เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนา “มองไฟใต้ มองสื่อ ในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการรายงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาคารสมาคมนักข่าวฯ ถนนสามเสน
ชมเทปบันทึกภาพเวทีเสนา ย้อนหลังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=85tyuvaSuqc
เวทีเสวนา
“มองไฟใต้ …มองสื่อในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ”
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาในหัวข้อ “มองไฟใต้ …มองสื่อในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ” ด้วยการนำเสนอความคิดเห็น การวิเคราะห์ หัวข้อดังกล่าวโดยมี วิทยากรทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และสื่อที่ทราบเรื่องราวเข้าร่วมสนทนากลุ่มในประเด็นต่างๆ ดังนี้
วิทยากร
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก อดีตโฆษก ผอ.กอ.รมน. ภาค 4
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS
นายปกรณ์ พึ่งเนตร หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นายมนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ดำเนินรายการโดย นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวเนชั่น และ คณะอนุกรรมการสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เสถียร วิริยะพรรณพงศา: วันนี้เรามาพูดคุยกันในเรื่องที่ค่อยข้างซีเรียสนะครับ ที่เป็นปัญหาในสังคมไทย ก่อนอื่นต้อง ขอต้อนรับทุกท่านและขอบคุณที่สละเวลาเข้ร่วมฟังเสวนา ขอบคุณ คุณวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อำนวยการจัดการทำให้เราได้มานั่งคุยกันในวันนี้ ผมจะเกริ่น สั้นๆ นะครับว่า เหตุผลที่จัดเสวนา มองไฟใต้ มองบทบาทของสื่อ ผ่านเหตุการณ์ที่บาเจาะ เมื่อวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีการวิสามัญ 16 รายในบริเวณฐานทหาร เหตุผลที่หยิบยกมาคุยก็เพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเคลื่อนไหวของข่าวสารทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ค่อนข้างหลากหลายทิศทาง เหตุการณ์นี้ถูกตีความ ถูกนำเสนอในหลากหลายแง่มุม ทำให้เรารู้สึกว่า ข่าว ข้อมูลที่หลั่งไหลออกมา มันจะส่งผลอย่างไรกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาใต้ ส่งผลอย่างไรต่อบทบาทของสื่อมวลชนทางกลางความขัดแย้ง ความเชื่อ ความคิด ข้อมูลที่สวนกันไป สวนกันมา เราจะจัดการข้อมูลนี้ได้อย่างไร วันนี้เราได้รับเกียรติจากนักข่าวในพื้นที่ ตลอดถึง บรรณาธิการในการตัดสินใจในการยิบยกข้อมูลไหนในการรายงานต่อสาธารณะ เราได้รับเกียรติจากอดีตโฆษก ผอ. กอ.รมน.เป็นนายทหารที่ทำงานใกล้ชิดกับสื่อ คงจะมีมุมมองที่น่าสนใจ เราได้รับเกียรติจากภาคประชาสังคมที่คลุกคลีกับชาวบ้าน ในมุมมองของชาวบ้าน กับการเคลื่อนไหวของข่าวสาร เขามองอย่างไร จะแนะนำผู้ที่เข้าร่วมเสวนา คนแรก บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบัน อิศรา คุณปกรณ์ พึ่งเนตร ท่านต่อมาเป็นภาคประชาสังคม คนในพื้นที่ คุณ อังคณา นีละไพจิตร ท่านต่อมา ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ คุณมนตรี อุดมพงษ์ อีกท่านหนึ่งเป็นอดีตโฆษก ผอ.กอ.รมน. พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก ท่านสุดท้ายให้แง่มุมของสื่อที่มีความอาวุโส และเป็นบรรณาธิการจาก Thai PBS คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์
“ผมจะให้แต่ละท่านเสนอมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของการไหลเวียนของข่าวสารที่หลากหลายแง่มุมหลากหลายมิติ เริ่มจากคนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนนะครับ คนที่ใกล้ชิดกับแหล่งข่าวใกล้ชิดกับข้อมูลสัมผัสกับข้อเท็จจริงในพื้นที่เขาจัดการอย่างไรที่มีความหลากหลายเขารู้สึกอย่างไรที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นเครื่องมือของรัฐหรือเปล่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายขบวนการหรือเปล่า มาฟังจากคนที่เกาะติดข่าวนี้คนในพื้นที่เชิญคุณมนตรีครับ”
มนตรี อุดมพงษ์ : ขอบคุณวิทยากรทุกท่าน ผมก็ตั้งใจมาเมื่อได้เห็นรายชื่อแล้วแล้วก็มาตั้งใจฟัง ถือว่ามาร่วมงานและก็ทำงานด้วย เพราะถือไมค์มาด้วยแล้วก็อนุญาตเก็บเสียงสัมภาษณ์ของแต่ละท่านที่ร่วมเวทีนี้ด้วย ก็อยู่ในพื้นที่ระยะเวลาหนึ่ง ผมอยู่ในพื้นที่ก็จริงแต่ถ้าเทียบกับนายทหาร อย่างเช่น ท่านอดีตโฆษก ผมเคยขอความอนุเคราะห์หลายครั้งในการสัมภาษณ์ก็จะน้อยกว่าอยู่แล้ว ส่วนระยะหลังก็ไปตามเหตุการณ์ซึ่งไม่ไปขลุกตัวอยู่นานเหมือนกับ 5 –6ปี หน้าจากที่มีการปล้นปืนที่ค่ายขี้เหล็กเป็นต้นมาหลังจากนั้นก็จะอยู่ในเหตุการณ์เป็นหลัก ถ้ามองกรณีของเหตุการณ์ที่บาเจาะที่กอง100 ปืนเล็กที่ 2 เฉพาะกิจที่นราธิวาส 32 นี้ อย่างที่ผู้ดำเนินรายการได้ถาม ถ้าถามว่าผมมองอย่างไรต่อกรณีที่บอกว่า ปัจจุบันเราเป็นเครื่องมือของใครหรือไม่? เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐหรือไม่? เป็นเครื่องมือของฝ่ายขบวนการหรือไม่? มันก็สะท้อนออกมาจากความรู้สึกว่าตอนนี้สื่อต่างๆ ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทั้ง 2ฝ่ายเพียงแต่ว่าวิธีการที่คนเหล่านั้นใช้หรือหน่วยงานหรือองค์กร เหล่านั้นใช้ ก็แตกต่างกันไป
หน่วยงานรัฐอาจจะง่ายหน่อยในการเข้าถึงสื่อโดยตรงอาจจะสามารถโทรสั่งได้โดยตรง โทรแจ้งได้โดยตรงหรือนักข่าวสามารถไปถามได้โดยตรง แต่ฝ่ายขบวนการถ้าเขาจะใช้จริง จะต้องสร้างเหตุการณ์ขึ้นมา ก็ไม่สามารถที่จะโทรได้เลย ไม่สามารถที่จะบอกเราได้เลยแต่คนเหล่านี้ต่างหากที่มีจิตวิทยาที่สูงกว่าการโทรหา จิตวิทยาสูงกว่าที่จะไปหานักข่าวโดยตรง แต่เขาสามารถสร้างเหตุการณ์ให้นักข่าววิ่งเข้าหาเขา สร้างประเด็นให้เข้าหาเขา ซึ่งแน่นอนเราถูกใช้เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคนที่จะไปเป็นเครื่องมือเขานั้นรู้ทันหรือเปล่า รู้หรือเปล่าว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ เรานำเสนอแบบนั้นจะเป็นเครื่องมือหรือไม่ มันคาบเกี่ยวกัน มันเป็นเส้นบาง ๆ กันอยู่ ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเราก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราเป็นนักข่าวได้อย่างไรกัน ที่คุณจะไม่ไปสัมภาษณ์เขา ที่คุณจะไม่ไปถามเขา ที่คุณจะไม่ไปหาความจริงจากเขา แล้วคุณเป็นนักข่าวประเภทไหนกันละ? แต่ถ้าเกิดเราไปเราก้าวเข้าไป ล้ำเส้นนั้นเข้าไปมากๆ เราจะถูกบอกอีกทันทีว่า คุณไม่รักชาติ คุณไม่รักประเทศ คุณไปเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายตรงข้าม เพราะฉะนั้นนี้คือประเด็นที่ เป็นปัญหาอยู่นะครับ ผมกำลังจะบอกว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งปล้นร้านทอง คุณรู้อยู่แล้วว่าคนปล้นร้านทอง นั้นคือแรงจูงใจของเขา เขาอาจบอกว่าครอบครัวเขายากจน เขาไม่มีเงิน เขาจึงไปปล้นร้านทอง จะคือความโลภหรืออะไรก็แล้วแต่ที่บันดาลในใจเขา เขาหวังว่าจะได้ทรัพย์สินเขาจึงไปปล้นร้านทอง แต่คนที่ถือปืนเดินเข้าไปในค่ายทหาร เขาหวังอะไร เขาคงไม่ได้หวังโดยส่วนตัวเขานะครับ เขาไม่ได้หวังเงิน 7.5 ล้านแน่ สำหรับคนที่ถือปืนเข้าไป สังคมมองเขาอีกแบบหนึ่งอยู่แล้วเมื่อมีการพูดถึง แต่ตัวเขาเองคงไม่ได้คิดถึงตรงนั้น เขาคิดถึงอย่างอื่นที่มันมากกว่า 7.5 ล้าน แต่คำถามคือว่า เราได้ไปคุยกับเขา ได้ไปพุดกับเขาซึ่งโอกาสมันน้อยมากอยู่แล้วครับในการพูดกับคนเหล่านี้ แต่ว่าครอบครัวเขาละ?
เหมือนหลักการทำวิจัยที่ผมคิด สิ่งที่มันจะไปดึงข้อมูลออกมาได้จากคนเหล่านี้ ที่พอจะบอกให้เราอะไรที่อยู่ในใจ สิ่งที่ตลอดหลายปีมานี้เราอาจจะขาดไปทั้งที่ขาดด้วยปัจจัยอื่น ๆ ขาดด้วยปัจจัยที่เราเข้าไม่ถึง ขาดด้วยปัจจัยว่าไม่มีตัวตัวตน ขาดด้วยปัจจัยว่าไม่ทราบมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสแล้วเราไม่ทำ ตอบตัวเองไม่ได้ว่าเพราะอะไร เช่น ในเมื่อเรามีคนที่เป็นรูปเป็นร่างมาแล้ว 16 คน ที่เป็นผู้ก่อเหตุ รู้อยู่แล้วว่าชื่อเสียงเรียงนามอะไร บ้านช่องเขาอยู่ไหน พ่อแม่เขาเป็นใคร ทำไมเราไม่ลองไปสืบค้นรากเหง้า หรือที่มาที่ไปของเขา สมมติฐานนี่คือประเทศไทยนี่คือพวกเราคนไทยรักกัน ความเป็นจริง จะเกลียดหรือโกรธอีกเรื่องหนึ่ง สมมติฐานถ้าเรามีแบบนี้ เราต้องไปหาให้ได้ว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำเขาก้าวเข้ามาสู่แบบนี้ คือผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า มันมีองค์กรที่คอยผลักดันหนุนหลังอยู่ ไม่ใช่เด็ก จบ ป.6 แล้วคิดขึ้นมาได้เองว่าจะต้องบุกฐานทหาร มีหลายหน่วยงานคอยผลักดันอยู่แต่อะไรที่เป็นจุดที่ทำให้เขาเดินไปหาองค์กรเหล่านี้ นี้คือสิ่งที่ผมคิดว่า เราอาจจะนำเสนอน้อยไปหน่อยมองในมุมสื่อนะครับ การจะนำเสนอมากๆ เราจะโดยมองอีกฝั่งหนึ่งทันทีว่าคุณไปเป็นเครื่องมือของเขา มองว่าถ้าเครื่องมือนี้ทำให้เราเข้าใจโรค แล้วรักษาโรคถูกมันไม่เสียหาย เรารู้แล้วว่าเขาเป็นมะเร็ง ก่อนที่เขาเป็นมะเร็งเขาเป็นได้เพราะอะไรละ? สูบบุหรี่ กินเหล้า สูบควันพิษหรือสูบสารเคมีจากน้ำอะไรแบบนี้ มองตรงนี้แต่ว่าผมต้องเปิดใจ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : มีเพิ่มเติ่มนะครับ มีความรู้สึกหนึ่งว่า มันขัดแย้งกับตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ว่าคนกลุ่มนี้ไม่น่าจะทำถูกต้อง แต่ต้องสัมภาษณ์และนำเสนอข้อมูลของเขาออกสู่สาธารณะ มันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นไหม
มนตรี อุดมพงษ์ : ผมว่ามันต้องกล้าขัดแย้ง ผมมีคำถามกับตัวเองว่าเราเป็นนักข่าวประเภทไหนที่เราไม่เสนอข่าวความจริง? ผมคิดอย่างนี้ว่า เรารู้แล้วว่าจะไปปล้นทองปล้นแบงค์ปล้นเงินมีแรงจูงใจเพราะเขาอยากได้อย่างนั้นและแรงจูงใจของคนที่ทำแบบนี้เพราะอะไร ผมเลยมองว่าแน่นอน มันอาจจะเป็นเครื่องมือ แต่ถ้าเครื่องมือนั้นมันทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่ผมเห็นตอนนี้คือ มันขาด เหมือนกับงานวิจัย คือ ผมว่ามันน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับกรณีแบบนี้ เพียงแต่มันเป็นข่าวมันจึงเป็นประเด็น แต่ถ้าเป็นไปได้มันควรจะเป็นงานวิจัยหรือการสำรวจว่าคนเหล่านี้ที่มาที่ไปเป็นแบบไหน เพราะการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มันน้อย
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ขอบคุณคุณมนตรีนะครับ ขยับไปอีกท่านจากบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรานะครับ ต้องเจอกับข่าวภาคใต้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ข่าว เส้นแบ่งที่ คุณ มนตรี อธิบาย การเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือความกล้าหาญที่จะนำเสนอข่าวในมุมของบรรณาธิการ ซึ่งแน่นอนได้รับข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายทิศทาง บริหารกันอย่างไรแล้วอะไรคือดุลที่เราจะนำเสนอต่อสาธารณะครับ
ปกรณ์ พึ่งเนตร : ข่าวมันรวดเร็วมากจนบางที่ไม่ต้องสมดุลกันก็ได้ เพราะวันนี้จบ พรุ่งนี้ก็อีกเรื่องหนึ่งแล้ว วันก่อน 16ศพ ต่อมาก็ป่วนปัตตานี เมื่อคืนก็ป่วนนะครับหนักเลย ผมก็เขียนข่าวตั้งแต่ ตี3 เหตุการณ์มันเร็ว แต่สิ่งที่ผมพยายามทำก็มีอยู่ 2-3อย่าง เมื่อวานไปเวทีที่ปัตตานี เขาก็พูดเรื่อง พะรอโซ ที่เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต 16 ศพ ผมจะใช้วิธีนี้ครับ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ก็ทำให้เห็นในแง่มุมที่ละเอียดอ่อนพอสมควร บางทีส่วนกลางนำเสนอไปโดยที่ไม่เข้าใจ คุณปกรณ์ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่ามันไปเกิดความรู้สึกกับคนที่อยู่ในพื้นที่ การรายงานข่าวกลายเป็นเงื่อนไขของสถานการณ์ เรายกกรณี บาเจาะ คุณก่อเขตเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ : ผมเห็นว่ามันไม่แค่เรื่องกรณี บาเจาะ มันไม่ใช่แค่เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ที่เกิดมันก็ไม่ใช่ 16 คน หรือ 16 ศพ บาเจาะที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือใช้คำว่าแบ่งแยกดินแดน โดยนัยยะ ตามที่คุณปกรณ์กล่าวเมื่อสักครู่นี้ ผมอยากให้ดูไม่ใช่แค่ที่บาเจาะมีเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องตามมาหลังจากเกิดเหตุนี้ขึ้นมาซึ่งพฤติกรรมชัดเจนคนที่รับรู้ทั้งประเทศว่ามีการใช้กำลังเข้าไปเพื่อปฏิบัติต่อฝ่ายทหาร หลังจากนั้นก็มีคลิปออกมาเกี่ยวกับพิธีศพซึ่งวกกลับมาประเด็นของคุณปกรณ์ที่ว่าสื่อใช้คำว่าชาวบ้าน หมายถึงคนบาเจาะทั้งหมด แต่เป็นแค่บางส่วนที่เป็นแนวร่วมก็เริ่มรู้สึกเศร้าโศกไม่พอใจมีการปลุกเร้าหลังจากนั้นมีปฏิบัติการเรียกว่า ตอบโต้ สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศ อย่าลืมนะครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการรายงานข่าวออกไปทั้งประเทศไม่ต้องพูดถึงต่างประเทศ 1. มีการใช้กำลังเข้าไปบาเจาะ เจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วพลาด 2.คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องแบบนี้ไม่ใช่คำที่ถูกต้องแล้วแต่มีความโกรธแค้น ใครโกรธแค้น ชาวบ้านโกรธแค้น หมายความว่าอย่างไร มีคำถามตามมาอีก แล้วตอบโต้ ทำไมถึงต้องตอบโต้ ที่บาเจาะ ฐานปืนเล็กที่ 2 หรือที่อื่น ๆ ความชัดเจนของเหตุการณ์มันคนละแบบ ที่นี่ตีความแบบหนึ่ง ตากใบตีความอีกแบบหนึ่ง ณ ตอนนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันชัดเจน มองถึงเหตุการณ์ซึ่งพวกเราคนทำข่าวอาจจะมองว่าตกลงที่มามันมายังไงคนทั่วไปเขาต้องการรับรู้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราจะใช้จุดนี้มาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงของทั่ง 2 ฝ่ายและตระหนักเรื่องที่ทำให้เกิดความรุนแรงความสูญเสีย มุมมองของสื่อ สื่อมี 2ลักษณะ คือ 1. รายงานสถานการณ์ 2. สังคมเขาคาดหวังว่าการรายงานหรือการทำหน้าที่ของสื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติปัญหา แม้ไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่เขาก็คาดหวังว่าอย่างนั้น สื่อต้องดูตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำหน้าที่อะไร หรือเราแค่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเรามองรอบด้านหรือเปล่า เช่น ที่บาเจาะเราเรียกว่าอะไร เรียกเหตุการณ์ 16 คนที่ถือปืนไปที่ฐานทหารเราเรียกว่าอะไร เหตุการณ์นี้เราเรียกว่าอะไร ตรงนี้สำคัญมาก ใช้คำแบบถูกต้องแล้วหรือ? ปฏิกิริยาของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่พอใจ แค่นี้มันก็สะท้อนอีกแบบหนึ่งแล้ว
ถ้าจะรายงายต้องรายงานด้วยความชัดเจนจริงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นมันถึงเวลาที่สื่อตามตัวเองว่า ทิศทางของการายงานข่าว รายงานข่าวภาคใต้มากี่ปีแล้ว ตั้งแต่ที่มีการปล้นปืน ถ้าเราคิดว่าสังคมไว้วางใจแล้วฝากความหวังเราว่าสื่อจะเป็นตัวแทนสำคัญ ตกลงเราจะรายงานอย่างไร? เราควรเชื่อและตระหนักว่าความรุนแรงใจพื้นที่ 3จังหวัด จะไม่ทำให้ผู้ขัดแย้งได้รับชัยชนะ การต่อสู้การแตกแยกทางความคิดนั้นมันยากที่จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วควรจะหาทางออกด้วยวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงแต่สื่อเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แก้ปัญหาโดยสันติภาพมันช่วยได้ เชื่อไหม
ผมติดตามเรื่องนี้มาพอสมควร ผมไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่ ว่าผู้ขัดแย้งจะเชื่อเรื่องสันติภาพ แล้วย้อนดูตัวเองว่าถ้าเราเป็นสื่อจะเรียกร้อง “อย่ารุนแรง อย่ารุน แรง” สันติภาพมันเกิดแล้วผู้ขัดแย้งไม่มองถึงตรงนั้นแล้วจะทำอย่างไร ที่พูดไม่ได้หมายความว่าให้เขาฆ่ากันต่อ เราต้องมาคิดแล้วว่าสื่อจะรายงานอย่างไรแล้วต้องทำอย่างไร ขอฝากไว้ตรงนี้ก่อน เราเป็นสื่อก็ต้องมองว่าทิศทางของของเราจะรายงานอย่างไรที่จะนำไปสู่การหมดไปของปัญหา 3จั งหวัดชายแดนภาคใต้
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ขอบคุณ คุณก่อเกต นะครับ 9 ปีผ่านมา ผมถามคุณอังคณา นะครับ การรายงานข่าวของสื่อมีส่วนที่จะช่วยเอื้อไปทิศทางใดได้บ้าง หรือชาวบ้านไม่ได้ให้ความเชื่อถือนัก?
อังคณา นีละไพจิตร : เรียนตรงๆ เลยว่า 8-9 ปี ที่ลงไปทำงานอยู่ในพื้นที่ บางทียังแยกไม่ออกเลยว่า ใครบ้างเป็นสื่อ สื่อจริง ๆ คืออะไร สื่อหมายถึงวิชาชีพสื่อ จรรยาบรรณสื่อ มีความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนคนทุกกลุ่มก็จะมีสื่อเป็นของตัวเองทุกคนสามารถลงไปในที่เกิดเหตุได้ สามารถที่จะใช้โทรศัพท์เครื่องถ่ายภาพวีดิโอเล็กๆ แล้วก็เอามาตัดต่อแล้วโพสต์ลง you tube สื่อที่มันออกมาให้รูปของ Social Media บางทีดูแล้วรู้สึกเศร้าใจสะเทือนใจ อีกสื่อหนึ่งในเรื่องเดียวกัน พอดูแล้วรู้สึกฮึกเหิม อีกสื่อหนึ่งทำออกมาแล้วรู้สึกสะใจ อย่างกรณีบาเจาะ สื่อหนึ่งที่โพสต์กันมาใน Social Media เผยแพร่ไปทั่ว ดูแล้วคนเหล่านี้คือวีระบุรุษของประชาชน ถามกลับกัน ประชาชนคือใคร? ประชาชนคือคนกลุ่มไหน แค่ไหนจำนวนเท่าไหร่ ถึงเรียกว่า ประชาชน น่าจะเป็นสื่อฝ่ายรัฐก็ออกมาลักษณะว่า คน กลุ่มนี้ตกนรก คนกลุ่มนี้ฆ่าคนมาเยอะ มันกลายเป็นการประทะความคิดของคนหลายๆ ฝ่าย มันอยู่ที่ว่าใครต้องการสื่อออกมาแบบไหน วิจารณญาณของคนที่คนที่เสพสื่อ ก็ต้องดูว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีโอกาสรับรู้ได้แค่ไหน มันยากมากกับคนธรรมดา ที่สามารถวินิจฉัยได้ว่าอะไรเป็นอะไร
ส่วนตัวที่ลงไปก็บอกได้เลยว่า ญาติพี่น้องของคนเหล่านี้ไม่ได้รู้ซึ่งว่าคนพวกนี้เป็นคนเลว หรือดี ความเป็นพี่น้อง ที่อยู่ด้วยกันในชุมชนมันก็รู้สึกได้ถึงความเป็นพี่น้องกันปกป้องกัน พวกที่เสียชีวิตไป แล้วญาติพี่น้องเขาจะอยู่กันอย่างไร ที่ลงไปคนที่เสียชีวิตอายุสูงสุดน่าจะ 30 กว่า นอกนั้นก็ไม่ถึง 30 พวกนี้ลูกเล็กๆ ทั้งนั้นเลย บางคนภรรยาก็ตั้งครรภ์อยู่ สภาพแบบนี้ชาวบ้านก็เกิดอารมณ์เกิดความรู้สึกร่วม ในเรื่องของการแบ่งแยกที่จริงถึงเรายังไม่ได้แบ่งแยกดินแดน แต่ความรู้สึกคนมันแบ่งแยกกันไปนานแล้ว มีพวกเขาพวกเรา มีคนพุทธ มีคนมุสลิม ในส่วนตัวยอมรับว่ารู้จักคนเยอะมีหลายคนพูดให้ฟังว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเข้าป่า มีกระบวนการหลายๆ อย่างที่ทำคนให้เป็นโจร หลายคนที่ถูกกดดัน บอกว่าอยู่ไม่ได้ต้องเข้าป่า ลองมาดูไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือ ถ้าใครก็ตามที่ทำนอกกฎหมายก็เป็นผู้กระทำผิดเท่าๆ กัน ไม่ใช่ประชาชนทำผิดแล้วจับตัวที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ไม่ดำเนินคดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันทำให้ปลุกเร้าอารมณ์ ทำให้รู้สึกต้องสู้
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : คำว่าอยู่ไม่ได้ต้องเข้าป่าเราเคยได้ยินคำนี้ เป็นพวกไหนครับ?
อังคณา นีละไพจิตร : บางที่ที่ชาวบ้านถูกจับถูกซ้อม มีการร้องเรียนมาเล่าให้ฟังเยอะ แต่กรณี 16 ศพที่เกิดขึ้น ไม่มีใครมาโวยวายเลยว่าทำเกินกว่าเหตุ หลังเหตุการณ์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 2-3 วัน มีคนมองบอกว่าพี่ช่วยดูแลหน่อยนะ 3 คนนี้จับแล้วส่งศาลอย่าไปซ้อมเขาหรือกับว่าเป็นการสู้รบกันระหว่างคน 2 ฝ่ายแล้ว 2 ฝ่ายก็รับกันได้ แต่เมื่อปะทะกันแล้วเสียชีวิตมันเป็นเรื่องปกติของเขา ผู้ที่รอดชีวิตที่ตำรวจจับตัวไป อย่าไปทำร้ายอย่าไปทรมานเขาแต่การส่งศาลตัดสินตลอดชีวิตอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เขายอมรับได้ หลายท่านอาจจำได้หลังเหตุการณ์ปล้นปืนมีตำรวจชุดหนึ่งไปทำงานภาคใต้ มีการซ้อมทรมาน วันหนึ่ง DSI เอาคนเหล่านี้มาเป็นพยานที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้แล้วส่งเรื่องให้ ปปช. หลังจากที่ ปปช. ใช้เวลา 2-3ปี มีความเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นตำรวจฟ้องกลับพวกนี้เป็นแถวเลย ทุกวันนี้ทุกคนรู้หมด ว่าคนไหนเป็นคนซ้อมเขา คนนี้แหละที่เป็นคนตบหูจนแก้วหูแตก แต่ในขณะที่เราไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ หลายคนบ่นประมาณว่าถูกไล่ล่า เลยมีคำพูดออกมาว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเข้าป่า”
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ไปต่อที่ทหารเลยนะครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ที่บาเจาะ ถ้าในช่วงแรกทหารมีประสิทธิภาพเหลือเกิน แต่พอผ่านไปมีคลิปออกมา หลังจากนั้นพูดถึงกรณีตากใบ ในมุมทหารมองอย่างไร การเคลื่อนไหวของข่าวสารที่มันเทมาอีกฝ่ายหนึ่งแล้วก็ก็ดูเหมือนสังคมส่วนหนึ่งรู้สึกเพื่อนถูกฆ่าในเหตุการณ์ตากใบ ทหารมองเหตุการณ์นี้อย่างไรครับ?
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก : ขอบคุณสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ทำให้ผมกลับมาพูดคุยแบบนี้บนเวทีอีกครั้งหนึ่ง ผมขออนุญาตแยกเป็น 2 ประเด็นเพื่อให้ชัด ประเด็นแรก การนำเสนอของสื่อกรณีภาคใต้ และอีกกรณีหนึ่งมาพูดถึงเฉพาะที่บาเจาะ ในเรื่องแรกผมเรียนว่า มองไฟใต้จากการที่เราทำงานในภาคใต้ ผมลงไปทำงานในปี 50 ปีแรก ปีที่2 ผมเป็นโฆษก กอ.รมน.ภาค4 มองสื่อเป็นตรงกันข้าม เป็นฝ่ายตรงข้าม คู่ต่อสู้ผมนั่งอยู่ข้างๆ ในปี 50-51 ศูนย์ข่าวอิศรา คุณปกรณ์ คุณอังคณาเป็นคู่ต่อสู้เลย ตื่นเช้ามาต้องดูข่าวว่า อิศราว่าทหารอย่างไร คุณอังคณาว่าอย่างไร สื่อภาคประชาสังคมว่าอย่างไร แล้วเราตั้งประเด็นที่จะหาข้อมูลมาเพื่อต่อสู้ พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ต้องอย่าลืมว่า สถานการณ์ของภาคใต้มันมีพัฒนาการตลอดเวลา เราลืมย้อนไปก่อนปี 47 เราขาดแหล่งข่าวเราขาดฐานข้อมูล เราไม่มีคนที่จะมีฐานข้อมูลติดตาม พอเกิดเหตุการณ์ 47 ขึ้นมาเราถูกส่งให้กลับไปใหม่โดยที่แทบจะไม่มีฐานข้อมูลอะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราเจอปล้นปืนสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ต้องหาปืนกลับมาให้ได้ นั่นคือโจทย์ที่ต้องหาให้ได้ว่าแล้วทำอย่างไร มันก็เริ่มมีการหาเบาะแสเริ่มติดตาม ปืนอยู่ที่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้างพอเริ่มกวาด มันก็มีการเปิดยุทธการปี 49-51 เห็นว่าเหตุรุนแรงขึ้นจะเห็นว่าเหตุการณ์ 50-51เหตุการณ์สูงมากเพราะเราเริ่มรู้แล้วว่าใครเป็นใครเริ่มเปิดยุทธการกวาดจับ บางคนมีหมาย พรก. 30-40หมาย มันมาได้อย่างไร มันคือสิ่งที่เราพยายามประมวลว่า มันเป็นไปได้ไหม อย่างไรไม่ได้หมายความว่าเขาคือผู้ที่กระทำความผิดเพียงแต่มันมีส่วนเกี่ยวข้อง
แล้วถามว่าส่วนเกี่ยวข้องเราทำอะไรได้บ้างของออกหมาย พรก. เพื่อเอามาหาข้อเท็จจริงว่ามันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว หลังจากนั้น ปี 54-55 ท่านแม่ทัพ พลโท อุดมชัย ด้วยความที่ท่านศึกษาเรียนรู้ติดตามท่านรู้แล้วว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิดเป็นโจทย์ที่ยากท่านก็ปรับผมให้มาเป็นโฆษกประจำตัว คือโฆษกของ กอ.รมน. มันยากในการจะทำความเข้าใจ คิดได้อย่างเดียวว่าสิ่งที่เราต้องพูด เรามีโอกาสทำความเข้าใจเพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจไม่ใช่ปัญหาที่เห็นแล้วว่ามันมีที่มาที่ไปแล้วจะอธิบายได้ขนาดไหนในปีนี้ สถานะของผมค่อนข้างจะคลุมเครือเลยไม่รู้จะใช้สถานะอะไรเลยใช้ความเป็นอดีตโฆษก ของท่านมาใช้ ณ เวทีนี้ เข้ามาถึงกรณีบาเจาะจากที่เราเคยอยู่ในพื้นที่เราพูดได้ในเท่าที่เราเห็นและต่อสู้ในสิ่งที่เราเผชิญหน้า แต่พอเราออกมาอยู่ข้างนอกเรากลับกลายเป็นมองเห็นว่าภาพมันมากกว่านั้นมันไม่ใช่แค่บาเจาะที่เกิด ในขณะเดียวกันในการต่อสู้ของสถานการณ์ความเร็วของข่าวสารที่ผ่านออกมา ถ้อยคำที่ใช้มันเริ่มมีการต่อสู้เริ่มเห็นกระบวนการที่มันไม่ใช่แล้วเห็นกระบวนการต่อสู้ในเชิงของสื่อสารมวลชน เห็นพลังของ Social network เห็นกระบวนการต่อสู้ที่เป็นระบบ เห็นจุดด้อยจุดอ่อนของฝ่ายรับ ดูเหมือนว่าอารมณ์ตอนนั้นเป็นอารมณ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์มานี้ กระบวนการรับที่ต้องเจอกับสถานการณ์ การเริ่มยิงครู การยิงนายอำเภอ จับมือมัดพ่อค้าขายผลไม้ที่บันนังสตา และเข้าสู่การระเบิดทหาร ฉะนั้นภาพที่บาเจาะเหมือนกับการอัดอั้นของคนที่เฝ้ามองจากข้างนอกทุกคนชื่นชมทหารเราดูในตัววิ่งต่าง ๆ ทุกคนชื่นชม หลังจากนั้นมีการสร้างสื่อเพื่อเป็นสงครามของสื่อ มองเห็นว่ากรณีบาเจาะเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มพิจารณาด้านการทำงานของของแหล่งข่าวด้านสื่อ ด้าน IO ของหน่วยงานภาครัฐ ความเร็วของสถานการณ์ความเร็วของการต่อสู้ ถ้าอยู่ในระบบต้องขออนุมัติไม่สามารถสู้ความรู้สึกกับประชาชนได้ ผมพยายามให้คำจำกัดความของพี่ๆ น้องๆ สื่อว่า กองทัพที่ 5 จากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และกองทัพสื่อ ที่มีความสำคัญมากในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนซึ่งส่งผ่านด้วยสื่อ แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่บาเจาะหรือที่ใดๆ ก็ตามถ้าไม่มีการนำเสนอ พอสื่อนำเสนอภาพมันออกมาเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นเมื่อสื่อนำเสนอมันแปลไม่ส่วนความคิด แปลไปสู่ความรู้สึก
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : นอกจากในแง่ของสื่อที่เสนอไปแล้ว ปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายก่อเหตุเคลื่อนไหวเร็ว หลังจากเหตุการณ์ตาใบที่พี่อังคณาบอกว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งยังพูดถึงทุกวันนี้ว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเข้าไปในป่า ความคับแค้นเหล่านี้หรือเงื่อนไขเหล่านี้ ในสายตาทหารว่ามันผลิตคนพวกนี้อยู่เรื่อยๆไหม เงื่อนไขเหล่านี้มีอยู่จริงหรือเปล่า? ถ้าอย่างนั้นสถานการณ์ก็ยังไม่หยุด?
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก : หลังจากที่ความเร็ว มุมองและมุมการนำเสนอตรงนี้คือปัญหาที่เราจะต้องคุยกันว่า เพราะมันมีหลายเรื่องที่สามารถทำต่อได้ การไปสัมภาษณ์ แม่ของ พะรอโซ ที่ตากใบประเด็นของตากใบที่เราพยายามเยียวยา มันกลับถูกปลุกขึ้นมา สิ่งที่นำเสนอออกมามันกลับไปตอบกรณีที่เขาอยากจะนำเสนอในเรื่องของตากใบ สื่อและกระแสก็ย้อนไปตากใบอีกพอไปเจอคลิปที่สายบุรี มันก็นำไปสู่ตากใบอีก ภาพก็สื่อถึงความเจ็บแค้นของที่ตากใบสร้างนักรบ สร้างความต่อสู้สร้างความเกลียดชังจังบังเกิดขึ้นที่บาเจาะ ถ้าสื่อย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่า ทำไมท่านไม่ช่วยแก้ปัญหา ปัญหา 3 จังหวัด ปีที่ 9 จะก้าวเข้า ปีที่ 10 เราเสียมากแล้ว เสียโอกาสเสียอะไรมากมายแล้ว ผมอยากจะจบ ณ กรณีบาเจาะน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อให้ทั้ง 5 กองทัพเข้าใจ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ดูเหมือนว่ากรณีตากใบเป็นข่าวที่ไม่มีวันตาย เมื่อหยิบยกเมื่อไหร่มันเหมือนแผลที่ยังสดอยู่ ความชอบธรรมของรัฐก็จะหาย ต้องทำอย่างไร?
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก : เรื่องของการเยียวยา ถ้าเราย้อนกลับไปพูดเรื่องเดิมมันก็จะเป็นเรื่องของอดีตที่มันไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เราอยากให้เดินไปข้างหน้าเรากำกลังเดินไปสู่อนาคตแต่พอเอาเรื่องเก่ามาพูดมันเดินไปไม่ได้ เพราะมันยังติดอยู่กับเรื่องเก่า ทำอย่างไร? ที่พี่น้องสื่อมวลชนจะพาเราไปข้างหน้า อย่าลืมว่า 10 ปี ที่ผ่านมา 10 ปี ของเด็กที่เรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 7-9 ขวบ ถ้าเจอสถานการณ์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ วันนี้เขาอายุ 19 แล้วสิ่งที่เขารับมาคือความรุนแรง แล้วต่อไปอายุเพิ่มขึ้น เขาจะคิดอย่างไร เราต้องพาเขาออกมา เชื่อมั่นว่าสื่อมวลชนต้องพาเขาไปได้ ถ้าเราร่วมมือกัน
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ในสายตาของผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมองเหตุการณ์นี้อย่างไรมีการช่วงชิงความชอบธรรมผ่านสื่อ วิธีคิดของคนด้านมนุษยชนมองอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สุณัย ผาสุข: ผมมองว่าการนำเสนอข่าวของสื่อ ผมมองเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก คือจำนวนของผู้ก่อความไม่สงบจำนวนเท่าไหร่ นำโดยใคร มีอาวุธอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ต้านรับอย่างไร ผลที่ตามมาคืออะไร ช่วงที่สอง ที่น่าสนใจมากผมมองเป็นส่วนแรกๆ แทบทุกสถานีข่าวผู้สื่อข่าวไปคุยกับครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตแล้วก็นำเสนอประเด็น ทำไมคนเหล่านี้ถึงมีแนวคิดที่รุนแรง ทำไมคนเหล่านี้ถึงติดอาวุธ ซึ่งข่าวเหล่านี้ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ผมมองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้น่าสนใจ พอนำเสนอข่าว ในช่วงที่สอง เหมือนเราไปเชื่อมต่อกับข้อมูลนี้ว่าเหตุการณ์ตากใบซึ่งเป็นคลิปออกมาก็ต้องนำเสนออย่างระมัดระวัง การบรรยายก็ต้องบรรยายอย่างระมัดระวัง แต่ในประเด็นที่ว่า ตากใบเป็นแรงจูงใจให้กลายเป็นว่าให้ความชอบธรรม ความคับแค้น การอยุติธรรม การไม่ได้รับการเอาผิดต่อคนที่กระทำเหล่านี้ ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม คุณไม่สามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ได้
ย้อนกลับไปคนที่มีหมายจับ 16-17 ศพนี้ มีความคับแค้นใจ ไม่สามารถมาเป็นเหตุผลด้านความชอบธรรมในการทำร้ายพลเรือนได้ เราพยายามผลักดันเสนอข่าวในประเด็นนี้ด้วย ไม่ว่าคุณจะมีเหตุผลอย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุปะทะที่บาเจาะ เราก็มีแถลงการณ์ซึ่งหลายคนเดาว่า กรณีบาเจาะ การแถลงการณ์ต้องมีทหารแต่ไม่ใช่แล้วเราก็ตำหนิเขาด้วยว่าพฤติกรรมความรุนแรงก่อนหน้านี้ที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด มีรูปแบบชัดเจนว่าทำร้ายประชาชน เพราฉะนั้นรูปแบบในการทำข่าวของสื่อในกรณีบาเจาะ ผมมองว่าเป็นรูปแบบที่มีวิวัฒนาการของสื่อ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : แล้วรอบข่าวที่สามคืออะไรครับ?
สุณัย ผาสุข : รอบข่าวที่สามคือ การทำความเข้าใจว่า จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ได้ ในสถานการณ์ชายแดนภาคใต้เราเรียกว่าการขัดแย้งกันด้วยการใช้กำลังอาวุธภายในประเทศแล้ว ซึ่งมันเป็นกรอบที่สามารถเอากฎหมายระหว่างประเทศมาใช้ได้มาบังคับใช้ได้
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : หมายถึงสื่อต้องแปล่งเสียงเหล่านี้?
สุณัย ผาสุข : เปล่งให้ดังกว่านี้ คือเรานำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนย้อยหลังไปกว่านี้ ว่าความเป็นมาเป็นอย่างไรแล้ว สำหรับพวกผมเรียกว่าการรณรงค์สิทธิมนุษยชน สื่อก็ทำหน้าที่รณรงค์ด้วยได้ ซึ่งสื่อมีหน้าที่และศักยภาพในการลบเงื่อนไขการปกครองในพื้นที่ได้ ลบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน3ชายแดนภาคใต้ได้ เรามองว่าเรากำลังอยู่ในรอบที่เคลื่อนขึ้น ไม่ว่าคุณจะเอาเรื่องอะไรมาอ้าง ไม่มีความชอบธรรม เราอาจจะไม่มีบทบาทมากนักแต่อาจจะเป็นเรื่องความหวาดกลัว เรื่องผู้นำศาสนาและผู้นำการเมือง อยากให้น้องๆ สื่อเข้าไปสัมภาษณ์กลุ่มวาดะ คนไหนก็ได้เรื่องประเด็นการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์จะพูดไหม คุณเข้ามามีฐานะเป็นที่ปรึกษารองนายกฝ่ายความมั่นคง ความคาดหวังหนึ่งคือว่า คุณต้องช่วยในการกำกับดูแลในพื้นที่ อย่างที่เราคุยกันว่าเราต้องค่อยๆ แยกพวกหัวรุนแรงออกจากคนที่หัวไม่รุนแรง
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : กลับมาที่คุณมนตรี อุดมพงษ์ ในฐานะที่เป็นนักข่าวในพื้นที่ต้องรายงานข่าวโดยหน้าที่ไม่ทำก็ไม่ได้ ถ้าเป็นในกรณีนี้ สายตามันแหลมคมขึ้น มีความคิดที่เข้มข้นขึ้น หลักการหนักขึ้น คนที่อยู่ในพื้นที่จะทำอย่างไร?จะสื่อสารให้สังคมทั้ง 73-74 จังหวัดได้เข้าใจแล้วเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างที่คุณมนตรีบอกตอนแรกว่า คนเหล่านี้ใช้เสียงปืนเสียงระเบิด เรียกร้องสื่อในการทำข่าวเรียกร้องความสนใจ คนในพื้นที่จะทำอย่างไร ว่าไม่ต้องมีเสียงเหล่านี้ได้ไหม?
มนตรี อุดมพงษ์ : ขอบคุณครับหลังจากที่ได้ฟังความเห็นหลายๆ ท่านแล้ว ผมก็ตีกรอบอย่างนี้ว่า ตีกรอบคนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ในความรู้สึกด้วย มันมีประเด็นของความขัดแย้ง หรือความเกลียดชังเกิดขึ้น สิ่งที่มันเป็นอย่างที่ พอ.ปริญญาพูดขึ้น คือช่วงของอารมณ์และความรุนแรงฮึกเหิม มันไปเร็วมากถึงวีรกรรมความสำเร็จความสุดยอดของนาวิกโยธิน ซึ่งที่ผมคุยมันก็มีหลายนัยยะ ซึ่งแน่นอนความชื่นชมไม่ต้องพูดถึงความเสียสละทุกประการหรือแม้แต่ความเห็นใจว่า ถ้าไม่ใช่ 16ศพนี้ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำที่กลายเป็นศพ ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงทำงานอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ใช้ผลักชาวบ้านไปอยู่ฝั่งเขา หรือทำให้เขากลัวมากขึ้นข้อมูลที่ได้ครั้งนี้มาจากการข่าว จากการได้จากแผนที่อยู่ในศพของคนที่ตาย ก่อนหน้านี้พบศพเขามีแผนที่ ซึ่งเป็นแผนที่ของหน่วยทหารซึ่งเชื่อได้ว่าจะมีการโจมตีกันเร็ว ๆ นี้ นั้นคือการข่าวของเจ้าหน้าที่ที่ได้มาแล้วถือว่าแม่นในการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นฐานนี้แหละเพราะนัยยะไม่ไกลจากโรงเรียนที่ครูชลธี ถูกยิงและเป็นฐานที่โล่งข้างหลังเป็นสวนยางข้างหน้าเป็นถนนมันโล่งมากแต่สิ่งที่ข่าว ที่สื่อสารออกไปคือ
ทหารฝากมาว่า พูดออกไปว่า “ชาวบ้านให้ข่าว ชาวบ้านให้ข่าว” ข้อดีคือว่ามันเป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือ ข้อเสียคือ แล้วชาวบ้านเขาจะอยู่อย่างไร จริงอยู่ชาวบ้านให้ข่าว แต่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกครั้งไปอันนี้ในกรณีที่ 1 กรณีต่อมาที่ตากใบ คือกรณีนี้ในความรู้สึกไม่รู้ว่าก่อนที่ผมจะสัมภาษณ์ มีใครมาสัมภาษณ์เขาก่อนหรือเปล่า แต่ก็รู้สึกเหมือนว่าเป็นเจ้าแรกที่เข้าไปคุยกับครอบครัวหนึ่ง ใน 16 คนที่ตายซึ่งคุยกับพ่อเขา ตามในข่าว 3 มิติ ค่อนข้างจะมีอารมณ์พอสมควรในการสัมภาษณ์ คือถ้าเขาบีบคอผมได้เขาคงบีบคอผมเพราะเทปผมยาวมาก ที่ผมพูดเขาไม่ได้โกรธนะครับ ในบทสัมภาษณ์ที่เขาตอบผม “เขาโมโห เขาโมโห” เขาโมโหมาก แต่ไม่ได้โมโหเจ้าหน้าที่รัฐนะครับ ผมจะเล่าให้ฟังในสิ่งที่เขารู้สึกแล้วมันจะเกี่ยวเนื่องกับเรานะครับ คนหนึ่งที่เป็นหนึ่งใน 16 คนที่ตาย พ่อเขาเคยเป็นอดีตพลทหารนะครับ เขาถึงกล้าพูดเขาเคยอยู่ในวงการเขาเคยพูดคุยกับเราเยอะมากพูดคุยกับคนแบบพวกเราค่อนข้างเยอะเขาจึงกล้าพูดมาก กล้าที่จะนำเสนอความคิดเห็น ลูกเขามีหลายคน ลูกเขาเรียน โรงเรียนอิสลามบูรพา หนึ่งในโรงเรียนที่ถูกจับในขณะที่วางระเบิด ในอำเภอระแงะ แล้วค้นโรงเรียนนี้แล้วพบวัตถุระเบิด ผมจำได้ไม่เคยลืมแล้วผมก็ไปที่โรงเรียนนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว วัตถุประกอบระเบิดหนึ่งในนั้นคือ 3310 รุ่นฮิตแล้วลูกเขาก็ไปที่ตากใบในหมู่บ้านหมู่ 4 ตำบล ตันหยง มี 3 คนที่ไปในหมู่บ้านนี้ มี3คนที่ไปตากใบของคนตายในที่เกิดเหตุเหลือเพียง1 คนที่ไม่ตายเมื่อเขาไม่ตายเขาก็ถูกจับไป กลับมาหน้าตาเขาก็ปูดบวมจากหลายเหตุผลไม่ต้องพูดถึง
เขาบอกว่าไม่กล้าไปหาเจ้าหน้าที่รับอีกแล้วเพราะเขากลัวซึ่งความกลัวอยู่ในใจเขาแต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าถูกซ้อมอะไรหรือไม่ เมื่อเขากลัวแม้แต่คัดเลือกทหารเขาก็ไม่อยากไปเจอเจ้าหน้าที่ บัตรประชาชนเขาหมดเขาก็ไม่ไป พ่อก็อ้อนวอนว่า “ไปเถอะลูก ไม่มีอะไรเลวร้าย”ให้ลูกไปทำบัตรประชาชน ไปคัดเลือกทหารถ้าลูกไม่ไปก็ยิ่งไปกันใหญ่ แล้วถ้าลูกยิ่งห่างไกลอย่างนี้พ่อจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ห้ามไม่อยู่เมื่อเอาไม่อยู่ “นัยยา” ซึ่งเป็นพ่อ ก็บอกลูกว่า “ลูกเอ่ย ถ้าเป็นอย่างนี้มันอยู่ลำบากแล้วน้องๆ ของลูกจะทำอย่างไรคนอื่นที่อยู่ในบ้านจะทำอย่างไร ” สุดท้ายเขาก็ไป พอเขาไป สักพักเขาก็กลายเป็นคนที่ถูกระบุว่าเป็น RKK พ่อเขาก็บอกว่าลูกมาอยู่บ้านเราเถอะ ลูกบอกว่า ผมอยู่ไม่ได้แล้ว มีเจ้าหน้าที่มาหา ถ้าอยู่ไม่ได้ไปก็ไปแต่อย่ามายุ่งกับครอบครัว นี่คือบอกลูก คือตัดหางปล่อยวัด อย่ามายุ่งกับลูกๆ อย่ามายุ่งกับน้อง ๆ อย่ามายุ่งกับพี่ ๆ อย่ามายุ่งกับญาติ อย่าให้คนอื่นเขาเดือดร้อน เขาก็ไป สุดท้ายลูกเขาก็เป็นศพ ซึ่งเขาก็แต่งงาน เมียเขายังท้องอยู่เลย แต่งงานนี้พ่อไม่รู้ด้วยซ้ำนะครับ พอลูกตายแล้วจึงรู้ว่า ตัวเองมีลูกสะใภ้และหลานและครอบครัว ถ้าเป็นผู้ชายได้สำหรับคนมุสลิม พ่อแม่ไม่รู้ไม่เป็นไร นี้พ่อเขาบอกจริงเท็จผมก็ไม่ชำนาญด้านนี้ สิ่งที่พ่อเขากังวล เขาไม่ได้ซีเรียสเรื่องลูกเขาถูกยิง ไม่ได้กังวลอะไรเลย สิ่งที่เขาซีเรียสก็คือ อย่าทำให้ลูกคนอื่นๆ ของเขาถูกมองว่าจะเดินตามลูกของเขาอีกคนที่เสียชีวิต
สิ่งที่หลายท่านไม่รู้ ว่าพลทหารมาคุยกับเราว่า คุณมนตรีครับ นานมากแล้วที่ผมสร้างมวลชนในหมู่บ้านนี้พวกเขาคือโล่กำบังของผม ฐานนี้ ไม่ได้มีกำแพงสูงมีรั้วลวดหนามไม่เท่าไหร่ สิ่งที่กันชาวบ้านกันทหารได้คือมวลชน เกิดอะไรขึ้นตอนนี้ พลทหารยังไม่กล้าเดิน เดินหันหลังยังยาก เพราระแวงแล้วว่า “ครอบครัวนี้ก็โจร ครอบครัวนี้ก็โจร” ในบรรดา 6-7 ศพที่ตาย พลทหารจะระแวงเสมอว่า เมื่อไหร่พี่น้องเขาจะเอาคืนนึกออกไหมครับ? แล้วเกิดอะไรขึ้นกับญาติ ญาติบอกว่า “เมื่อไหร่ทหารจะมาจับลูกกูอีก เพราะลูกกูคนโตเป็นโจรไปแล้ว” สิ่งที่สะท้อนคือ ช่วยไปบอกให้เจ้าหน้าที่ว่า “อย่ามองลูกคนอื่นๆ ว่าเขาเป็นโจร” เหมือนกับพี่ของเขา เหมือนกับน้องของเขา เหมือนกับอาของเขา เพราะเดี๋ยวเขาจะเป็นจริง ๆ นี่คือสิ่งที่เขาสะท้อน ส่วนประเด็นตากใบเราทุกคนรับทราบ มันเป็นเหตุการณ์ที่ถูกจัดขึ้น เอาเข้าจริง มีแค่ 3-4 คนเท่าที่แม่ทัพบอกว่า ใน 16 คน มีแค่ 3-4 คนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ตากใบ ไม่ใช่ทุกคน แต่คำถามคือแล้วอย่างไรละ? อาจจะมีบางคนอยู่ กรือเซะ หรือเปล่าอาจจะมีบางคนอยู่ที่อื่นด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมก็ถามว่าทำไมไม่ไปถามให้หมดไม่จำเป็นต้องออกข่าวก็ได้ เก็บข้อมูลให้หมด แล้วคุณจะรู้ว่าอะไรคือเงื่อนไขแล้วจะรู้ว่ามันถูกเซตขึ้นทำไมต้องเซตตากใบ เพราะต้องการให้คนข้ามไปมาเลเซีย เพื่อให้เห็นว่าคนไทยอพยพไปมาเลเซีย เมื่อมันถูกเซตขึ้นเพราะฉะนั้น วันนี้เขาไม่อ้างตากใบ เขาอาจจะอ้างอย่างอื่นก็ได้ คำถามต่อมาคือว่า แล้วเราจะทำอย่างไรละว่า ไม่ให้มีการอ้างว่า 16 ศพนี้นำไปสู่นักสู้คนใหม่
ในปฏิทินนักสู้เขาวันนี้พวก กรือเซะ วันนี้ครบรอบปล้นปืน และเหตุครบรอบเหตุการณ์อื่นๆ อีก และอีกสักพักจะมีครบรอบ 13 กุมภาพันธ์ ผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องตากใบนะ ผมไปสัมภาษณ์เขาเพราะมันคือมุมมองหนึ่ง แต่ว่ามันก็แค่ 3-4คน แต่อย่าประมาณคนเหล่านี้ ถ้าเราประมาณเมื่อไหร่ กระแสสังคมโหมเมื่อไหร่ ลูกหลานของ 3-4 คนนี้มีกี่คน รอบหน้าอาจจะเกิดสัก เดือนเมษายน แล้วบอกว่าเป็นการแก้แค้นให้ 16 คนนี้ ผมมองในมุมวงล้อมที่ผมจะเปรียบเทียบ เมื่อเกิดไฟป่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ไฟป่าจะไม่ทำในการดับไฟ คือ ไปตีไฟแรง ๆ เพราะมันจะทำให้ไฟนั้นกระเด็นแล้วมันก็จะตกในป่าอื่น แต่เจ้าหน้าที่ไฟป่าทำแนวกันไฟ ทำวงล้อมเอาเชื้อเพลิงออก แต่สิ่งที่สังคมไทยทำในขณะนี้คือ ไปตีให้ความเกลียดมันเพิ่มขึ้น ชาวบ้านที่นั้นเขาไม่ได้รักโจร แต่เขาก็ถูกเกลียดจากคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ความจริงเขาไม่มีทางเลือก แต่ความเกลียดมันไปฝังในใจเขาแล้ว สื่อต้องทำตรงนี้คือ กันเขาออกมา
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ขออนุญาตนะครับ ผู้ร่วมเสวนาท่านใดมีความเห็นหรือคำถามเตรียมไว้นะครับ ไปที่คุณปกรณ์นะครับ เงื่อนไข จะไม่พูดถึงตากใบจะพูดถึงเรื่องอื่นๆ นะครับ กรณีบาเจาะอาจจะไปอยู่ในปฏิทินเขาแล้ว เรื่องกรณีบาเจาะที่น่าสนใจของกลุ่ม Social network กำลังขยายเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นมีการแปลเป็น 2 มุมมองชัดเจน คุณปกรณ์สะท้อนให้ฟังหน่อยครับว่า พลัง Social network มันได้มีพลังในการผลิต 3 เงื่อนไขเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน?
ปกรณ์ พึ่งเนตร : ทางทหารได้พูดอยู่เสมอว่าต้องไม่ให้เกิดตากใบ 2 ที่ผ่านมาทางฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้แล้วเพราะตากใบก็เกิดแล้ว กรือเซะก็เกิดแล้วเขาก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาสถานการณ์ต่อไปจนถึงสร้างความชอบธรรมที่จะแยกตัว ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เพราะเราเก่ง หรือเพราะความไม่พร้อมของเขา แต่ผมกลับมองว่าตากใบ 2 มันเกิดขึ้นมา ใน Social network หรือในใจของคนในพื้นที่ถึงมันจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่ว่ามันกลับถูกปลุกว่ามันเกิดขึ้นจริง มันเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจบเงื่อนไขเหล่านี้ครับ ที่มันมีอยู่คือจะบอกไปว่ามองหน้าอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของชั่วอายุคนหนึ่ง แล้วหลายๆ เรื่องที่เคยเกิดมา จนวันนี้ก็มีคนพูดอยู่เช่น 6 ศพ สะพาน กต. มันก็ยังมีพูดอยู่ คือมันเป็นเงื่อนไขหมด เพียงแต่ว่า พอมันนานมันอาจเบาลงหรือถ้าเราไม่ไปสะกิดมันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น ก็คือ
1. ต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ 2.เงื่อนไขเก่าก็กลับไปโปะด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทางทหาร โฆษก กอ.รมน. หรือตำรวจ แยกเป็นหนึ่งหน่วยมันอาจจะไม่สามารถที่จะแก้ไขได้แต่ก็ต้องร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไข จะเข้าไปแก้ไขด้วยการรื้อฟื้นคดี หรือมีขบวนการคล้าย ๆ การเข้าไปทำงานให้มันเป็นเหมือนความเห็นร่วมของคนในพื้นที่ อย่างเช่นอาจจะลืม แต่ก่อนจะลืมต้องเข้าใจว่าเยียวยาพอหรือยัง ต้องให้การศึกษากับเวทีเสวนาวันนี้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นแล้วจะก้าวข้ามเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ตอนนี้มีการยกระดับสถานการณ์ จากเหตุการณ์ 16 ศพ เขาพยายามสร้างความชอบธรรมทั้ง ๆ ที่ดูจากเหตุการณ์โดยเผิน ๆ ไม่มีความชอบธรรมอะไรเลย แต่เขาก็ยังพลิกขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรม ฉะนั้นเงื่อนไขต่าง ๆทั้งหลายอย่างเช่นคนตากใบ มันเกินกว่าครึ่งค่อนที่มีความผิด มันก็ต้องกลับไปบอกให้หมด มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ไปที่คุณก่อเขตนะครับ เหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สื่อโทรทัศน์ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลจะประคับประคองอย่างไรกับความแหลมคมกับเหตุการณ์ตรงนี้?
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ : ผมคงย้ำประเด็นในรอบแรก เราต้องตั้งหลักให้ดีเสียก่อนแล้วดูทิศทาง เราจะรายงานข่าว3จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เราจะรายงายว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น 5W 1H แค่นั้น ถ้าเราไม่มีหลักหรือว่าเราเป็นสื่อแล้วรายงานเหตุการณ์ไป แต่ถ้าเรามีหลักเพื่อมุ่งหวังให้ไปสู่ความผ่อนเบาปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ การรายงานก็อาจจะแตกต่างออกไป อีกประเด็นหนึ่งการมองภาพให้ชัดจริงๆ หลักการทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้การทำข่าวปกติ เราอาจจะละเลยไป คือว่า ต้องมองเหตุการณ์อย่างรอบด้านจริง ๆ ว่า จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น บางที่คำถามง่ายๆ แต่กระบวนการในการตอบซับซ้อนนะครับ เกิดความรุนแรงอย่างเช่น กรณีในบาเจาะ ถ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งจับอาวุธเข้าไป นี่คือผลปวงจากความ อยุติธรรม หรืออีกกลุ่มหนึ่งจะบอกว่าคือ ปฏิบัติการข่าวสาร มันจึงจำเป็นที่จะต้องมองให้ชัดเจนมองให้รอบด้านและระมัดระวังการใช้ถ้อยคำพาดหัวข่าว บรรทัดแรกของข่าวมันสำคัญมาก พื้นที่น้อยแล้วต้องใช้คำที่ดึงดูดความสนใจด้วย พร้อมกับข้อเท็จจริงด้วย มันโยงไปสู่ว่าเรามีทิศทางในการรายงานอย่างไร เราสามารถตอบได้ว่าที่เราทำไปมันตอบสนองหรือเป้าหมาย อย่างน้อยเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นสื่อเราทำหน้าที่นี้อย่างดีเท่าที่เราทำแล้ว ถ้าเรายังไม่มีหลักคิดตรงนี้ เราก็รายงานข่าวไปตามสถานการณ์ซึ่งวันนี้อาจะไปเข้าทางกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือวันนี้อาจเข้าทางทหารก็ได้ ทางการอาจะไม่พอใจนักกับการเอาเหตุการณ์ที่บาเจาะไปโยงกับเหตุการณ์ที่ตากใบ สื่ออธิบายได้ว่าการเอาเหตุการณ์ตากใบไปโยงกับเหตุการณ์บาเจาะเพราะชี้ให้เห็นว่าความผิดพลาดมันเกิดซ้ำอีก ผมคิดว่าเราควรจะเป็นเครื่องมือของใครไม่รู้เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรงและทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จะไปเป็นเครื่องมือของใครก็ได้แต่สื่อควรจะเป็นเครื่องมือของสันติภาพและเป็นเครื่องมือที่จะลดความรุนแรงลงได้
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ไปที่คุณอังคณานะครับ หลายคนพูดถึงเรื่องเงื่อนไขที่มันผลิตความรุนแรงในพื้นที่ ในมุมของคนที่คลุกคลีกับชาวบ้าน ความคับแค้นที่เกิดขึ้น คิดอย่างไรมองอย่างไร ทำอย่างไรเราจะปลดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน?
อังคณา นีละไพจิตร : อย่างที่ พอ. ปริญญาพูดมา ดิฉันพยายามนึกย้อนไป ว่าเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นช่วง ปี 49-51 ถ้าเราย้อนเอาไปคิดดู ช่วงนั้นเราจำกันได้ไหมว่า มันมีกรณีฆ่าข่มขืนที่ปัตตานี แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ข่มขืน จำได้ว่ากรณีนั้นไปเยี่ยมครอบครัวเขาที่บ้าน แม่ของเด็กที่ถูกข่มขืนปฏิเสธไม่รับเงินจากรัฐทั้งๆ ที่สามีก็ตาย ลูกชายตาย หลานชายตาย แล้วก็ลูกสาว 3 ศพตอนนั้นเขาจะได้ 3แสนตอนนี้เพิ่มเยียวยาอีก 5 แสน แม่เขาปฏิเสธไม่รับเงินจากรัฐ ต่อมามีเรื่องเด็ก ปอเนาะที่ สะบ้าย้อย ถูกยิงตาย 2 คน ท่านอดีตโฆษก กอ.รมน. ออกมาให้ข่าวว่า เด็กทำระเบิดแล้วตายเอง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชุมชนกับเจ้าหน้าที่ขัดแย้งกันมาก หลังจากนั้นมีนโยบายแยกปลาจากน้ำ เอาเครื่อง GT 200 ไปชี้เอาตัวเขามาไปอบรมชาวบ้านก็ไม่ยินยอม จนกระทั่งศาลสั่งว่า ท่านไม่มีสิทธิเอาชาวบ้านไปอบรมโดยที่ชาวบ้านไม่เต็มใจ ก็มีสั่งออกมาอีกว่าห้ามคนพวกนี้เข้าพื้นที่ ในเมื่อตรงนั้นมันเป็นจุดที่ สุดๆ เลย ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นพวกเดียวกันแล้ว และนำมาซึ่งข้อถกเถียงกันเรื่อย อยากจะเรียนนิดหนึ่งว่า ทางฝ่ายทหารดิฉันไม่ได้มีเจตนา หรืออคติอะไรกับใคร แต่ถ้าเราคุยกันอย่างสร้างสรรค์และสามารถหาทางออกร่วมกัน ไม่อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยความมั่นคง มองว่า “เยียวยาแล้ว แล้วจะยังไง”
ดิฉันก็เป็นอีกคนที่เป็นเหยื่อและได้รับการเยียวยา 7.5ล้าน พูดในฐานนะของเหยื่อถามว่าชีวิตมีอะไรดีขึ้นบ้างหลังจากได้เงิน ลูก 5 คนไม่มีใครเคยถามสักคำว่า แม่จะเอาเงินไปทำอะไร ไม่เคยมีลูกสักคนขอเงินว่าจะเอาไปทำอะไร ไม่รู้สึกดีใจที่ได้เงินซึ่งเป็นเงินล้านทั้งชีวิตคงไม่สามารถหามันมาได้ แล้วมันทำให้ชีวิตดีขึ้นไหม ถามว่าได้เงินมาแล้วยังไง ชีวิตมันฉิบหายหมดไปแล้ว ถามว่าย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว ฉันคือผู้หญิงธรรมดา ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพที่เลี้ยงลูกได้ แล้วลูกต้องออกจากโรงเรียน อาจต้องไปติดยา อาจจะมีความเคียดแค้นอยู่ในใจ ถามว่าเงินที่ได้ในวันนี้ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้บ้าง มันทำอะไรไม่ได้เลย ไม่อยากให้มองว่าเยียวยาแล้วมันจะจบ แต่ก็เห็นด้วยในการเยียวยา อย่างน้อยมันเป็นสิ่งที่รัฐแสดงถึงความห่วงใย ความช่วยเหลือถึงแม้มันจะล่าช้าแต่มันก็ยังดีกว่าที่มันไม่เกิดขึ้น อยากให้มันยุติแล้วยุติอย่างไร ยุติที่ศาลยุติธรรม พลเอกสุรยุทธ์ เคยออกมาขอโทษ แต่ไม่ได้ยอมรับผิดในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้วขอโทษอย่างเดียว
วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นดิฉันอยากเรียกมันว่า มันคือความทรงจำ เป็นบาดแผลที่อยู่ในใจ และความทรงจำนี้มันยังคงอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เรื่องของเหยื่อแต่กลายเป็นความทรงจำร่วมของผู้คนในสังคม การแก้ปัญหาเราต้องมองข้ามความเป็นปัจเจก มองกลับไปยังสังคมด้วย สิ่งที่กังวลคือ วันนี้เรามีการแบ่งพวกกัน มองเห็นความตายความสูญเสียของคนเป็นเรื่องธรรมดาไม่เคยมีความรู้สึกร่วมของการเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมันหายไปเลยนะคะ ไม่ว่าใครก็ตามจะออกมาตีความว่าเหตุการณ์ในภาคใต้ สามารถจะฆ่าใครก็ได้ดิฉันเชื่อว่า อิสลามไม่เคยอนุญาตให้ฆ่าผู้หญิง ไม่อนุญาตให้ฆ่าเด็ก ทำร้ายเชลย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องยกขึ้นมาพูดกันให้มากขึ้น ผู้นำศาสนาเองต้องกล้าหาญที่จะชี้ผิดชี้ถูกให้ประชาชน ไม่ใช่ทุกคนอยู่ในความกลัวหมด สังคมอยู่ในความกลัวแล้วใครจะชี้นำ จะให้สื่อเป็นผู้ชี้นำ หรือจะให้ใครชี้นำ บางทีคนทุกคนอาจจะต้องกล้าที่จะออกมายุติความรุนแรง คนๆ เดียวอาจจะทำไม่ได้ แต่คนสามัญทั้งหลายที่ไม่เคยมีผลประโยชน์ใด ๆ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น ต้องกล้าที่จะออกมาพร้อมกันแล้วบอกว่า ไม่เอาแล้ว ดิฉันเองในฐานะทีเป็นครอบครัวของเหยื่อ จะพูดเสมอว่า ครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร มีวิถีทางที่จะหาความเป็นธรรมและไม่มีความจำเป็นที่จะให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาอ้างการสูญเสียของคุณสมชายไปทำการละเมิดสิทธิต่อคนอื่น
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : พ.อ. ปริญญา มีอะไรเพิ่มเติมไหมครับ? ในมุมมองของหน่วยงานความมั่นคง
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก : เท่าที่ผมฟังมาทั้งหมดนี้ เราต้องยอมรับว่า ตอนนี้เราเจอโจทย์ที่ยาก และมีความซับซ้อน ถ้าง่ายคงแก้ไปจบแล้ว อย่างที่คุณสุณัยว่า ยิ่งฟังแบบนี้โจทย์ยิ่งยากขึ้นไป มันจำเป็นแล้วครับ ที่เราต้องมาร่วมกัน ไม่ใช่ว่าพาสื่อไปให้เห็นคล้องกันกับผม หรือเห็นคล้องกับฝ่ายการมั่นคง ไม่จำเป็นครับ เราคุยกันได้ หารือกันแล้วว่ากันไปตามนั้นใครมีหน้าที่อะไรก็ทำ แต่อย่างน้อยๆ การพูดคุยกันและรับฟังการอธิบาย ผมเชื่อว่ามันมองเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ เมื่อผมทำงานใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้อิศราช่วย ได้คุณอังคณาช่วย บางทีผมโทรถามไปเจอคุณสุณัย เราก็ถามพี่เป็นอย่างไร ผมก็พยายามอธิบายสิ่งเหล่านั้นทำให้ผมได้เปิดความคิดเปิดสมองเปิดโลกให้กว้างขึ้นที่จะเห็นปัญหา ผมเชื่อมั่นว่าจากสิ่งที่เราทำงาน มันแคบเราถูกอยู่ในกรอบพอเราอออกสู่ข้างนอกแล้วฟังจากพี่ ๆ เขามา เหมือนอย่างที่คุณมนตรีว่า ผมไม่สามารถสิ่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปถามพ่อแม่เขาได้ แต่เราก็อาศัยน้อง ๆ สื่อ พี่ปกรณ์ ไปถามคนโน้นคนนี้ แล้วเราก็เอามาประมวลกัน มันก็จะเกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเราต่างคนต่าง ผมมีข้อมูลก็ไม่พูด สื่อมีข้อมูลก็ไม่พูดพอออกมาในรูปสื่อ ก็เอาไปถามผู้บัญชาการทหารบก วันไหนที่ท่านอารมณ์ดีก็ตอบดี วันไหนที่ท่านมีเรื่องอื่นมาในใจ ก็กลายเป็นประเด็นอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ช่วยในการแก้ปัญหา โจทย์ยากนะครับ
ผมก็เห็นด้วยกับคุณก่อเขตที่ว่า เราเอากรณีบาเจาะเป็นจุดตั้งหลักของเรา เรามาร่วมกันตั้งหลักให้ดีๆ ได้ไหม เอาคำพูดของพี่ปกรณ์ ว่าเรามาช่วยกันปลดเงื่อนไขในใจออกได้ไหม? เอาในสิ่งที่พี่อังพูด สิ่งที่อยู่ในใจแล้วช่วยกันแก้แล้วเดินหน้าไป ร่วมกันสร้างแนวกันไฟไม่ให้มันลามต่อไป ไฟนี้มันยังจะลุกต่อมันยังจะไปต่อ ถ้าไม่ร่วมกันสร้างแนวกันไฟที่ดีแล้ว ไม่ว่าผมหรือพวกท่านที่อยู่ที่นี่เราก็ไม่มีความสุข สิ่งที่สำคัญที่สุดชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ที่จะรับผลกระทบ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรม
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ขอถามนิดหนึ่งนะครับ พ.อ. ปริญญา ในแง่มุมของญาติของทหารเอง เขารู้สึกอย่างไรกัน ?หรือเขามีเงื่อนไขของเขาหรือเปล่า? เขาก็คับแค้นของเขาไหมแล้วมันจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์?
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก : คือสิ่งเหล่านี้ อย่างที่ผมเรียนนะครับว่า เมื่อคุณยอมรับที่จะแต่งงานกับทหาร สิ่งหนึ่งคุณต้องทำใจแล้วว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นคุณก็ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าญาติ ๆ ของทหาร หรือตำรวจ เวลาเราไปสัมภาษณ์ เขาจะบอกว่ายินดีที่ได้เสียสละเพื่อประเทศแต่ในใจแล้ว แน่นอนครับ มนุษย์ก็เท่าๆ กันหมดว่า สามีตายลูกตาย อย่างไรก็มีความรู้สึก ด้วยสิ่งที่เขายอมรับในกติกาตรงนั้นว่า เรามาอยู่อย่างนี้แล้วมันก็ต้องยอมรับตรงนั้น แต่สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว เราจะทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ปากเขาบอกภูมิใจที่ลูกเขาได้เสียสละแต่ความรู้สึกเขาในใจเขาเสียใจ แต่ที่สะท้อนเหมือนกันคือ พอได้ไหมให้ชีวิตลูกชายเขาเป็นศพสุดท้ายได้ไหมนี่คือส่วนของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของผู้บริสุทธิ์เขาจะตอบมาอย่างไร เขาไปขายผลไม้ แล้วมาถูกมัดมือยิง มันถึงเวลาแล้วที่ผมคิดว่าเราจะต้องช่วยกัน
สถียร วิริยะพรรณพงศา : ขอบคุณ พ.อ. ปริญญาในแง่มุม ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นจะแลกเปลี่ยนอะไรอย่างไรเชิญได้นะครับ
มนตรี อุดมพงษ์ : ผมขอนิดเดียว อย่างที่คุณก่อเขตพูดว่า ทุกวันนี้เราต้องตั้งหลักหาโจทย์ว่า คุณจะนำเสนอข่าวเพื่อวัตถุประสงค์อย่างไร? เช่น เพื่อจะลดทอนความรุนแรงลง สิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นในมุมมองของสื่อไม่ว่าจะเป็นทีวี หรือหนังสือพิมพ์ก็คือว่า เราไม่ค่อยได้เคลียร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วผ่านไปแล้ว ให้มันชัดมากๆ ให้เห็นชัดๆไปเลยว่า กรณีนี้เรื่องส่วนตัวหรือไม่ อาชญากรรมหรือไม่ ความมั่นคงหรือไม่ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ 3 จังหวัดนั้นไม่เคยยิงกันตาย ทุกคดีเป็นคดีความมั่นคงหมด ประเด็นที่ 2 นักการเมืองท้องถิ่นที่ฆ่ากันมันเป็นปมให้คดีความรุนแรงยังมีอยู่ 3 เรื่องของการเยียวยา ไม่มีใครญาติถูกฆ่าตาย เพราะไปขยับเขตหมุดที่ดินจนทะเลาะ ทุกคนมักจะบอกว่าถูกโจรฆ่าเพื่อหวังเงินเยียวยา มันยังเคลียร์ไม่ได้เพราะเกิดว่าถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเขาจะไม่รับเงินเยียวยา แล้วผมถามว่าคุณไม่โกรธแค้นหรือเพียงเพราะขยับเขตหมุดเขตแดนแล้วทะเลาะกัน ไม่เป็นไรอันนี้เคลียร์กันส่วนตัว เขาคิดอย่างนี้ไงครับ เขาต้องการเงินจากรัฐก่อนแล้วที่เหลือไปเคลียร์กันเองแล้วก็ไม่เกี่ยวว่าฝ่ายนั้นถูกฝ่ายนี้ฆ่า เกิดอีก 1 คดีความมั่นคงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้มันจึงซับซ้อนมากยิ่งขึ้นแล้วพนักงานสอบสวนทำคดีไหม พนักงานสอบสวนไปเก็บคดียาก ลำพังโรงพักยังถูกถล่ม แล้วจะให้เดินไปเก็บข้อมูลได้อย่างไร เพราะนั้นจึงลงบันทึกว่าคดีความมั่นคงมั่นไม่มีการเคลียร์ พอไม่เคลียร์เราก็สืบยาก ข่าวสืบสวนสอบสวนแทบจะใช้ไม่ได้เลย นี่คือปมที่นักข่าวต้องคิดนะครับ ถ้านี่ประเทศไทยแต่ข่าวสืบสวนสอบสวนไม่สามารถใช้ได้หมด ถ้ามั่นเคลียร์ได้ ผมรู้ว่ามันเป็นปัญหาอยู่เพียงแต่สะท้อนมุมมองครับ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : อะไรมันเป็นสิ่งที่นักข่าวไม่ทำ เพราะความกลัว หรืออคติ?
มนตรี อุดมพงษ์ : ความกลัวมันเป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งนักข่าวทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้กระทั่งไม่ลงไปสืบคดีแต่ว่าแม้กระทั่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง ก็ไม่ให้ความร่วมมือเพราะมีประโยชน์อื่นเข้ามา จึงให้ทำได้ยาก แม้กระทั่งข้าราชการฝ่ายพลเรือนก็ เป็นประเด็นว่าตกลงนี่คือเรื่องส่วนตัวไหม? พอมันเป็นส่วนตัวคนวงในเขารู้กัน ไม่ใช่ฝีมือเขา คนก่อเหตุก็รู้กันอยู่ว่า ไม่ใช่ฝีมือเขา
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : นอกจากนักข่าวไม่ได้เจาะลงไป ตำรวจก็ไม่ได้ทำคดีใช่ไหมครับ?
มนตรี อุดมพงษ์ : รวมกันเลย มันก็ซับซ้อนกันอยู่ ไม่ได้ยกความผิดให้ใครแต่ว่าเพียงแต่เล่าปัญหาให้ฟังว่า ใครสักคนจะดึงปมเหล่านี้ออกมา
อังคณา นีละไพจิตร : เสริมคุณมนตรีพูดสักนิด คือเรื่องผลประโยชน์มันไม่ทำให้เหตุการณ์ดูร้ายไปมากขึ้นในฐานะที่เคยเป็นคณะกรรมการ มันมีแรงกดดันมาก ที่จะทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องความมั่นคง หมายถึง 7.5 ล้าน 4 ล้าน 8 แสน หรือ 5 แสน เรื่องแบบนี้เหยื่อเองก็รู้ทั้งรู้แต่ไม่พูด ตำรวจเองก็รู้ว่าพอเป็นคดีความมั่นคงแล้วก็ไม่ต้องไปหาว่าใครผิด ยกให้กลุ่มไหน กลุ่มไหนรับไป มีหลายคดีที่ถูกยกฟ้องไปถามตำรวจว่าคดีไปถึงไหน ตำรวจบอกไม่รู้เรื่องแล้วเพราะส่งเข้ากระบวนการแล้ว เมื่อยกฟ้องไปแล้วน่าจะมีหน่วยงานมาดูว่า 70-80 % ที่ยกฟ้อง ศาลจะชี้เลยว่าเพราะอะไรศาลจึงยกฟ้อง เพราะอะไรศาลจึงสงสัย ทำให้เราตอบโจทย์วิเคราะห์เป็นแนวทางปิดช่องว่างให้หมด ซึ่งหมายถึงเหยื่อ 70-80% ที่ถูกกระทำถ้ายกฟ้องแล้วยังไง แล้วสุดท้ายใครผิด การจะแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้มันจะปฏิเสธไม่ได้เลยที่เราจะต้องมาจัดการกับกระบวนการยุติธรรมด้วย
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : ความซับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังที่สังคมไม่ได้รู้?
สุณัย ผาสุก : ผมมองว่าในส่วนการมีทางเลือกเยอะขึ้น มีหลายเจ้าที่ทำข่าวทางภาคใต้ บนเวทีนี้ก็มีหลายท่านเลย ช่อง 3 ThaiPBS ยุคหนึ่งที่เป็นสื่อพลเมืองแต่ละด้านก็มีปมของตัวเอง มีประเด็นในใจของตัวเอง มีความโกรธแค้นชิงชัง คงต้องหาวิธีคิดกันว่า กรณีของสื่อพลเมืองเราจะพุดคุยกับเขาอย่างไร อาจจะเน้นเจาะตรงสื่อออนไลน์เป็นพิเศษ ผมว่ามันจะน่าสนใจ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : พอดีพูดถึงสื่อพลเมืองนะครับ คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ซึ่งเขาทำข่าวพลเมือง อยู่ที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส น่าจะมีมุมมองที่น่าสนใจ เชิญครับ
สมเกียรติ: คือเจ้าหน้าที่ฟังแล้วสัมภาษณ์ ภาพความจริงมันเยอะมากมันมั่วไปหมดเลย สะท้อนว่าเราเองที่เป็นสื่อความจริงพวกนี้มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร พอมันเข้าสู่กระแสสังคมมันไปเลยถามว่าจะปิดกันได้ไหม ได้แต่คนจะคาดหวังที่จะได้ความจริงจากสื่อ
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : สื่อพลเมือง มันมีการต่อสู้ช่วงชิงวาทกรรมหรือว่ามุมมองของแต่ละเจ้ามันเข้มข้นขนาดไหน?
สมเกียรติ: เรายังไม่เข้าใจ เราอยู่คนละคลื่นความถี่ ต่อให้เราเห็นก็ไม่รู้มันคืออะไร การใช้สื่อในการสร้างพื้นที่ สร้างสังคม วิธีการในการจัดการปัญหา ไม่ใช่แค่ 2 ปี
เสถียร วิริยะพรรณพงศา : เราเห็นข่าวหลายๆ ข่าวถูกลำเลียงจากพื้นที่แล้วมันประเด็นอยู่ ครับ ครบถ้วนนะครับ ถ้าไม่มีใครสงสัยอะไรแล้วผมขอจบเสวนาขอบคุณทุกท่านครับที่สละเวลามาร่วมคุย
—————#จบเวทีเสวนา มองไฟใต้…มองสื่อมองสื่อในการเสนอข่าวกรณีบาเจาะ———————-