ผลการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยครั้งที่ 8 ”สุสานเต่า” มธบ. คว้าดีเด่นสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์

logotbjanewweb

ผลการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยครั้งที่ 8 ”สุสานเต่า” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คว้าดีเด่นสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ “โรงเรียนในจังหวัดพะเยากับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน” จากมหาวิทยาลัยพะเยา ดีเด่นคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง

วันนี้ (8 ธ.ค.2555) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานประกาศผลรางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2555 เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการผลิตรายการ และเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นช่องทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหลังจากจบการศึกษาต่อไป

141x200-images-stories-Media-frontcoversaifahnoi8_2555

 
ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 65 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง 24 เรื่อง จากทั้งหมด 9 สถาบันการศึกษา มีผลงานที่เข้ารอบ 5 เรื่อง ดังนี้ เรื่อง”โรฮิงญา คนไร้ชาติ” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง “ตันตระ” ตรรกะของคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง”นมแม่ แก้แพ้นมวัว” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง”กิจของสงฆ์กับการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง” จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเรื่อง”แคนตาลูปไร้เมล็ด ภัยร้ายจากเกษตรพันธะสัญญา” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยมี 2 รางวัล คือ เรื่อง”โรฮิงญา คนไร้ชาติ” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ เรื่อง “ตันตระ” ตรรกะของคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 5, 000 บาท ซึ่งในปีนี้ไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่นสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง

สำหรับปีนี้มีรางวัลประเภทคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียงเพิ่มเติม โดยมีผลงานคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง ส่งเข้าประกวดจำนวน 10 เรื่อง จาก 4 สถาบันการศึกษา ผ่านเข้ารอบ 4 เรื่อง ดังนี้ เรื่อง”โรงเรียนในจังหวัดพะเยากับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน” จากมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง”แนวทางการจัดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน สปก. หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา” จากมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง”แซนโฏนตา ไหว้ปู่ย่าเมืองเขมร” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเรื่อง”วาระสุดท้าย เรือนไม้อัมพวา” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยมี 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย อันดับ 1 เรื่อง”แนวทางการจัดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน สปก. หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา” จากมหาวิทยาลัยพะเยา รางวัลชมเชย อันดับ 2 มี 2 รางวัล คือ เรื่อง”แซนโฏนตา ไหว้ปู่ย่าเมืองเขมร” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเรื่อง”วาระสุดท้าย เรือนไม้อัมพวา” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 3,000 บาท ผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น คือ เรื่อง”โรงเรียนในจังหวัดพะเยากับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน” จากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 10,000 บาท

ส่วนผลงานสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์มีผลงานส่งเข้าประกวด 31 เรื่อง จาก 15 สถาบันการศึกษา ผ่านเข้ารอบ 5 เรื่อง ดังนี้ เรื่อง”สุสานเต่า” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง”นาฏยนารีโขน” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง”เมื่ออาตมาอาพาธ” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง”จุดเปลี่ยน..อัมพวา” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเรื่อง”ภัยที่มองข้าม” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย 4 รางวัล คือ เรื่อง”นาฏยนารีโขน” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง”เมื่ออาตมาอาพาธ” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง”จุดเปลี่ยน…อัมพวา” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเรื่อง”ภัยที่มองข้าม” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 12,000 บาท ผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น คือ เรื่อง”สุสานเต่า” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลๆ ละ 25,000 บาท

สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลทั้ง 3 ประเภท โดยประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุ คือ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่องผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน นางอำมร บรรจง ผู้จัดการส่วนผลิตรายการ FM 96.5 MHz นายเดชา รินทพล โปรดิวเซอร์ สถานีวิทยุครอบครัวข่าว FM.106 Mhz. นายจักรกฤษณ์ ทรัพย์พึ่ง ผู้ช่วยผู้จัดการ สถานีจราจรเพื่อสังคม 99.5 และอุปนายกฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นางสาววรัตมา บุนนาค ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก และเหรัญญิก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

คณะกรรมการตัดสินประเภท “คลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง” คือ นายปฏิวัติ วสิกชาติ บรรณาธิการข่าว สถานีข่าว TNN 24 นางสาวอศินา พรวศิน ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย นายเสาวศักดิ์ ภูธรารักษ์ โปรดิวเซอร์ MCOT นายภูมิพัฒน์ บุญเลี้ยง ผู้ช่วยบรรณาธิการดูแลนักข่าวพลเมือง กลุ่มข่าววาระทางสังคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

คณะกรรมการตัดสินประเภท “สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์” คือ นายพิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายจักรพันธุ์ กมุทโยธิน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารด้านบทข่าวและฝึกอบรม บมจ. ทรูวิชั่นส์ นางสาวอรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ บรรณาธิการสารคดีเชิงข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล และอุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้จัดให้มีการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของนิสิตนักศึกษา หลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษาก่อนเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งยังประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยสมาคมฯ ได้สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินรางวัลไว้ดังนี้ ด้านคุณภาพ(Quality) คุณค่า(Value) ผลงาน(Performance) และจรรยาบรรณ(Code of Ethics)

แท็ก คำค้นหา