สรุปเวทีเสวนา “ทางออกประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนาเรื่อง ทางออกประเทศไทย เชิญวิทยากร ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล, หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล, นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายเทพชัย หย่อง และผู้ดำเนินรายการ นายไพศาล มังกรไชยา ที่โรงแรมเดอะสุโกศล

2

 

สรุปเวทีเสวนา “ทางออกประเทศไทย”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

โดยวิทยากร

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร   เทวกุล

นายอุทัย พิมพ์ใจชน

นายเทพชัย  หย่อง

ศ (พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล “สาเหตุที่เป็นรากเหง้าให้เกิดปัญหาต่าง ๆ นั้น คือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม การปล่อยให้ระบบทุนกับการเมืองผสมพันธุ์กัน ถือเป็นสิ่งอันตรายที่สุด เมื่อทั้งเงินและอำนาจรัฐรวมอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเดียวกันแล้ว คนกลุ่มนั้นจะนับถือเงินเป็นพระเจ้า เพื่อประคับประคองสถานะให้ดำรงอยู่ได้ …การขายเสียงไม่ใช่เพราะคนจน แม้จะจริงอยู่ที่คนจนขายเสียงได้ถูก  แต่ความจริงเป็นเพราะระบบการเลือกตั้งได้เปิดช่องไว้ ผมไม่รู้จะโทษใคร จึงอยากโทษที่การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมของไทย…ผีป่าเงินดี ผีบ้านจึงโม่แป้ง หมดแรงทำงาน

อุทัย พิมพ์ใจชน “การแก้รัฐธรรมนูญเปลืองกระดาษ เปลืองเวลา หันมาสร้างคนรุ่นใหม่ดีกว่า คนรุ่นเก่าปล่อยให้ตายไป เพราะแก้รัฐธรรมนูญไปไม่เกิดประโยชน์ ตราบใดที่คนรุ่นปัจจุบันยังมีลักษณะเช่นนี้ พร้อมกันนี้เรียกร้องไม่ควรให้เกิดการปฏิวัติ แต่หวังให้ทุกอย่างจบในสภา … ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยว่ายากที่จะหาทางแก้ไขได้ เพราะยิ่งนานวันยิ่งเกิดการยอมรับกันมากขึ้น นอกเสียจากต้อง ‘สร้างผีให้คนกลัว’ หมายถึงออกกฎหมาย”

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร   เทวกุล “ทางออกประเทศไทยที่เราพูดถึง ต้องการมีคนที่เข้าใจในเรื่องนี้ถึงจะผลักดันไปได้  ผลักดันการลงทุนข้ามประเทศ ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการค้า  ปัญหาก็คือว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดเข้าใจไม่เพียงพอ ทางออกนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ค่อย ๆ เดินไปไม่เหมือนกับว่ามีรัฐบาลมาช่วยวางแนวทางผลักดันแล้วเดินไปพร้อม ๆ กันได้  ประเทศจะเจริญได้เร็วมากเพราะว่าการผลักดันให้ทุกคนรู้เท่าทัน ทางออกประเทศไทย ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลน่าจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ…การแก้ปัญหาคือ ต้องทำให้คนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าคนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจก็จะหมุนได้ผมว่ารัฐบาลพยายามทำใน 2 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำแต่ดันทำผิดทาง การเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ ต้องเริ่มจากการให้คนทำมาหากินและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขอใช้คำว่า “ทำมาหากินและมีรายได้เพิ่มขึ้น”

เทพชัย  หย่อง เชื่ออยู่ว่า  ถ้าสื่อทำหน้าที่ของตัวเองเป็นมืออาชีพจริง ๆ มันสามารถทำให้สังคมมีทางออก  สื่อมีภารกิจหลักในการทำให้สื่อที่คนในวงการสื่อเรียกว่า การเท่าทันสื่อ เหตุผลหนึ่งที่คนมีอารมณ์รุนแรงด้านการเมืองสังคม  เพราะว่าขาดการรู้เท่าทันสื่อ มีแนวโน้มในสิ่งที่ได้ยินจากสื่อ  ถ้าสื่อบอกว่าเลว ก็จะเชื่อว่าเลว เขาจะมีความเชื่อทุกอย่างที่สื่อบอกไป  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นมากมาย … เรากำลังจะมีทีวีดิจิตอลเชิงพาณิชย์กำลังเกิดขึ้น 24 ช่อง ทีวีดิจิตอล

สาธารณะ 12 ช่อง เป็นช่องที่ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง ให้ความรู้การศึกษาแก่ประชาชนและจะมีทีวีดิจิตอลอีก 12 ช่องที่เป็นทีวีชุมชนรายงานข่าวให้ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น และจะมีวิทยุดิจิตอลเกิดขึ้น เป็นร้อย เป็นพันคลื่นภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.  ประเทศไทยที่ผ่านมาไม่มีช่วงไหนที่ปรากฏการณ์ที่สื่อในจำนวนที่มหาศาลเกิดขึ้นเยอะขนาดนี้ในเวลานี้  ที่ผ่านมาเรามีความเคยชินกับทีวี เพียง 6 ช่อง วิทยุ 300-400 คลื่น นี่เป็นจุดที่สังคมไทยเป็นหัวเลี้ยว หัวต่อของสื่อ… ถ้าทีวีเหล่านี้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นมืออาชีพ จะเป็นการช่วยดึงให้กลุ่มคนที่ติดอยู่กับช่องที่แบ่งทางการเมืองชัดเจน ให้มาฟังมาดูรายการที่มีเหตุมีผลมากขึ้น”

(28 กันยายน 2556) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนา ‘ทางออกประเทศไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมทั้งจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล

ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของไทยที่ต้องเร่งแก้ไขเฉพาะหน้า คือ ความสามัคคีของคนไทย เพราะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชน ซึ่งเกิดจากความแตกสามัคคีในแวดวงการเมืองที่ถือเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนรัฐนาวา เมื่อเกิดความแตกแยกเรือลำน้อยนี้ก็ยากจะแล่นฝ่าคลื่นลมแรงได้นอกจากนี้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่สะสมผลประโยชน์ได้เปลี่ยนเป็นทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นเรื่องใหญ่และมะเร็งร้ายของประเทศที่ต้องหาทางออกให้พ้นจากโรคนี้

อีกทั้งการเปิดพื้นที่ปลุกระดมของประชาชนเพื่อแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยนักปลุกระดมมวลชนที่หวังเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง พรรคพวก มิใช่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของชาติเลยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเร่งแก้ไข  อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่าเราพลาดที่ปล่อยให้มีการเปิดพื้นที่ปลุกระดมประชาชนลักษณะนี้มาอย่างยาวนาน

สาเหตุที่เป็นรากเหง้าให้เกิดปัญหาต่าง ๆ นั้น คือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม ซึ่งหากเราจะแก้ประชาชนทั้งหมดยากมาก ถ้าระบบการเลือกตั้งของไทยที่มุ่งจับคนเข้าสู่อำนาจรัฐยังเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ตราบใดที่ยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในระบอบเสรีประชาธิปไตยอยู่

“ทุกวันนี้ระบบราชการเป็นลูกน้อง ไม่ใช่นาย ผิดกับสมัยก่อนตอนผมรับราชการใหม่ ๆ ผู้กุมอำนาจทางการเมืองจะเกรงใจข้าราชการประจำ แต่เดี๋ยวนี้ข้าราชการทุกระดับเป็นลูกน้อง เจ้านายเป็นนักเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะชนะการเลือกตั้งมาด้วยวิธีการใด เพราะถือว่าเป็นผู้บงการชีวิตการรับราชการ ซึ่งเวลานี้ทุกระบบเป็นเช่นนี้”  ศ.พิเศษ จรัญ กล่าว และว่าเมื่อระบบการเข้าสู่อำนาจตกอยู่ในระบบการเลือกตั้งที่เปิดเสรีให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างรุนแรงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงชาติ ต่อไปเราจะบอกคนรุ่นใหม่ได้อย่างไรว่าต่อไปนี้ห้ามเลือก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงกลายเป็นปัญหาร้อยแปดในไทย

เมื่อต้องใช้เงินในการเลือกตั้งก็ต้องหาเงิน ไม่มีทางอื่นเลย ซึ่งรอบแรกนักเลือกตั้งอาจจะขายสมบัติส่วนตัวเพื่อซื้อเสียงให้ชนะ แล้วเลือกตั้งรอบใหม่จะเหลืออีกเท่าไหร่ แต่ยังไม่ร้ายเท่ากับการสะสมกระสุนดินดำเพื่อสู้เลือกตั้งครั้งหน้า เพราะฝ่ายที่แพ้รู้แล้วว่าต้องต่อสู้อย่างไร ไม่ใช่เพียงปลาเค็มหรือรองเท้าแตะ แต่จะเป็นเงินหลายพัน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้พิพากษาตัดสินให้คนที่ทุจริตขายเสียงมีโทษทางอาญาและปกครอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหัวคะแนนปลายแถว ไม่เคยจับได้ตัวใหญ่ ซึ่งหัวคะแนนตายหนึ่งเกิดร้อยไม่มีวันหมด ที่สำคัญเราจับได้ไม่มาก ประกอบกับขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีแต่ละครั้งใช้เวลานาน ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเห็นผลร้าย ดังนั้นเมื่อผู้กุมอำนาจรัฐได้  คะแนนเสียงมาด้วยการใช้เงินก็ต้องหาเงิน เมื่อเจ้านายต้องการเงิน ข้าราชการประจำก็ต้องหามาให้ มิเช่นนั้นจะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้

 

ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุกรณีข้างต้นว่า เพราะมีการปล่อยให้ระบบทุนกับการเมืองผสมพันธุ์กัน ถือเป็นสิ่งอันตรายที่สุด เมื่อทั้งเงินและอำนาจรัฐรวมอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเดียวกันแล้ว คนกลุ่มนั้นจะนับถือเงินเป็นพระเจ้า เพื่อประคับประคองสถานะให้ดำรงอยู่ได้

“การขายเสียงไม่ใช่เพราะคนจน แม้จะจริงอยู่ที่คนจนขายเสียงได้ถูก  แต่ความจริงเป็นเพราะระบบการเลือกตั้งได้เปิดช่องไว้ ผมไม่รู้จะโทษใคร จึงอยากโทษที่การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมของไทย” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว และว่าไทยมุ่งเน้นจีดีพีทางเศรษฐกิจ ราคาทองคำ มูลค่าหุ้น แต่ผมไม่เคยเห็นการเอาจริงเอาจังของไทยที่จะพูดถึงการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เพราะจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเทพกับเปรตที่หิวโหยได้”

การปล่อยให้เกิดการรวมทุนใหญ่กับนักการเมืองได้ เพราะทุนใหญ่เข้าคุมนักการเมืองทั้งระบบ อีกอย่างหนึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะต้องผ่านระบบพรรคการเมือง จึงทำให้ส.ส.หลายคนไม่ไหนไม่รอด แม้กระทั่งนักการเมืองเองยังยอมรับว่าเป็นระบบทาส เพราะหากลงมติไม่สอดคล้องกับมติพรรคก็จะถูกขับไล่ไม่ได้ลงเลือกตั้งสมัยหน้า ถึงจุดนี้จึงไม่สามารถไปไหนได้ เปรียบเสมือนเป็นลูกไก่ในกำมือ

ฉะนั้นทางออกประเทศไทยต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการเลือกตั้งเกิดความสุจริตและเป็นธรรม เรียกว่าให้เติบโตด้วยความรักใคร่ของประชาชนจากการเห็นผลงาน ซึ่งนักการเมืองลักษณะนี้ยังมีอยู่ แต่ไม่มีวันชนะเลือกตั้ง เพราะแพ้ทางเงิน “ประชาชนรักแต่ไม่เลือก”

ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ยังชี้ให้มองไปถึงกลไกการขับเคลื่อนการเลือกตั้งที่โปร่งใส นั่นคือ การทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำได้หากมีกำลังเต็มพิกัด แล้วเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับระบบศาลอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ยอมรับว่าคู่ต่อสู้ทางการเมืองต่างต้องการดึง กกต.เข้ามาเป็นพวกตน เพราะนอกจากจะปกป้องตนเองแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามด้วย

สำหรับการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมนั้น จะต้องมองให้มากกว่าจีดีพีทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่มีความรู้จึงขอนำเสนอเพื่อชวนคิดว่าจะทำอย่างไร ขณะที่การทำลายระบบการรวมตัวของกลุ่มทุนและนักการเมืองนั้น จำเป็นต้องสร้างให้การเมืองเป็นอิสระจากการครอบงำของกลุ่มทุน ซึ่งเชื่อว่าหากทำสำเร็จไทยจะมีนักการเมืองที่ดีมาปกครองประเทศ

ท้ายที่สุด ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล  สรุปสิ่งที่อยากนำเสนอ 5 ประเด็น ดังนี้

1.ต้องจำกัดพื้นที่ของนักเลือกตั้งให้แคบลงเรื่อย ๆ แล้วเพิ่มโอกาสให้นักประชาธิปไตย นักการเมืองที่แท้จริง ผู้ทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์หรืออำนาจรัฐ

2.ต้องต่อยอดประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

3.ต้องสกัดกั้นธุรกิจการเมืองโดยกลุ่มทุนสามานย์ลอบเข้ามาบริหารประเทศผ่านสุนัขรับใช้ ระบบพรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม

4.ต้องเสริมกำลังให้กับระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลผลประโยชน์ทับซ้อน วาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตเชิงนโยบาย มะเร็งร้ายของประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้โกงกินแต่ในประเทศ แต่ผันไปให้ทุนใหญ่ในต่างประเทศ ถือเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง

5.ต้องยืนหยัดให้มั่นคงว่าประชาธิปไตยของไทยต้องดำเนินไปด้วยผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติ และจะเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองใด หรือเฉพาะประชาชนที่เลือกเราเข้ามาเท่านั้น อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย “ผีป่าเงินดี ผีบ้านจึงโม่แป้ง หมดแรงทำงาน”

 

อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังเดินไปสู่ทางตัน หากไม่คิดเตรียมทางออกไว้เชื่อว่าอนาคตจะลำบาก ซึ่งในฐานะที่ตนเองเป็นนักการเมือง เห็นว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหนักใจจะเป็นที่พึ่งและทางออกให้ได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้หลายคนคงไม่หวังพึ่ง เพียงติดตามไปอย่างนั้น เพราะไม่มีใครไปห้ามอะไรได้อีก นอกจากนี้นักการเมืองก็ไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร ทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับนักการเมือง  แต่สำหรับผมแล้วมองการเมืองไทยยังดีอยู่ ด้วย 2 เหตุผล คือ

1.ไทยเคยมีปัญหาบ้านเมือง ซึ่งอดีตมักแก้ไขด้วยการพึ่งทหารที่มีระเบียบวินัยในการยึดอำนาจขับไล่นักการเมือง และคิดว่าเป็นวิธีการแก้ไข แต่ผลสุดท้ายกลับไปบ้านเมืองไปสู่อาการโคม่า เพราะคนไม่ใช่นักการเมืองมาทำงานการเมืองทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ อยากขอร้องว่า อนาคตหากบ้านเมืองเจอทางตันควรให้จบกันในสภา และสุดท้ายจะนำมาสู่การตัดสินใจของประชาชนเอง

2.อยากให้มองรู้จัก ส.ส.ทุกคนเหมือนอย่างที่ผมรู้จัก ซึ่งผมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย ถามว่าผมเบื่อหรือไม่ที่ไม่ได้ไปไหน ตอบได้เลยว่าไม่เบื่อ เพราะผมมองส.ส.ไม่เหมือนทุกคนมอง ดังนั้นจึงอยากให้มองส.ส.ให้ชัด แล้วจะมองเห็นว่าการเมืองเป็นปัญหาหรือไม่

“ผมอยู่จนเห็นชัดว่าสภาผู้แทนราษฎร คือ เงาสะท้อนประชาชน ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาทางการเมืองในสภาหมดเลย” อดีตประธานรัฐสภา กล่าว และยกตัวอย่าง มีส.ส.ซื้อเสียงมาอยู่ในสภา เราก็ดูถูกว่าผู้แทนคนนี้นำเงินมาฟาดหัวชาวบ้าน ชาวบ้านก็เห็นแก่ปลาทูเค็มเข่งเดียว แต่นั่นสะท้อนให้เห็นว่าราษฎรจังหวัดนั้นจน ถึงได้เห็นแก่เล็กแก่น้อย ดังนั้นคนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรู้ และหันไปหารมว.คลังว่าไปดูหน่อยทำไมคนถึงจน พร้อมอุดหนุนเงินไปช่วยได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีกรณี ส.ส.บางคนลุกขึ้นพูดคำก็ท้าชก ถกแขน เป็นนักเลงใหญ่โต สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่นั้นมีนักเลงเยอะ คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรู้แล้วหันไปหารมว.มหาดไทยว่าหาผู้กำกับสถานีตำรวจดี ๆ ไปประจำหน่อย ซึ่งหากมองสภาลักษณะนี้จะเห็นประโยชน์ได้

ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องแก้ให้ตรงจุด ซึ่งการมีสภาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ต้องลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน เพียงเยี่ยมสภาก็รู้แล้ว เพราะส.ส.ไม่เคยพูดถึงเรื่องตนเอง มีแต่พูดถึงจังหวัดของผม จึงพิสูจน์แล้วว่าสภามีไว้ในนายกรัฐมนตรีเข้าไปนั่งฟัง โดยไม่ต้องไปตรวจเยี่ยมราชการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหลายคนไม่ค่อยรู้ประโยชน์จากสภาจึงไม่ค่อยเข้า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย

นอกจากนี้การสร้างความโปร่งใสในการเลือกตั้งต้องแก้ที่ประชาชนด้วยการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เพราะหากแก้ในสภาเท่าไหร่ก็ไม่จบ เพราะผู้แทนคลอดมากจากประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญ มองว่าหากยิ่งแก้รัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ยิ่งเหมือนกฎหมายอาญาของนักการเมือง

อุทัย พิมพ์ใจชน การแก้รัฐธรรมนูญเปลืองกระดาษ เปลืองเวลา หันมาสร้างคนรุ่นใหม่ดีกว่า คนรุ่นเก่าปล่อยให้ตายไป เพราะแก้รัฐธรรมนูญไปไม่เกิดประโยชน์ ตราบใดที่คนรุ่นปัจจุบันยังมีลักษณะเช่นนี้ พร้อมกันนี้เรียกร้องไม่ควรให้เกิดการปฏิวัติ แต่หวังให้ทุกอย่างจบในสภา

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยว่ายากที่จะหาทางแก้ไขได้ เพราะยิ่งนานวันยิ่งเกิดการยอมรับกันมากขึ้น นอกเสียจากต้อง ‘สร้างผีให้คนกลัว’ หมายถึงออกกฎหมายไม่เอาผิดกับผู้ให้สินบน แต่เอาผิดกับคนรับสินบน ซึ่งเป็นข้าราชการ จะทำให้เกิดความกลัวว่าคนให้สินบนอาจจะไปแจ้งความได้หากผิดใจกัน กรณีเช่นนี้จะทำให้ข้าราชการกลัวและเกิดการปราบคอร์รัปชั่นได้สูง ซึ่งถือว่าจะเป็นทางออกที่คิดว่าได้ผล

สำหรับปัญหายาเสพติดนั้นได้แพร่ระบาดไปวงการสงฆ์  ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรออกกฎหมายจับผู้ค้ายาไม่ว่าจะมีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ก็ควรตัดสินประหารชีวิต เพื่อรักษาคนไทยอีกกว่า 60 ล้านคน แต่เรายังเฉย ทำให้ยาเสพติดระบาดหนัก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงทางออกประเทศไทย โดยการสะท้อนจากปัญหาว่า  ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ ๆ 2 ปัญหาคืออัตราการการชะลอตัวลง เรื่องของการชะลอตัวลงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ  ที่เราชะลอตัวลงเพราะว่า ประการแรกคือแรงงานเราขาดแคลน   ค่าแรงสูงขึ้น  2 ตัวนี้ทำให้การลงทุนชะลอตัว  ประการที่ 2 พื้นที่การลงทุนมีการคัดค้าน ลงทุนที่ไหน  NGO มาคัดค้านหมดเรื่องน้ำเสียบ้าง กากของเสียบ้าง เมื่อพื้นที่การลงทุนขาดแคลน แรงงานขาดแคลน การลงทุนชะลอตัว ซึ่งชะลอตัวอย่างลงเห็นได้ชัดแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ลดลงอย่างรวดเร็วเลย ประการที่ 2 เมื่อการลงทุนชะลอตัว การส่งออกก็ชะลอตัว เมื่อทั้งการลงทุนและการส่งออกชะลอตัวลง อัตราการเจริญเติบโตของประเทศชะลอตัวลงแน่นอน

การแก้ปัญหาคือ ต้องทำให้คนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าคนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น  ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจก็จะหมุนได้ผมว่ารัฐบาลพยายามทำใน 2 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำแต่ดันทำผิดทาง การเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ ต้องเริ่มจากการให้คนทำมาหากินและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขอใช้คำว่า “ทำมาหากินและมีรายได้เพิ่มขึ้น” การเพิ่มค่าแรงต้องเพิ่มในลักษณะที่เพิ่มแล้วผลผลิตหรือผลิตภาพเพิ่มขึ้นด้วยไม่ใช่อยู่ดี ๆ เพิ่มขึ้นเฉย ๆ อย่างเดียว ถ้าเพิ่มขึ้นเฉย ๆ อย่างเดียวผลิตภาพไม่เพิ่มขึ้น กลายเป็นสินค้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

รัฐบาลพยายามใช้วิธีกู้เศรษฐกิจง่าย ๆ คือ รถคันแรก กระตุ้นปีนี้  ปีหน้าลดลงแน่ ก็จริง ๆ ปี 2555 กระตุ้นขึ้นพรวดเลย  พอปี 2556 รถเริ่มขายไม่ออก การบริโภคในประเทศนั้นไม่ได้ไม่ได้ผล ก็เหลือตัวเดียวคือค่าใช้จ่ายภาครัฐ รัฐบาลพยายามที่จะลงทุนน้ำ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นความพยายามที่ดี แต่ทำงานช้ามาก อย่างเรื่องโครงการน้ำ  ตอนน้ำท่วมปลายปี 54 นี่เกือบ 2 ปีแล้วยังไม่ลงมือแก้ เพราะฉะนั้นความพยายามดีหมดแต่ผลที่ได้มันไม่ออก

งบประมาณปลายปีที่ผ่านมา จนจะสิ้นปลายกันยานี้แล้ว ไม่มีวิธีที่จะเอางบประมาณมาใช้ในโครงการที่มีโครงการอยู่แล้ว  สงสัยมากว่าทำอะไรกันอยู่ พูดออกมาดีหมด แต่ไม่เห็นทำ  จากนี้ไปจะเดินอย่างไร ก็ชัดเจน ตัวใหญ่ที่จะทำให้เกิดการ

กระตุ้นการใช้จ่ายในภาครัฐต้องช่วยหน่อย เพราะยอดส่งออก การส่งออกที่ชะลอลงมาก เนื่องจากที่ผมว่า คือเราไม่ได้ลงทุนเพิ่ม เผอิญผู้ซื้อรายใหญ่ จากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรก มีปัญหา แต่ครั้งนี้ผมค่อนข้างสบายใจ สหรัฐเริ่มซื้อ ยุโรปเริ่มตอบกลับแล้ว  ญี่ปุ่นเริ่มคึกคัก ซึ่งหมายความว่าพอถึงต้นเดือนหน้า การส่งออกน่าจะกลับมาได้ แต่อาจจะไม่มาก

นักแต่กลับมาได้  แต่ช่วงนี้ต้องใช้เงินรัฐบาลปรับไปก่อน ก็มีกระบวนการเร่งการใช้เงินแต่ไม่ได้ใช้แบบสูญเปล่า ใน ปี ที่ผ่านมาเร่งการใช้เงินที่เป็นประโยชน์ เราต้องทุ่มเงินรัฐบาลก่อนเพื่อมากู้เศรษฐกิจ เพื่อรอให้การส่งออกดีขึ้น

งบประมาณ 2 ล้าน ล้าน ซึ่งผมไม่เห็นเห็นด้วยหมด แต่ผมเห็นด้วย เรื่องของรถไฟฟ้ารอบเมือง เรื่องของรถไฟชานเมือง เรื่องของท่าเรือน้ำลึก และท่าเรือชายฝั่งในอ่าวไทยทั่งหมด  ถนนเชื่อมเพื่อนบ้าน  ประเด็นก็คือว่า ให้ถามสภาเรื่องเงิน 2 ล้าน ล้าน ที่ผ่านมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ผมหวังว่ารัฐบาลนี้จะเตรียมพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายค้าน   เพราะฝ่ายค้านเขาไม่ได้ค้านที่เนื้อหา แค่ค้านด้วยวิธีการ ก็หวังว่าขอให้ ล้าน 2 แสน 8 หมื่น ออกมาก่อนเฉลี่ย 7 ปี ปีละเท่าไหร่  มีการตั้งงบประมาณกลางปี เพิ่มเติม หวังว่ารัฐบาลจะเตรียมตัวนี้เพราะถ้างบประมาณ 2 ล้าน ล้านตัวนี้หมด การชะลอของเศรษฐกิจจะนานพอตัวเลยอันนี้เป็นเรื่องระยะสั้น

เรื่องระยะยาวที่อยากจะฝากเพราะรัฐบาลนี้มีอะไรที่ดี ๆ เหมือนกันประเด็นก็คือว่าขณะนี้ การลงทุนจะหวังในคนต่างชาติมาลงทุนเยอะเหมือนสมัยก่อนไม่มี ซึ่งนี้เป็นเรื่องปกติของประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนเศรษฐกิจ   ในสภาวะอย่างนี้จะทำอย่างไร  เรามาข้ามพม่าไป เปิดนิคมอุตสาหกรรม ค่าแรงฝั่งนี้ 300 อยู่ฝั่งโน้นค่าแรงพม่า 75 คนไทยให้ 150 คนพม่ามาทำงานเต็มเลย ถึงสมัยที่จะต้องกระตุ้นให้คนไทยไปลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อสร้างฐานการผลิตเหล่านี้แล้ว  สินค้าก็ถูกลงด้วย แล้วป้อนสินค้าสู่เครือข่าย อย่างปูนซีเมนต์ ตั้งที่กัมพูชา  การสร้างวัสดุก่อสร้างที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ถามว่าสร้างเพื่ออะไร  เพื่อป้อนเครือข่ายการค้า นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภาคประชาชน  มีคนไทยอีกเยอะรายย่อย ๆ ลงไป ไม่มีใครผลักดันไม่มีใครสนับสนุน รัฐบาลพูดว่าจะสนับสนุนแต่ยังไม่สนับสนุนสักที

อีกอันที่ผมเห็นว่ารัฐบาลนี้ต้องทำคือ   เรื่องของระบบการขนส่งสินค้า ไม่ได้หวังที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากจีนเข้ามาในเมืองไทย จากลาวเข้าเมืองไทย จากเวียดนาม เขมรผ่านเมืองไทยไปพม่า  ถ้าเชื่อมทั้งหมดแล้วอาเซียนทั้งหมดประเทศไทยจะเป็นประเทศค้าขายถ้าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของรถไฟก็ดีของ ถนนก็ดีต่อไป ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่จะมีความพร้อมปรุงตัวสู่การค้าของภูมิภาคได้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่แข็งแรงที่สุดในอาเซียน ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเอกชน จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปได้ ก้าวหน้าที่จะผันตัวเองเป็นผู้ค้า  เป็นตัวที่เป็นศูนย์กลางค้าของภูมิภาคนี้ได้ อันนี้เป็นทางออกซึ่งมีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมห่วง จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ค่อนข้างจะอ่อน เห็นได้ชัดจากรถคันแรก

“ประเด็นคือว่าทางออกประเทศไทยที่เราพูดถึง ต้องการมีคนที่เข้าใจในเรื่องนี้ถึงจะผลักดันไปได้  ผลักดันการลงทุนข้ามประเทศ ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการค้า  ปัญหาก็คือว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดเข้าใจไม่เพียงพอ ทางออกนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ค่อย ๆ เดินไปไม่เหมือนกับว่ามีรัฐบาลมาช่วยวางแนวทางผลักดันแล้วเดินไปพร้อม ๆ กันได้  ประเทศจะเจริญได้เร็วมากเพราะว่าการผลักดันให้ทุกคนรู้เท่าทัน ทางออกประเทศไทย ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลน่าจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ผมว่าน่าจะเป็นไปได้”

ปัญหาเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้พื้นที่ลงทุนใหม่เหลือน้อยลง ฉะนั้นทางแก้ไขต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อต่อยอดให้เศรษฐกิจหมุนตัวต่อได้ มองเห็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่วิธีการการเพิ่มค่าแรงโดยขาดการเพิ่มผลิต

ภาพนั้นส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่มีค่าอะไรเลย และเห็นว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบ้องตื้นไป เช่น นโยบายรถยนต์คันแรก

“เมื่อใช้ตัวบริโภคไม่ได้ผล เหลือวิธีเดียวคือใช้เงินค่าใช้จ่ายรัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่รัฐบาลมือไม่ถึง เพราะทำงานช้า”

ส่วนนโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคใช้ล่อใจในการเลือกตั้งนั้น หากดำเนินโครงการมากไปอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ จึงหวั่นว่าจะเดินทางทับรอยยุโรปตะวันตกในหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องเดียวที่ผมมองไม่เห็นทางออก ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ประเทศจะค่อย ๆ พัง

เทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ตอนนี้ผมคิดว่าน่าสนใจมาก ที่มีหัวข้อ 2 หัวข้อย่อยกับเวทีเสวนา เรื่องที่ 1 คือเรื่องอาเซียน หัวข้อที่ 2 คือทางออกของประเทศไทย 2 หัวข้อนี้มันมีความขัดแย้งกันค่อนข้างชัดเจน  ถ้าพูดถึงอาเซียน หรือ AEC เป็นเรื่องของการมองไปข้างหน้า เรื่องวิสัยทัศน์ที่ทั้งรัฐบาล สังคมไทย มีความพร้อม ปรับตัวอย่างไร รับมืออย่างไร การแข่งขัน มีเรื่องที่ต้องเตรียมตัวมาก แต่พอมาดูอีกหัวข้อหนึ่ง “ทางออกประเทศไทย”  เหมือนเรากำลังพลิกกลับอะไรบางอย่าง  ซึ่งไม่สามารถทำให้เรามีเวลาไปคิดถึงเรื่องในอนาคต หรือ เรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์อย่างอื่น และน่าเสียดายมากที่ผ่านมา เราหมดเวลาไปกับทางถกเถียงเรื่องทางออกเยอะมาก ถ้าเรามองในแง่ดี มีเวทีวันนี้ คือ ทางออกประเทศไทย แง่ดีคือการการที่ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง มันแปลว่า กลไกลที่มีอยู่มันไม่ทำงาน ต้องให้สังคมต้องมานั่งหาทางออก  ซึ่งจริง ๆ ผมว่าใช่ กลไกลที่มีอยู่ไม่ทำงาน   ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด  เราเคยเชื่อเสมอ และนักการเมืองเชื่อเสมอว่า  สภาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาประเทศไทย  แต่ถ้าเรามองย้อนไปดู 2 ปีที่ผ่านมา  สภาควรจะเป็นเวที หาทางออกของประเทศได้หรือไม่เคยได้ยินการอภิปราย  การถกเถียง  หรือแม้แต่กฎหมายแต่ละฉบับที่เป็นข่าวอยู่  ต้องสามารถทำให้เรามีความคาดหวังได้ว่า สภา เป็นที่ที่ทำให้เรามีทางออกไปข้างหน้า

ผมเชื่อส่วนตัวว่าถ้าผู้นำทางการเมืองของเรา จริงจังกับเรื่องนี้ ทำจริง ๆ เดินหน้า จริง ๆ  ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นได้ ท่านก็มีเสียงท่วมท้นในสภาเสียงจากประชาชน แต่เราไม่เคยได้ยินท่านพูดในเรื่องนี้  ถ้าท่านลบการเดินทางสักครึ่งหนึ่ง เอาเวลาสักครึ่งหนึ่งมาสนใจศึกษาผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้  ผมไม่ลงลึกมาเพรารู้กันอยู่ว่ามีปัจจัยอะไร

ผมคิดว่าบทบาทของสื่อ  วันนี้ก็เป็นวันครบรอบของสมาคม ฯ  ผมมีความเชื่อว่าสื่อมีบทบาทและจำเป็นต้องมีบทบาทในการหาทางออกประเทศไทย  ที่ผ่านมาสื่อเองก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความบาดหมางทางด้านการเมืองทั้งหลาย  สื่อก็มีส่วน ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ตกเป็นเครื่องมือหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าสื่อคงไม่สามารถทำให้คนในสังคมมีความรู้สึกว่า ต้องอยู่ในภาวะสงคราม ต้องแบ่งข้างกันตลอดชีวิต  ถ้าถามว่าการเมืองเป็นอย่างนี้มาก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยเห็น บทบาทของสื่อพัฒนามาถึงจุดนี้ผมก็ไม่เคยเห็น

เหมือนกัน นี่เป็นครั้งแรกที่สื่อถูกดึงเข้าไปหรือยอมถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการขยายความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้น ซึ่งมันควรจะตรงข้ามกัน  สื่อควรจะมีหน้าที่ในการประคับประคองสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนหันหน้ามา

พูดคุยกัน  ถ้าเรามองไปข้างหน้าถามว่า เรามีความคาดหวังกับสื่อแค่ไหน ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมเกิดขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ  ผมคิดว่าสื่อทำได้  ผมคิดว่าเรากำลังมาถึง จุด ๆ หนึ่งที่ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของสื่อ

เรากำลังจะมีทีวีดิจิตอลกำลังเกิดขึ้น 24 ช่อง ทางตามแผนของ กสทช.  ที่จะเกิดขึ้นภายในต้นปีหน้า ในการประมูลถือว่าเริ่มต้นแล้ว มีการซื้อซอง ยื่นซองประมูลวันที่ 28 ตุลาคม และมีอีก  12  ช่องที่เป็นช่อง สาธารณะ เป็นช่องที่ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง ให้ความรู้การศึกษาแก่ประชาชนและจะมีอีก 12 ช่องที่เป็นทีวีชุมชนรายงานข่าวให้ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น และจะมีวิทยุดิจิตอลเกิดขึ้น เป็นร้อย เป็นพันคลื่นภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.  ประเทศไทยที่ผ่านมาไม่มีช่วงไหนที่ปรากฏการณ์ที่สื่อในจำนวนที่มหาศาลเกิดขึ้นเยอะขนาดนี้ในเวลานี้  ที่ผ่านมาเรามีความเคยชินกับทีวี เพียง 6 ช่อง วิทยุ 300-400 คลื่น นี่เป็นจุดที่สังคมไทยเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสื่อ

นับจากนี้ไปสื่อจะเป็นไปในทางไหนทางออกทั้งหมดที่เราคุย  สังคมจะมีส่วนร่วมไหม? ผลักดันได้มากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ของวงการสื่อพร้อมกับทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้น ที่เราตระหนักก็คือว่าเป็นสื่อที่หลากหลาย กระชากความรู้สึกของคน เหตุผลหลักที่เป็นอย่างนี้เพราะทางเลือก คนในสังคมก็อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก  ทันทีที่มีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น ยังมีที่เป็นเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นด้วย ใครก็ตามที่ประมูลได้ก็ต้องทำให้คลื่นอยู่ได้ในเชิงพาณิชย์ ในเชิงธุรกิจด้วย  หมายถึงเขาต้องทำรายการที่มีคุณภาพพอสมควร ในการที่มีโฆษณา และผมก็ไม่เชื่อว่า จะเป็นอย่างที่ผมคิดคือว่า  ทีวีเหล่านี้ ก็คงไม่พยายามทำอะไรที่ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าเขาอยู่ข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือสีใดสีหนึ่ง  24 ช่องหรือจะเป็นช่องข่าวแค่ 7 ช่องก็จริงที่เหลืออีก 17 ช่องก็จะมีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะหมายความว่าจะมีทีวีที่จะให้ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้สาระคดี 17 ช่องเกิดขึ้น แล้วผมก็หวังว่า บริษัทต่าง ๆ ที่ประมูลช่องนี้ได้ก็จะเข้าใจบทบาทของตัวเองในการใช้ช่องทีวีที่เกิดขึ้นเป็นช่องทางที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้สถานการณ์บ้านเมือง อย่างน้อยที่สุด ก็อย่างรอบด้าน ถ้าทีวีเหล่านี้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นมืออาชีพ จะเป็นการช่วยดึงให้กลุ่มคนที่ติดอยู่กับช่องที่แบ่งทางการเมืองชัดเจน ให้มาฟังมาดูรายการที่มีเหตุมีผลมากขึ้น

ผมไม่คิดว่าเราจะอยู่ในภาวะสงคราม ความเกลียดชัง  เพราะฉะนั้นทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้นผมเชื่อว่ามันจะเป็นทางเลือกที่ทำให้คนในสังคมหันมารับสื่อที่ทำให้เขาฉุกคิดอะไรได้มากขึ้น  มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทุกวันนี้ความหมายของสื่อทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อใหม่ที่เป็น โซเชียลมีเดีย ที่มีบทบาทสำคัญเหมือนกัน ที่ทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างบานปลาย สร้างความรู้สึกบาดหมางที่แย่ลง  มีคนเปรียบเทียบว่า สื่อกระแสหลักที่มีอยู่ เมื่อเทียบ 5-10 ปีก่อน มันลดลงไปเยอะจากอิทธิพลของสื่อ จนกระทั่ง สื่อกระแสหลักกลายเป็นเสียงอื้ออึง ในสังคมที่เราได้ยินอยู่นั้น  มันเป็นเพราะสังคมมีช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยน  สื่อกระแสหลักหรือว่าสิ่งพิมพ์อย่างจะต้องทบทวนบทบาทตัวเองพอสมควร  เข้าใจว่าแนวโน้มจากนี้ไปการรับสื่อ อิทธิพลของสื่อของคนในสังคมมันไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลัก  มันเป็นจุดสำคัญมากที่ผมคิดว่า  คนในวงการสื่อคนที่ทำสื่อทำความเข้าใจและความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มันเกิดขึ้น

ผมยังมีความเชื่ออยู่ว่า  ถ้าสื่อทำหน้าที่ของตัวเองเป็นมืออาชีพจริง ๆ มันสามารถทำให้สังคมมีทางออก  สื่อมีภารกิจหลักในการทำให้สื่อที่คนในวงการสื่อเรียกว่า การเท่าทันสื่อ เหตุผลหนึ่งที่คนมีอารมณ์รุนแรงด้านการเมืองสังคม  เพราะว่า  ขาดการรู้เท่าทันสื่อ มีแนวโน้มในสิ่งที่ได้ยินจากสื่อ  ถ้าสื่อบอกว่าเลว ก็จะเชื่อว่าเลว เขาจะมีความเชื่อทุกอย่างที่สื่อบอกไป  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นมากมาย

ผมเชื่อว่าสื่อจะช่วยอย่างมากที่จะสร้างให้คนรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้  ไม่ใช่การทำหน้าที่รายงานข่าวสารอย่างเดียว แต่รอบด้านมากที่สุด และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม   การที่ประเทศไทยมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้น  เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่ง เป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น  มีการตรวจสอบ เป็นช่องที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดที่สร้างสรรค์ให้กับสังคม  ประชาชนจะมีความสุขกับการรับรู้ข่าวสารมากขึ้น และนำไปสู่ทางออกของประเทศไทยได้  นี่คือประเด็นหลักที่ผมคิดว่า ท้าทายสื่อ แน่นอนที่ผมพูดมาทั้งหมดเป็นการคาดหวังบนพื้นฐานของการมีหวังต่อบทบาทของสื่อที่มีต่อสังคม ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่าน และมีการเปลี่ยนผ่านทางด้านสื่อที่เป็นบริบททางด้านการเมือง ทางสังคม  และการที่ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม สู่ประเทศอาเซียน  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าที่เราคิดอยู่นี้  แต่ถ้าเราไม่สามารถก้าวพ้นจากปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้  ก็มีคำถามว่า  แล้วเราจะไปเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร

————————————————————————————–

 

แท็ก คำค้นหา