4 องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช.ทบทวนและแก้ไข
ร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.37 ฉบับตัดต่อพันธุกรรม
(10 พ.ย. 56) ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา 5 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเผยแพร่และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กรและสื่อมวลชนในวงกว้างเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 นั้น
ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน กสทช. มิได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นจากร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ ฉบับดังกล่าว แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้จัดทำร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ขึ้นมาแทนฉบับเดิมที่ได้รับฟังความคิดเห็นไปเมื่อไม่นานมานี้ และจะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ กสท. ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหา รายการฯ ฉบับใหม่นี้มิได้มีเนื้อหาต่างจากร่างประกาศฉบับเดิมแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการปรับแก้ไขจากร่างฉบับเดิมโดยตัดเนื้อหาในหมวดที่ 2 มาตรการในการออกอากาศรายการ ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมออกทั้งหมด คงไว้ในหมวดที่ 1 เนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ และหมวดที่ 3 การกำกับดูแล ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการหรือเจ้าพนักงาน สั่งระงับการออกอากาศรายการที่วินิจฉัยว่ามีลักษณะต้องห้าม ได้ทันทีทั้งด้วยวาจาหรือหนังสือ
องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กสทช. จะต้องมีกลไกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อมวลชนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดในมาตรา 37 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่การร่างประกาศ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ ฉบับใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว มิได้ดำเนินไปด้วยความเข้าใจในกระบวนการทำงานด้านข่าวและรายการ และยังมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นจดหมายให้ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และหาก กสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร ยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ