องค์กรสื่อยื่นหนังสือถึงพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ให้เลื่อนกรอบการยื่นขอและออกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิตัลเพื่อสาธารณะ 12 ช่อง
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)และ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เพื่อขอให้พิจารณาเลื่อนกรอบระยะเวลาในกระบวนการยื่นขอ/ออกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อสาธารณะ 12 ช่อง ออกไปก่อน และขอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนก่อนออกใบอนุญาต เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานีโทรทัศน์สาธารณะเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง
รายละเอียดหนังสือ ดังนี้
20 กุมภาพันธ์ 2556
เรื่อง ขอให้พิจารณาเลื่อนกรอบระยะเวลาในกระบวนการยื่นขอ/ออกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อสาธารณะ 12 ช่อง ออกไปก่อน และขอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนก่อนออกใบอนุญาต เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานีโทรทัศน์สาธารณะเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง
เรียน พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะเปิดให้มีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยวิธี Beauty Contest ในเดือนมีนาคม และจะพิจารณาออกใบอนุญาตในเดือนพฤษภาคม 2556 นั้น การกำหนดวิธีการยื่นขอใบอนุญาตด้วยวิธี Beauty Contest ขณะนี้สังคมยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในเรื่องรายละเอียด หลักเกณฑ์ กรอบการพิจารณาในคุณสมบัติของผู้ยื่นขอและผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตด้วยวิธี Beauty Contest
โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้านและทั่วถึง เพื่อนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างรอบคอบในการให้ใบอนุญาต ทั้งๆ ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อบริการสาธารณะถึง 12 ช่อง จึงทำให้มีนักวิชาการ องค์กรสื่อและภาคประชาชน ออกมาตั้งคำถามถึงกระบวนการในการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตโทรทัศน์สาธารณะดิจิทัล 12 ช่อง ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือไม่
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาเลื่อนกรอบระยะเวลาในการยื่นขอ/ออกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะทั้ง 12 ช่อง ทั้ง 3 ประเภท ออกไปก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเพียงพอ โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของการเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะอย่างแท้จริง และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็น ข้อเสนอ และข้อเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การออกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์สาธารณะดิจิทัล 12 ช่อง มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อและการจัดสรรคลื่นความถี่ที่โปร่งใสและเป็นธรรมต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์)(นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์)
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย