โรงงานทีวีไทยตกรุ่นเร่งปรับตัวผลิตจอแอลซีดีส่งออกยุโรป

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุม CEO Forum อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ว่า ที่ประชุมได้มีประเด็นหารือเกี่ยวกับการกำหนดท่าทีการเจรจาการค้าเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางที่ไทยควรจะนำไปหารือกับอาเซียนและสหภาพยุโรปก่อนจะเจรจาเปิดเสรี

นางสาววรพรรณ ลิ้มตระกูล ผู้อำนวยการบริษัท เวิร์ล อิเล็กทริค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปจริง อุตสาหกรรมเครื่องรับโทรทัศน์คงจะมีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันความต้องการของเครื่องรับโทรทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความต้องการมุ่งไปสู่จอ “แอลซีดี” มากขึ้น ส่วนจอภาพธรรมดาความต้องการน้อยลง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด ยังไม่สามารถผลิตจอแอลซีดีได้ ต้องนำเข้าจาก ต่างประเทศ โดยประเทศที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสหรัฐอเมริกากับสภาพยุโรป ดังนั้นการเปิดเขตการค้าเสรีดังกล่าวก็ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องรับโทรทัศน์เสียเปรียบได้

นายอานนท์ สิมะกุลธร กรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำ ความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในทางตรงกันข้ามว่า สำหรับ สินค้าเครื่องปรับอากาศนั้น ปัจจุบันกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปถือเป็นลูกค้าส่งออกที่สำคัญเป็น อันดับต้นๆ ดังนั้นหากเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป มีผลก็ถือเป็นเรื่องดี สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่อาจจะมีผลเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกได้ ซึ่งผู้ประกอบการก็จะต้องปรับตัวผลิต หรือดำเนินการให้ได้ตามระเบียบของ EU

ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้ว ในอนาคตจะต้องมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เนื่องจากวันที่ 11 มกราคม 2551 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อนุมัติให้กรมเจรจาการค้าไปตั้งคณะเจรจาตามกรอบค้าเสรีดังกล่าว

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาเตรียม การยกร่างกรอบการเจรจาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงแนวทางเจรจาเรื่องมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) และขอความร่วมมือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดท่าทีการเจรจาการค้าสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา ซึ่งคาด ว่าจะมีขึ้นประมาณเดือนเมษายน 2551

โดยประเด็นพิจารณาในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย 1) มีสินค้าในพิกัดใด (ระบบพิกัด HS 2007) ที่ต้องการเสนอให้ EU ลดภาษีศุลกากรให้แก่อาเซียนทันที 2) สินค้าในพิกัดดังกล่าวความเห็นว่าประเทศไทยสามารถลดภาษีให้แก่ EU ได้ทันทีหรือไม่ และในกรณีที่ไม่สามารถลดภาษีได้ เนื่องมาจากสาเหตุใด และจะสามารถปรับลดภาษีได้ในปีใด

3) สินค้าที่ประสบปัญหาเรื่องการเข้าสู่ตลาด EU, ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และปัญหาดังกล่าวครอบคลุมสินค้าใดบ้าง รวมสินค้าใด EU ที่แข่งขันกับสินค้าในอาเซียน และ 4) ต้องการได้รับความช่วยเหลือจาก EU เพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาด EU, ความสามารถในการยอมรับกฎระเบียบ เพื่อนำไปสู่การลดภาษี

อย่างไรก็ตามเขตการค้าเสรีดังกล่าวนี้ “ภาษี” ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือเรื่องของกฎระเบียบ “มาตรฐานการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs)” เพราะสหภาพยุโรปถือเป็น กลุ่มประเทศที่มีมาตรการและระเบียบสิ่งแวดล้อมควบคุมสินค้านำเข้ามากมาย

อาทิ ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (WEEE), ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (RoHs) เป็นต้น ซึ่งการเจรจาอาจจะต่อรองเรื่องการยอมรับปฏิบัติตามระเบียบมาตรการต่างๆ สหภาพยุโรปจะต้องยอมลดภาษีด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3968 (3168) หน้า 8

 

แท็ก คำค้นหา