จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนผู้ร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนทุกท่าน
ในวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีเราสื่อมวลชนได้ยึดถือวันนี้เป็นวันนักข่าว ซึ่งคนข่าวในอดีตถือเอาวันก่อตั้งสมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 เป็นวันนักข่าว และ คนข่าวในอดีตอีกเช่นกันได้ยืนหยัดการต่อสู้ร่วมกับประชาชน ผ่านคุกผ่านตะราง ผ่านยุคมืด ยุคสว่าง และนำมาซึ่งเสรีภาพ ส่งผ่านมาถึงนักข่าวในยุคสมัยของเราวันนี้ ซึ่งเราคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าในสถานการณ์ของสังคมและการเมืองในประเทศของเรา
ณ ปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างและขัดแย้งภายใต้ภาวะที่ซับซ้อน เราควรตระหนักในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงในสภาวะความขัดแย้งของสังคมและการเมืองในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความยากลำบากการทำงานของเพื่อนสื่อมวลชนถูกจับจ้อง ตรวจสอบ จากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะประชาชน และ มวลชนของกลุ่มพลังทางการเมืองที่เห็นต่างกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าท่านจะเป็นสื่อในส่วนของสื่อการเมืองเฉพาะฝ่าย หรือ สื่อทั่วไป
และในวาระของ “วันนักข่าว” ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ สื่อมวลชน เรากำลังทำหน้าทีอยู่ท่ามกลางความเกลียดชังของผู้คนในสังคมที่พร้อมจะทำร้ายกันโดยไม่เกรงกลัวหรือกังวลต่อผลที่จะตามมา ซึ่งต้องยอมรับว่า ในระหว่างกลางสถานการณ์ พวกเราสื่อมวลชนเองส่วนหนึ่ง ถูกมองอย่างคลางแคลงว่า เป็นผู้เติมเชื้อไฟให้ยิ่งประทุขึ้นด้วย คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ของกลุ่มคนที่ทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือวาทกรรมการเมือง คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง นำเสนอผ่านสื่อของเราในทุกๆ วัน ไม่นับรวมการถูกนำมา ผลิตซ้ำ บิดเบือน ผ่านเครือข่ายสังคมโซเชียลมีเดีย เพื่อขยายผลของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้ง
สถานการณ์ในขณะนี้ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างพวกเราไม่ควรปล่อยผ่านให้ไปสร้างการเติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง ยิ่งคุกรุ่น จนอาจบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง พวกเราต้องกลับมาทบทวนท่าทีและร่วมกันตรวจสอบกันเองอย่างจริงจัง
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เสรีภาพ” ของ “สื่อมวลชน” ด้วยความหวังว่า เสรีภาพ จะช่วยเปิดเส้นทางให้พวกเราสามารถนำเสนอ “ความจริง” ให้สังคมได้รับรู้ ร่วมตรวจสอบ เสนอทางออก และแก้ปัญหาในสังคม พวกเราฝึกฝนการทำข่าวเชิงสืบสวน จนหลายกรณี มีผลให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ โดยเฉพาะ นักการเมือง ถูก ปปช. ตรวจสอบ ต้องลาออก หรือแม้แต่ถูกตัดสินให้จำคุก แต่เมื่อมองย้อนกลับมา เราตรวจสอบพวกเรากันเองมากน้อยแค่ไหน และเพียงพอหรือไม่
เราเรียกร้องให้สังคมมอบ “เสรีภาพ” ให้กับเรา แต่สิ่งที่มาควบคู่กันก็คือ เราใช้ “เสรีภาพ” บนความรับผิดชอบอย่างเข้มแข็งบนจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพหรือไม่?
ในปัจจุบันสื่อมวลชนที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลอมรวม หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล ขณะที่ กสทช.กำลังจะออกประกาศเพื่อกำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาของสื่อมวลชน ซึ่งมีรายละเอียดหลายส่วนที่พวกเรากังวลใจ ว่า อาจกลายเป็นเงื่อนไขปิดกั้นเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่เราจะยับยั้งไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาครอบงำหรือแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ก็ต่อเมื่อเราได้พิสูจน์ว่า พวกเรามีความเป็นเอกภาพ ในการรักษาคุณภาพมาตรฐาน ภายใต้ความเข้าใจในการทำหน้าที่อย่างกล้าหาญภายใต้ จริยธรรมและจรรยาบรรณ มีการกำกับดูแล และ ตรวจสอบกันเองได้ดีพอ
จากสิ่งที่กล่าวมาทางองค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องและทำความเข้าใจกับเพื่อนสื่อมวลชนขอให้ทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด รวมไปจนถึงการตรวจสอบข้อมูลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเสนอเป็นข่าว ไปในช่องทางสื่อต่างๆ ให้สมกับการที่สังคมให้เสรีภาพแก่เรามา
ผู้คนในสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่หวาดระแวงขัดแย้งกัน ก็น่าจะมาจากพวกเรา สื่อมวลชน ได้มีส่วนสำคัญ ในการทำหน้าที่ นำเสนอ ข้อมูลข้อเท็จจริง ข่าวสาร ความจริง อย่างรอบด้าน อย่างตระหนักในหน้าที่สื่อเพื่อประชาชน ภายใต้บริบทของ “เสรีภาพต้องถูกใช้ควบคู่กับความรับผิดชอบ”
ด้วยความรักและศรัทธาต่อจริยธรรม จรรยาบรรณของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๕ มีนาคม ๒๕๕๗