง เศรษฐกิจอยู่แล้วในตัวมันเอง นอกจากจะทำกำไรได้ ยังมีอำนาจข่าวสารข้อมูล และวัฒนธรรมที่ธุรกิจอื่นไม่มี การได้มาจึงถือว่าดับเบิลทั้งอำนาจการเมือง และเศรษฐกิจ
**มาตรา 41 รัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันความเป็นอิสระการทำงานของนักวิชาชีพ ไม่สามารถใช้ได้จริงหรือ
เรื่องนี้ไปไกลกว่านั้นแล้ว ปัญหาขณะนี้เป็นเรื่องมาตรการการป้องกันอำนาจเศรษฐกิจที่เราไม่มี อาจต้องพิจารณาตั้งแต่โครงสร้างของกิจการหนังสือพิมพ์ว่า กิจการประเภทนี้ควรเป็นองค์กรธุรกิจรูปแบบใด โดยต้องไล่ทั้งลูกโซ่ ดูลักษณะการเป็นเจ้าของ และความสัมพันธ์กับกองบรรณาธิการ ในโลกนี้อาจแบ่งได้ 7 แบบ คือ 1.มีการบริหารงานแบบบุคคลเดียว ที่เจ้าของเป็นทั้งผู้จัดการและบรรณาธิการ 2.เป็นการบริหารแบบหุ้นส่วน 3.การบริหารงานแบบบริษัท ซึ่งเป็นแบบที่หนังสือพิมพ์รายวันนิยมใช้
4.แบบกลุ่มหรือเครือข่าย 5.แบบร่วมลงทุนของผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ 2 ฉบับ 6.แบบรวมหุ้นระหว่างพนักงานและลูกจ้าง เพื่อให้เกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นเจ้าของและปกป้องบริษัทร่วมกัน และ 7.การบริหารโดยเครือข่ายที่เชื่อมโยงจากหน่วยงานอื่น ซึ่งการบริหารแบบนี้ เป็นแบบที่บรรษัทใหญ่ของธุรกิจสื่อในประเทศไทย ซีกบันเทิงและอินฟอร์เมชั่นใช้มาก โดยอาจเป็นหนังสือ หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เอเจนซี่โฆษณา เพราะต้องการโตครบวงจรแบบแนวดิ่ง คือมีโรงพิมพ์ โรงงานกระดาษ มีสายส่ง ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ต้องมาดูว่า การเป็นเจ้าของแบบไหนจะเหมาะกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของไทย
** แล้วกฎหมายการป้องกันการเป็นเจ้าของข้ามสื่อ(cross ownership) ที่นานาประเทศบังคับใช้ และหลายฝ่ายในเมืองไทยก็อยากให้เกิดขึ้น มีหลักการอย่างไร
กฎหมายดังกล่าวก็เป็น 1 ในมาตรการป้องกัน หลักการคือ ป้องกันไม่ให้ธุรกิจสื่อเจ้าใดเจ้าหนึ่งครอบงำตลาดโดยผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น สมมติว่าถ้าเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ระดับชาติ 1 ฉบับ สัดส่วนอาจจะเป็นเจ้าของ น.ส.พ.ท้องถิ่นได้ไม่เกิน 2 ฉบับ แม็กกาซีนไม่เกิน 3 ฉบับ วิทยุ 1 คลื่น และถ้าจะไปถือหุ้นในโทรทัศน์ระดับชาติ ก็ได้ 1 ช่อง แต่ไม่เกิน 10% เป็นต้น เพราะกิจการโทรทัศน์ ถือว่ามีผลกระทบสูง ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามเข้าไปถือ แต่ไม่ให้เข้าไปถือมากเกินไป คือต้องเฉลี่ยกัน เขาจะมีสูตรจากการวิเคราะห์ตลาด ความเปลี่ยนแปลงความหลากหลายของตลาด ทั้งนี้เพราะตลาดต้องการความหลากหลาย ความหลากหลายเหล่านี้สะท้อนความเป็นเจ้าของ หากมีผู้เป็นเจ้าของเพียง 3 ราย 5 ราย ถือว่ากึ่งการผูกขาดมีการกระจุกตัวสูง กึ่งผูกขาดคือแข่งขันน้อยราย กระจุกตัวสูงหมายความว่า มีบริษัทเช่นจีเอ็มเอ็ม ถือครองทุกสื่อในระดับสูง เรียกว่ามีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ(concentration) โทนการเสนอจะออกมาแนวเดียวกัน ทำให้สังคมขาดเสียงที่หลากหลาย ซึ่งเรายังไม่มีกฎหมายป้องกันในลักษณะนี้
**ทราบมาว่าช่วงมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการคุยกันในเรื่องนี้ แล้วทำไมกฎหมายดังกล่าวถึงหายไป
ตอนยกร่าง พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็มีการพูดกันเรื่องการป้องกันการถือครองสื่อครบวงจร เพราะกลัวการมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางในการนำเสนอเนื้อหา และทิศทางการรับรู้ข่าวสารของสังคม ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการด้านเนื้อหา(content provider) เช่น รับสัมปทานคลื่นวิทยุ แล้วข้ามสื่อไปโทรทัศน์ ยิ่งด้านบันเทิงข้ามมาด้านข่าวสารด้วยแล้วก็ยิ่งมีอิทธิพล เราเริ่มเห็นสภาพแล้วว่ามีผลเสียกับสิทธิเสรีภาพ และความหลากหลายทางความคิด รสนิยมในสังคม จึงมีการคุยเรื่องนี้ว่า ถ้าถือหุ้นใหญ่ในหนังสือพิมพ์จะถือหุ้นในวิทยุ โทรทัศน์ได้มากน้อยเพียงใด ก็ปรากฏว่า ในที่สุดที่ประชุมเห็นขัดแย้ง และตัดออกไป โดยขณะนั้นสื่อบันเทิงรายใหญ่ก็นั่งในที่ประชุมด้วยและบอกว่าไม่รับกฎเกณฑ์ดังกล่าว เพราะผู้ประกอบอุตสาหกรรมสื่อเห็นว่า ถ้าขยายกิจการข้ามสื่อจะทำให้ประหยัดขนาด และประหยัดปัจจัยการลงทุน ทำให้มีผลกำไรสูงขึ้น แต่ภาคประชาชนมองว่าเสียหาย เพราะความหลากหลายน้อยลง สิทธิเสรีภาพน้อยลง
**เกราะป้องกันที่ดีที่สุดของนักวิชาชีพคืออะไร
มาตรการการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาว่าจะจัดโครงสร้างองค์ประกอบความเป็นเจ้าของในแต่ละองค์กรสื่ออย่างไรให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะ และเป็นประโยชน์กับนักวิชาชีพในห้องข่าว หรือการป้องกันการถือครองข้ามสื่อ และ การป้องกันการมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางในการนำเสนอเนื้อหาของผู้ถือครองสื่อขนาดใหญ่ ก็พอเป็นกลไกในการป้องกันอำนาจเศรษฐกิจที่บ่อยครั้งมาคู่กับอำนาจการเมือง ณ บริบทขณะนี้ เหมือนที่ก่อนหน้านี้เรามีมาตรา 39 และ 41
อย่างไรก็ดี แม้จะมีมาตรการทั้ง 3 ขั้น ก็มีข้อคิดที่สำคัญว่า ทั้งหมดของระบบสื่อไทยเป็นอุตสาหกรรมภายใต้ทุนนิยมไปแล้ว ดังนั้น วิธีการของธุรกิจจึงเข้ามาเป็นโครงสร้างใหญ่ เมื่อระบบธุรกิจเป็นตรรกะของการดำเนินงานสื่อ สิทธิเสรีภาพของสื่อก็ยิ่งเปราะบาง เพราะตรรกะของทุนนิยมหล่อเลี้ยงด้วยการลงทุนและกำไร ตรรกะของสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของสังคมต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นตรรกะคนละชุดกับทุน เพราะฉะนั้น เราต้องเตือนกันเลยว่ามีความเปราะบางสูง ถ้าเราตระหนักมันแล้ว ก็ต้องดูว่าจะทำให้มันสมดุลกันอย่างไร อย่างน้อยๆ ไม่ว่าจะแก้เกมอย่างไร ป้องกันอย่างไร ตรรกะของทุนก็เดินหน้าของมันเข้าไปจนได้ และเมื่อมาถึงจุดวิกฤต เราจะทราบดีว่า ทุนไม่เคยไยดีกับสิทธิเสรีภาพ หรือการเมืองประชาธิปไตย
ดังนั้น ยิ่งหมายความว่า ห้องข่าวหรือกองบรรณาธิการต้องเข้มแข็ง ความเป็นอิสระต้องมี สำคัญสุดคือจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์ต้องสูง เพราะเราไม่มีอาวุธอื่นใดเลย ที่จะป้องกันการเข้ามา แม้ตั้งกำแพงไว้กี่ชั้น ตรรกะแห่งทุนก็พังเข้ามาได้ทุกที หากจะสู้ก็สู้ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณก็จะชนะได้
ที่มา มติชนรายวัน 19 ก.ย.48