อัญชลี ไพรีรักษ์ นักข่าวหญิงที่หายไป

โดย *สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย* 1 มกราคม 2548 หลังจากที่ สำนักข่าวจีจีนิวส์ ผู้เช่าจัดรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจทาง คลื่นเอฟเอ็ม 96.5 ย้ายไปจัดรายการที่คลื่นเอฟเอ็ม 94 ปรากฏว่ารายการนั้นไม่ใช่คลื่นเสียงของผู้จัดคนเดิม นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์

วันหนึ่งที่ดนัยกลับมามีเสียง แต่ก็ยังไม่มีเสียงของอัญชลี มีแต่เสียงของ พันลี เจดีย์กลางน้ำ ใน “คนไม่จนมุม” ทางคลื่นเอฟเอ็ม 96 ที่มีสำเนียงการพูดคล้ายอัญชลี เท่านั้น

ขวัญใจแท็กซี่ ขวัญใจคนฟังวิทยุ หายไปไหน!!!

รายการ “จับชีพจรข่าว” ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 12.40-14.30 น. รายการ “สุดสัปดาห์สาระ” เสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.40-10.00 น. ซึ่งเป็นรายการสนทนาประเด็นข่าวทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมหายไปไหน และพันลีเป็นใครหรือ?

อัญชลีกล่าวเปิดใจด้วยคำพูดที่ว่า

การหายไปครั้งนี้ เพราะเราเป็นแพะของความโกรธ และเกลียดจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่วันนี้ไม่มีแม้แต่ที่ยืน ถึงแม้จะมีที่ยืนเขาบอกว่า เราต้องยืนแบบไหนและยืนอย่างไร ไม่ได้ยืนในจุดยืนของเรา ถ้าทำไม่ได้ก็บอกให้เรา “ไปซะ” เชื่อไหมว่าเพื่อนสื่อมวลชนกลัวเขาหมด พูดโทรศัพท์ต้องกระซิบว่ากลัวถูกดักฟัง เราบอกว่า ช่างสิ อยากดักฟังก็ทำไป นักการเมืองที่ดีต้องดูที่สีหน้า และศักดิ์ศรีของเขา

ผู้หญิงหน้าใสๆ ดูห้าวๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวในเส้นการทำข่าวกว่า 20 ปี เธอบอกว่า เราหายไปเหมือนโดนคลื่นสึนามิกวาดหายไปอย่างเงียบๆ จนเวลาผ่านไปสองเดือนคนเริ่มสนใจว่าเราไปไหน เชื่อไหมว่า เมื่อก่อนไม่มีการแทรกแซงสื่อ วิทยุต้อง เปลี่ยนคลื่นเพราะหมดสัญญา ไม่มีตังค์จ่ายเท่านั้น แต่วันนี้ไม่ใช่

“วันนี้ที่ต้องหยุด บางคนโกรธเราด้วย 6 ข้อหา คือ 1.สัมภาษณ์ชวน หลีกภัย และคุณชวนเปรียบเทียบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นทรราช 2.สัมภาษณ์ ธานินทร์ ใจสมุทร มีการเปรียบทักษิณว่าเป็นจอมพล 3.โกรธที่เราบรรยายภาพในวีซีดีตากใบ 4.โกรธเรื่องเอกยุทธ อัญชันบุตร หาว่ารับเงินเอกยุทธเพื่อล้มรัฐบาล 5.โกรธหาว่าเราไม่เป็นกลาง ไปเป็นรองนายกสมุทรปราการของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แสดงว่าเป็นพรรคมหาชน 6.ปลุกระดมให้คนฟังวิทยุ เกลียดชังรัฐบาล”

เธอบอกว่า ด้วย 6 ปัญหานี้ที่ได้รับฟังจากห้องประชุม และมีคนของรัฐบางคนมาแจ้งว่า บริษัทจะทำรายการต่อได้ แต่ต้องไม่มี อัญชลี ไพรีรักษ์ จึงต้องหยุด แกนนำในที่ประชุมบอกไม่ได้สิ แต่ก็กลัวเลยเถิด เพราะเราเป็นมือปืนรับจ้าง แต่ถ้าทำให้พนักงานในบริษัทพี่ดนัยเดือดร้อน ก็หยุดดีกว่า เพราะบริษัทต้องอยู่รอด ไม่ว่ากัน เราเห็นใจ โดยมีข้ออ้างที่บอกแฟนรายการว่า อัญชลีหยุดเพื่อไปทำโทรทัศน์เคเบิ้ล

“พล.ต.จำลอง ศรีเมือง บอกว่า คุณรู้ไหมว่าคนในพรรคไทยรักไทยไม่ชอบคุณ และช่วงระหว่างรอทีวีเคเบิ้ลพี่ดนัยได้ช่วงเวลามาหนึ่งแต่ข้อห้ามเหมือนว่าต้องไม่ใช่อัญชลี จึงเป็นที่มาของ พันลี เจดีย์กลางน้ำ ซึ่งก็คือเรา ใครโทร.มาก็บอกว่าไม่ใช่อัญชลี ทำได้ 1 เดือนก็หยุดเพราะ 1.ไม่อยากหลอกคน 2.ตอนนั้นมีโฆษณาบ้านมั่นคงเขา ก็ให้ถามแต่เรื่องบ้านมั่นคง มันไม่ใช่เรา”

ทุกเรื่องล้วนมีที่มาที่ไป

เธอบอกว่า อัญชลีไม่เคยรับเงินเอกยุทธ แต่ที่เราทำข่าวเพราะเรามีความเป็นนักข่าวที่เห็นข่าวเลือดในกายมันพลุ่งพล่าน นักข่าวมีหรือที่เห็นข่าวแล้วไม่ทำข่าว มีเรื่องเดียวที่อึดอัดใจคือเป็นรองนายกเทศมนตรี ซึ่งไปลาออกแล้ว โดยบอกท่านวัฒนาว่า ขอออก อย่าให้หนูทำอะไรในสิ่งที่หนูพูดไม่ได้เต็มปาก แม้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปก็ตาม

เธอเล่าว่า ก่อนหน้าบ่อยครั้งที่จัดรายการกระทบกระทั่งรัฐบาล ก็มักจะมีการเซ็นเซอร์กันเองจากคนข้างใน ว่าห้ามสัมภาษณ์คนนี้ ด่ารัฐบาลอย่างเดียว ไม่เอา หลังเรื่องตากใบ หลังเรื่องสัมภาษณ์เอกยุทธ หลังสัมภาษณ์พรรคประชาธิปัตย์ คนข้างในก็บอกว่า เขาสั่งห้ามไม่ให้สัมภาษณ์อีก และบ่อยครั้ง ชายที่ชื่อ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ตัวแทนจากพรรคไทยรักไทยคนเดียวที่คุยกัน เธอมักจะเตือนว่า ใจเย็นๆ นะ เบาๆ หน่อย และเขาคือคนที่คอยปกป้องเรา โดยบอกว่าอัญชลีเป็นคนชั้นเดียวไม่รับเงินหรอก

“ใครจะรู้สิ่งที่เราทำข่าวและคิดว่า เป็นข่าวเด็ดในรอบปี เหมือนว่า ออสการ์ โก ทู อัญชลี ไม่มีใครไม่ฟังรายการฉัน ผ่านไปเพื่อนบอกว่า เป็นไงล่ะออส การ์ การทำครั้งนั้นเราได้เต็มๆ ทั้งชื่อเสียง เรตติ้งของคลื่นที่ทิ้งคนอื่นไม่เห็นฝุ่น และการโดนแบล๊ค ลิสต์เต็มๆ เช่นกัน”

ระหว่างการรอคอยการจัดตั้งรายการทีวีเคเบิ้ล

อัญชลีเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่ประชุมเรียกไปประชุมเรื่องความคืบหน้าของการจัดตั้ง แกนนำบอกว่าเราจัดได้ ไม่น่ามีปัญหา แต่พี่ดนัยดูเหมือนจะกังวลเรื่องที่เราไปเป็นพิธีกรเปิดตัว ร.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุธเทวา พี่ดนัยบอกว่า ทำไมตอนนั้นไปช่วยพีระพันธ์หาเสียง เราก็บอกว่า เปล่านะไปเป็นพิธีกรเท่านั้น ทุกคนก็ไปเป็นพิธีกรให้หลายคน ไม่เกี่ยวกันนี่ เราเห็นความกังวลก็รู้แล้วว่า ถึงจะมีทีวีหรือไม่มี เขาก็คงให้เราทำไม่ได้แล้ว หลายปีที่ทำงานกับพี่ดนัยเขาดูแลเราดี เราเข้าใจ แต่ถ้าเป็นบริษัทเรา เราบอกตรงๆ ถึงปัญหา ไม่ให้ทำ ก็ไม่ให้ทำเท่านั้นเอง ไม่มานั่งหลอกกัน ไม่มานั่งวางฟอร์มว่าเรายังเป็นสื่อมวลชนอยู่ แต่ขณะเดียวกันเขาสั่งไม่ให้เอาเธอ ฉันก็ต้องทำตาม

เธอบอกว่าประตูการจัดรายการสำหรับเธอมันถูกปิดแล้ว!!!

“คุณจำลอง ศรีเมือง ก็พยายามช่วยไปได้คลื่น 99 มาจากคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ คุณจำลองเอามาให้อัญชลีทำปรากฏว่า รายการถูกเลื่อนทันที หรือแม้ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งเป็นทหาร เขาไปขอคลื่นให้เพื่อนทหารด้วยกันเพื่อมาให้อัญชลีทำหลังตกงาน เพื่อนทหารก็บอกว่า ให้ได้ แต่อย่าเอาไปให้อัญชลีนะ ทุกพื้นที่ของทหารไม่ให้เรา”

“เราผ่านร้อนหนาวมาเยอะ ทำข่าวมา 20 ปี ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่มีปัญหาคือเราถูกสั่งให้ปิดอย่างเงียบๆ ไม่มีใครรู้ว่าเราไปไหน เราเป็นคนชอบทำวิทยุมากที่สุด ชอบอ่านหนังสือมาก อ่านจบก็เล่าต่อ รายการวิทยุเป็นหัวใจของเราเลย ตอนนี้ไม่ได้จัดก็รู้สึกเหงา อาทิตย์แรกที่ไม่ได้ทำงานก็ยังตื่นตี 4 คิดว่าต้องไปทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็เคยจัดตลอด ตอนนั้นคิดว่าตื่นทำไม นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ก็คิดอยากเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง แต่ก็ไม่ได้ เราต้องไปพูดกับคนสนิทเรื่องการเมืองเท่านั้น ไม่กล้าไปพูดกับคนอื่น หลังเลือกตั้งเรากลัวมากถามตัวเอง ฉันจะไปไหน ไปอย่างไรกับใครล่ะ เพราะทุกคนอยู่ในอาณาจักรแห่งความระมัดระวัง แต่เราอยู่ในอาณา จักรแห่งความกลัว เพราะประตูทุกบานปิดหมด

วันนี้การแทรกแซงสื่อมาจากการโฆษณาโดยส่วนใหญ่ การทำข่าวเป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องของจิตวิญญาณอย่างเดียว ธุรกิจอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการโฆษณา เพราะฉะนั้นถ้ารัฐปิดก๊อกน้ำใครจะอยู่ได้ วันนี้ใครจะยอมตาย แต่หน้าที่ของสื่อมวลชนคือกระจกส่อง ไม่ใช่หน้าที่ร่วมไม้ร่วมมืออย่างที่รัฐบาลบอก การสร้างชาติไม่ใช่แค่ความร่วมมือ แต่การตรวจสอบก็คือความร่วมมือเช่นกัน สื่อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และสงสัยว่ารัฐจะทำอะไร ถ้าเราไปจับมือ เมื่อเงินและอำนาจไปอยู่ในตัวคน เราจะรู้ว่านาทีไหนเขาไม่บิดพลิ้วสัญญาประชาชน ถ้าคุณดีเราก็บอกว่าคุณดี แต่เมื่อไหร่ที่ต้องขุดคุ้ยหาความจริงคือการทำลายชาติ คืออะไร อย่าเอานักการเมือง พรรคการเมือง ประเทศชาติมาผูกติดกัน เราต่างมีหน้าที่ รัฐบาลมีหน้าที่ สื่อมวลชนมีหน้าที่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ไป แต่ทุกคนต้องเหมือนกัน คือต้องซื่อสัตย์และภักดีต่อประชาชน”

นักข่าวหญิงคนนี้คือ คนที่หายไป

หายไปทั้งที่ยังมีวันนักข่าว 5 มีนาคม หายไปทั้งที่ยังมีวันสตรีสากล 8 มีนาคม

ที่มา มติชน 4 มี.ค. 48

แท็ก คำค้นหา